สศก. ผนึก มมส. MOU ความร่วมมือทางวิชาการ บูรณาการฐานข้อมูลเศรษฐกิจการเกษตร เสริมสร้างนักวิชาการ พัฒนางานวิจัยและนวัตกรรมภาคเกษตรไทย

ข่าวที่ 14/2568 วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2568
สศก. ผนึก มมส. MOU ความร่วมมือทางวิชาการ บูรณาการฐานข้อมูลเศรษฐกิจการเกษตร
เสริมสร้างนักวิชาการ พัฒนางานวิจัยและนวัตกรรมภาคเกษตรไทย
        นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานในพิธีลงนามความร่วมมือทางวิชาการร่วมกัน (MOU) ระหว่างสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กับมหาวิทยาลัยมหาสารคาม (มมส.) โดยรองศาสตราจารย์ ดร. ประยุกต์ ศรีวิไล ผู้รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ร่วมลงนามกับเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร และมี ดร.นพดล ศรีพันธุ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 4 ขอนแก่น กล่าวรายงานถึงวัตถุประสงค์ เพื่อบูรณาการฐานข้อมูลเศรษฐกิจการเกษตร และเสริมสร้างความเข้มแข็งและประสิทธิภาพเจ้าหน้าที่และนักวิชาการของทั้งสองหน่วยงาน ในการศึกษาวิเคราะห์และวิจัย ที่จะนำไปสู่การวางแผน และกำหนดทิศทางการพัฒนาการเกษตรของไทย
           ความร่วมมือครั้งนี้ มุ่งพัฒนาศักยภาพทางวิชาการเพื่อยกระดับเศรษฐกิจการเกษตรของไทย ซึ่ง สศก. มีบทบาทสำคัญในการกำหนดนโยบายและแผนยุทธศาสตร์ด้านเศรษฐกิจการเกษตร ตลอดจนการพัฒนาและบริหารจัดการข้อมูลสารสนเทศที่เกี่ยวข้องกับภาคการเกษตร การวิจัย การวิเคราะห์สถานการณ์ต่างๆ เพื่อสนับสนุนการตัดสินใจเชิงนโยบายของประเทศ นอกจากนี้ สศก. ยังมุ่งเน้นการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ อาทิ ปัญญาประดิษฐ์ (AI) และ Big Data การวิเคราะห์ข้อมูลขั้นสูงมาประยุกต์ใช้เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการพัฒนาภาคการเกษตรของประเทศ
            ในขณะที่ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เป็นสถาบันการศึกษาชั้นนำที่มีพันธกิจในการผลิตบัณฑิต การวิจัย และการให้บริการวิชาการที่เป็นเลิศ ซึ่งจะให้ช่วยสนับสนุนและให้การให้คำปรึกษา พัฒนาทักษะด้านวิชาการ รวมทั้งการพัฒนาและประยุกต์ใช้เครื่องมือเพื่อการวิเคราะห์ วิจัย และนวัตกรรมทางการเกษตรแก่นักวิชาการของ สศก. ได้เป็นอย่างมาก
            ทั้งสองหน่วยงาน มีเจตนารมณ์อันแน่วแน่ร่วมกัน ในการส่งเสริมความเข้มแข็งทางวิชาการ และการพัฒนาศักยภาพของบุคลากรของ ทั้งในด้านการวิเคราะห์ การวิจัย และการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย เช่น ปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI เพื่อยกระดับการพัฒนาภาคการเกษตรของไทยให้มีความเจริญก้าวหน้าทั้งในด้านการผลิต การตลาด และการเชื่อมโยงเครือข่ายข้อมูล ทั้งนี้ จะมีการจัดตั้งคณะกรรมการร่วมกัน เพื่อกำหนดแผนปฏิบัติงาน และจะประชุมหารือพร้อมติดตามความคืบหน้าของความร่วมมือกันอย่างต่อเนื่องเป็นระยะต่อไป
            “ความร่วมมือในครั้งนี้ เบื้องต้นกำหนดระยะเวลา 5 ปี ซึ่งเชื่อมั่นว่า จะช่วยสร้างโอกาสในการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระหว่างทั้งสองหน่วยงาน เสริมสร้างความเข้มแข็งในด้านการพัฒนาและการวิจัยทางการเกษตรการวิเคราะห์ข้อมูล การพัฒนานวัตกรรม และการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ ซึ่งไม่เพียงจะยกระดับประสิทธิภาพการทำงานของบุคลากรทั้งสองฝ่าย แต่ยังจะช่วยสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อชุมชนเกษตรกรและระบบเศรษฐกิจสร้างความก้าวหน้าและความมั่นคงให้กับภาคการเกษตรไทยร่วมกันอีกด้วย” เลขาธิการ สศก. กล่าว
***********************************************
ข่าว : ส่วนประชาสัมพันธ์
ข้อมูล : ศูนย์ข้อมูลเกษตรแห่งชาติ และ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 4 ขอนแก่น