- ข้อมูลเศรษฐกิจการเกษตร
- ภาวะการเศรษฐกิจสังคมครัวเรือนและแรงงานเกษตร
การสำรวจภาวะเศรษฐกิจสังคมครัวเรือนและแรงงานเกษตร เป็นการจัดทำข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับสถานภาพทางเศรษฐกิจของเกษตรกร โดยเฉพาะข้อมูลเรื่อง รายได้-รายจ่ายเงินสดของครัวเรือนเกษตร ทั้งที่เกี่ยวข้องกับการเกษตร และกิจกรรมนอกการเกษตร ซึ่งข้อมูลรายได้เงินสดเกษตร ได้ใช้เป็นตัวชี้วัดผลการดำเนินงานตามมาตรการและนโยบายของรัฐบาลผ่านกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตามคำรับรองการปฏิบัติราชการ
ทั้งนี้รายได้-รายจ่ายเงินสดที่ใช้ในชีวิตประจำวันของเกษตรกร เป็นข้อมูลที่สะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพเศรษฐกิจของประเทศในช่วงเวลานั้น เนื่องจากอาชีพเกษตรกรรมยังคงมีบทบาทสำคัญของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในภาพรวมของไทย นอกจากนี้ข้อมูลที่จัดทำยังรวมถึงข้อมูลสำคัญอื่น เช่น การถือครองและการใช้ประโยชน์ที่ดินของเกษตรกร ข้อมูลด้านสถานภาพหนี้สินและทรัพย์สินของครัวเรือนเกษตร ข้อมูลสถานภาพทั่วไปของสมาชิกภายในครัวเรือนและแรงงานเกษตร ซึ่งข้อมูลทุกเรื่องมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งเพราะสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างกว้างขวางและครอบคลุม โดยที่ผ่านมามีหน่วยงานทั้งจากภาครัฐและเอกชน นิสิต นักศึกษา นักวิจัย ตลอดจนผู้ใช้ข้อมูลทั่วไป นำข้อมูลจากโครงการสำรวจภาวะเศรษฐกิจ สังคมครัวเรือนและแรงงานเกษตร ไปใช้ให้เกิดประโยชน์มากมาย ก่อให้เกิดความร่วมมือระหว่างหน่วยงานในการจัดเก็บข้อมูล เพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์ในเรื่องเฉพาะ เช่น การจัดทำข้อมูล ภาวะเศรษฐกิจสังคมครัวเรือนของเกษตรกรที่ทำนา เป็นต้น
ภาวะความยากจนของครัวเรือนเกษตร ปีเพาะปลูก 2556/57
การศึกษาวิจัยครั้งนี้เป็นการศึกษาภาวะความยากจน รวมทั้งศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อความยากจนของครัวเรือนเกษตร เพื่อทดสอบความสัมพันธ์ของความยากจนกับตัวแปรทางเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนเกษตร แนวทางการวิเคราะห์ปัจจัยที่ทางด้านเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนเกษตรจำเป็นต้องคัดเลือกตัวแปรทางด้านเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนเกษตร เพื่อให้สมการสามารถคาดการณ์ตัวแปรที่สนใจได้ ดังนั้นจึงได้มีระเบียบและวิธีวิจัยที่สำคัญคือ
1) การศึกษาความยากจนจะใช้ สัดส่วนความยากจน (Headcount index) ช่องว่างความยากจน (Poverty Gap index) และความรุนแรงของความยากจน (Squared Poverty Gap index) ซึ่งเป็นการวัดความยากจนที่พิจารณาให้ความสำคัญกับกลุ่มคนจนที่มีปัญหาความยากจนรุนแรงหรือมีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจนมาก ๆ โดยมีการถ่วงน้ำหนักของค่าความแตกต่างของรายได้ของกลุ่มคนที่ยากจนที่แตกต่างไปจากระดับเส้นความยากจน
2) การวิเคราะห์โดยใช้แบบจำลองโลจิสติก (Logistic Model) หลักการของการวิเคราะห์ความถดถอยแบบพหุคูณ ตัวแปรตามจะเป็นตัวแปรเชิงปริมาณในขณะที่ตัวแปรอิสระจะเป็นตัวแปรเชิงปริมาณเพียงอย่างเดียว หรืออาจมีตัวแปรบางตัวที่เป็นตัวแปรเชิงปริมาณและตัวแปรบางตัวเป็นตัวแปรเชิงกลุ่มหรือเชิงคุณภาพ แต่ถ้าตัวแปรตามเป็นตัวแปรเชิงกลุ่มหรือเชิงคุณภาพแล้ว จำเป็นต้องเปลี่ยนเครื่องมือในการวิเคราะห์ โดยใช้เทคนิคการวิเคราะห์การถดถอยโลจิสติก ซึ่งยังคงมีวัตถุประสงค์และแนวคิดเหมือนกับการวิเคราะห์การถดถอยเชิงเส้น คือ เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรตามและตัวแปรอิสระ และนำสมการที่ได้ไปประมาณหรือพยากรณ์ตัวแปรตาม เมื่อกำหนดค่าตัวแปรอิสระ แบบจำลองโลจิสติก แบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ Binary Logistic จะใช้เมื่อตัวแปรตามเป็นตัวแปรเชิงกลุ่มที่มีค่าได้เพียง 2 ค่า เท่านั้น (มีค่า 0 หรือ 1) และ Multinomial Logistic จะใช้เมื่อตัวแปรตามเป็นตัวแปรเชิงกลุ่มที่มีค่ามากกว่า 2 ค่า
ผลการวิเคราะห์ภาวะความยากจนของครัวเรือนเกษตร ปีเพาะปลูก 2556/57 สรุปได้ดังนี้
ครัวเรือนมีรายได้เฉลี่ย 88,402 บาทต่อคนต่อปี ครัวเรือนที่ไม่ยากจนมีรายได้เฉลี่ย 113,338 บาทต่อคนต่อปี ในขณะที่ครัวเรือนที่ยากจนมีรายได้เฉลี่ย 18,417 บาทต่อคนต่อปี ครัวเรือนที่อาศัยอยู่ในภาคใต้ มีรายได้เฉลี่ยมากที่สุดคือ 130,183 บาทต่อคนต่อปี ครัวเรือนที่อาศัยอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีรายได้เฉลี่ยน้อยที่สุด 59,546 บาทต่อคนต่อปี ครัวเรือนที่ไม่ยากจนที่อาศัยอยู่ในภาคใต้ มีรายได้เฉลี่ยสูงสุดคือ 141,696 บาทต่อคนต่อปี และครัวเรือนที่ยากจนที่อาศัยอยู่ในภาคเหนือ มีรายได้เฉลี่ยต่ำสุดคือ 17,207 บาทต่อคนต่อปี
ครัวเรือนมีรายจ่ายเฉลี่ย 165,461 บาทต่อครัวเรือนต่อปี โดยครัวเรือนที่ไม่ยากจนมีรายจ่ายสูงสุด 188,509 บาทต่อครัวเรือนต่อปี ในขณะที่ครัวเรือนที่ยากจนมีรายจ่ายเฉลี่ย 100,773 บาทต่อครัวเรือนต่อปี ครัวเรือนที่อาศัยอยู่ในภาคใต้มีรายจ่ายเฉลี่ยสูงสุด คือ 256,326 บาทต่อครัวเรือนต่อปี ส่วนครัวเรือนที่อาศัยอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีรายจ่ายเฉลี่ยต่ำสุด 121,884 บาทต่อครัวเรือนต่อปี ครัวเรือนที่ไม่ยากจนที่อาศัยอยู่ในภาคใต้มีรายจ่ายเฉลี่ยสูงสุด 268,592 บาทต่อครัวเรือนต่อปี ครัวเรือนที่ยากจนที่อาศัยอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีรายจ่ายเฉลี่ยต่ำสุด 81,615 บาทต่อครัวเรือนต่อปี
ครัวเรือนมีหนี้สินเฉลี่ย 212,586 บาทต่อครัวเรือนต่อปี โดยครัวเรือนที่ไม่ยากจนที่มีหนี้สิน 234,504 บาทต่อครัวเรือนต่อปี และครัวเรือนที่ยากจนมีหนี้ 151,073 บาทต่อครัวเรือนต่อปี ครัวเรือนที่อาศัยอยู่ในภาคเหนือ มีหนี้สินเฉลี่ยสูงสุด คือ 278,538 บาทต่อครัวเรือนต่อปี ส่วนครัวเรือนที่อาศัยอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีหนี้สินต่ำสุด 167,256 บาทต่อครัวเรือนต่อปี ครัวเรือนที่ไม่ยากจนที่อาศัยอยู่ในภาคเหนือ มีหนี้สินเฉลี่ยสูงสุด 303,700 บาทต่อครัวเรือนต่อปี ส่วนครัวเรือนที่ยากจนที่อาศัยอยู่ในภาคใต้ มีหนี้สินต่ำสุด 102,189 บาทต่อครัวเรือนต่อปี
ครัวเรือนเกษตรภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีสัดส่วนครัวเรือนที่ยากจนมากที่สุดคือร้อยละ 37.27 ของครัวเรือนเกษตรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รองลงมาคือ ครัวเรือนในภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้ ซึ่งมีสัดส่วนของครัวเรือนที่ยากจนร้อยละ 26.09 13.86 และ 9.57 ของครัวเรือนเกษตรในแต่ละภาค ตามลำดับ โดยสัดส่วนของครัวเรือนที่ยากจนเท่ากับร้อยละ 26.27
ครัวเรือนเกษตรที่มีภาวะความยากจนหรือความรุนแรงของความยากจนมากที่สุด คือ ครัวเรือนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รองลงมาคือครัวเรือนภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้ ตามลำดับ ครัวเรือนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีส่วนแบ่งความยากจนสูงที่สุด คือร้อยละ 55.99 ของภาวะความยากจนทั้งหมด รองลงมาคือ ภาคเหนือ มีส่วนแบ่งภาวะความยากจนร้อยละ 27.37 ภาคกลางมีส่วนแบ่งภาวะความยากจนร้อยละ 14.30 และภาคใต้มีส่วนแบ่งภาวะความยากจนร้อยละ 2.34
จากผลการวิเคราะห์ พบว่า ปัจจัยที่มีผลต่อความยากจนของครัวเรือนเกษตร มีจำนวน 9 ตัวแปร ได้แก่ ปัจจัย ภาค เขตชลประทาน อายุของหัวหน้าครัวเรือน ระดับการศึกษาของหัวหน้าครัวเรือน จำนวนสมาชิกในครัวเรือน อัตราการเป็นภาระ พื้นที่ทำการเกษตร ทรัพย์สินสุทธิของครัวเรือน และจำนวนหนี้สินของครัวเรือน
ระดับความยากจนมีความสัมพันธ์กับระดับการศึกษาของหัวหน้าครัวเรือน โดยผู้ที่อยู่ในกลุ่มยากจนส่วนใหญ่มีการศึกษาต่ำกว่าผู้ที่อยู่ในกลุ่มไม่ยากจนโดยรวม จากข้อค้นพบดังกล่าว ดังนั้นควรให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาความยากจนอย่างจริงจังโดยการส่งเสริม สนับสนุน และขยายโอกาสทางด้านศึกษาให้กับหัวหน้าครัวเรือนและสมาชิกของครัวเรือนเกษตร เข้าถึงการศึกษาระดับอุดมศึกษาในสาขาที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน ด้วยการให้ทุนการศึกษาและสนับสนุนกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา หรือการพัฒนาระบบการศึกษาในชนบทเพื่อให้เป็นศูนย์กลางในการเรียนรู้ของชุมชน เพื่อให้เกิดการพัฒนาแรงงานของครัวเรือนเกษตรให้มีความสามารถที่สูงขึ้น ซึ่งจะเป็นการสร้างโอกาสในการพัฒนาอาชีพและสร้างรายได้ ตลอดจนช่วยลดความยากจนของครัวเรือนเกษตร
ครัวเรือนเกษตรที่อาศัยอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือมีโอกาสที่จะยากจนมากที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับครัวเรือนที่อาศัยอยู่ในภาคอื่น ดังนั้นภาครัฐควรให้ความสำคัญและเน้นการแก้ไขปัญหาความยากจนของครัวเรือนเกษตร ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือเป็นอันดับแรก
การเสริมสร้างกิจกรรมการการผลิตนอกการเกษตรของครัวเรือนควบคู่ไปกับกิจกรรมการเกษตรจะเป็นแหล่งรายได้เสริมของครัวเรือเกษตร กิจกรรมดังกล่าวควรเน้นให้อยู่ในรูปของการรวมกลุ่มหรือรูปสหกรณ์เพื่อสะดวกต่อการถ่ายทอดเทคโนโลยี การจัดการด้านตลาด และควรส่งเสริมกิจกรรมที่มีความสอดคล้องกับทรัพยากรในท้องถิ่น
ควรส่งเสริมและให้ความรู้ความเข้าใจเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงในกลุ่มครัวเรือนเกษตรที่ยากจน เพื่อนำไปปฏิบัติอย่างจริงจัง เนื่องจากเศรษฐกิจพอเพียงเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาความยากจนที่มีความเหมาะสมกับสภาพของครัวเรือนเกษตรของไทยมากที่สุด เป็นกิจกรรมการผลิตที่ให้ความสำคัญต่อการพึ่งพาตนเอง ลดการพึ่งพาตลาด และเป็นการส่งเสริมการบริโภคผลผลิตของครัวเรือน ซึ่งเป็นการลดค่าใช้จ่ายให้กับครัวเรือนที่ดีที่สุด
การพัฒนาระบบฐานข้อมูลระดับบุคคลที่บ่งชี้ลักษณะของบุคคล และฐานะทางเศรษฐกิจสังคม สามารถนำมาใช้ระบุกลุ่มเป้าหมายผู้มีรายได้น้อย ผู้ด้อยโอกาสในสังคม และกลุ่มอื่น สำหรับการขับเคลื่อนนโยบายแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำในสังคมที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อกลุ่มเป้าหมายอย่างแท้จริง และทำให้การใช้จ่ายงบประมาณเกิดประสิทธิภาพสูงสุด
แก้ไขข้อมูลล่าสุด 3 มีนาคม 2566
ชื่อผู้ติดต่อ : ส่วนสารสนเทศเศรษฐกิจการเกษตร/ส่วนวิจัยเศรษฐกิจสังคมครัวเรือนและสถาบันเกษตรกรอีเมล์ผู้ติดต่อ : cai-econ@oae.go.th
เบอร์ติดต่อ : 02-9406640, 02-5792982, 02-5797564
สิทธิ์ในการเข้าถึงข้อมูล : Public
ความถี่ในการปรับปรุง : ทุกปี
แหล่งที่มาของข้อมูล : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร