เกษตรฯ พร้อมมาตรการรับมือสับปะรด ใส่เกียร์ยุทธศาสตร์ ระยะที่ 1 ปฏิรูปการผลิต

            กระทรวงเกษตรฯ พร้อมมาตรการแก้ปัญหาสับปะรด ร่วมขับเคลื่อนยุทธศาสตร์สับปะรดปี 60 - 69 เดินหน้าแนวทางการขับเคลื่อนตามยุทธศาสตร์ ระยะที่ 1 เจาะ 2 กลุ่มเป้าหมาย คือ จังหวัดที่อยู่ในรัศมีรอบกลุ่มโรงงาน และห่างไกลโรงงาน ด้าน สศก.         คาด การผลิตปี 61 เนื้อที่เก็บเกี่ยว และผลผลิตจะเพิ่มขึ้น เนื่องจาก ช่วงปี 58 – 59 ราคาอยู่ในเกณฑ์ดี เกษตรกรจึงขยายพื้นที่ปลูก
             นางอัญชนา ตราโช  รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงสถานการณ์การผลิตสับปะรดว่า ปัจจุบัน ไทยมีแหล่งปลูกสำคัญ ได้แก่ ประจวบคีรีขันธ์  ระยอง ราชบุรี ชลบุรี พิษณุโลก และเพชรบุรี โดยปี 2560 พบว่า เนื้อที่เก็บเกี่ยวรวมทั้งประเทศ  0.527 ล้านไร่ ผลผลิต 2.175 ล้านตัน  ผลผลิตต่อไร่ 4,129 กิโลกรัม  เพิ่มขึ้นจากปี 2559 ร้อยละ 6.68 ร้อยละ 7.94 และ ร้อยละ 1.15 ตามลำดับ เนื่องจาก ช่วงปี 2558 – 2559 ราคาอยู่ในเกณฑ์ดี เกษตรกรขยายพื้นที่ปลูกในพื้นที่รกร้าง โดยผลผลิตจะออกมากในช่วงเดือน มีนาคม – พฤษภาคม และช่วงตุลาคม – ธันวาคม  สำหรับช่วงตุลาคม – ธันวาคม 2560 มีผลผลิตประมาณ 0.655 ล้านตัน หรือร้อยละ 30.11 ของผลผลิตทั้งหมด เพิ่มขึ้นจาก 0.409 ล้านตัน ในช่วงเดียวกันของปี 2559 ร้อยละ 16.31
             ราคาที่เกษตรกรขายได้สับปะรดโรงงาน ปี 2560 อยู่ที่กิโลกรัมละ 4.95 บาท ลดลงจากกิโลกรัมละ 10.18 บาท ของปี 2559 ร้อยละ 51.37 โดย ณ  ธันวาคม กิโลกรัมละ 3.08 บาท ลดลงจากกิโลกรัมละ 3.15 บาท ของเดือนพฤศจิกายน ร้อยละ 2.22 และลดลงจากกิโลกรัมละ 8.84 บาท ของเดือนธันวาคม 2559 ร้อยละ 65.15
             ราคาที่เกษตรกรขายได้สับปะรดบริโภคสด ปี 2560 อยู่ที่กิโลกรัมละ 10.47 บาท ลดลงจากกิโลกรัมละ 13.45 บาท ของปี 2559 ร้อยละ 22.15 ซึ่ง ณ เดือนธันวาคม 2560 กิโลกรัมละ 8.02 บาท ลดลงจากกิโลกรัมละ 9.25 บาท ของเดือนพฤศจิกายน 2560 ร้อยละ 13.29 และลดลงจากกิโลกรัมละ 14.49 บาท ของเดือนธันวาคม 2559 ร้อยละ 44.65
ทั้งนี้ ราคาลดลงเนื่องจาก ช่วงปี 2558 -2559 ราคาสับปะรดอยู่ในเกณฑ์สูง ทำให้เกษตรกรมีการขยายพื้นที่ปลูกเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในจังหวัดที่ไม่มีโรงงานแปรรูปสับปะรดตั้งอยู่ ประกอบกับสับปะรดที่ปลูกในปี 2559เริ่มให้ผลผลิต ส่งผลให้ผลผลิตออกสู่ตลาดมาก รวมทั้งสภาพอากาศแปรปรวน ส่งผลให้คุณภาพผลผลิตไม่ตรงตาม ความต้องการของโรงงานแปรูปสับปะรด และผลจากราคาส่งออกที่มีแนวโน้มลดลง ซึ่งตัวแทนการค้า (Broker) คงระดับราคารับซื้อไว้
                อย่างไรก็ตาม รัฐบาลได้กำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาสับปะรด โดยคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 12 กันยายน 2560 เห็นชอบแนวทางการขับเคลื่อนตามยุทธศาสตร์สับปะรดปี 2560 - 2569 และการบริหารจัดการผลผลิตสับปะรดในช่วงปลายปี 2560 ดังนี้
                 แนวทางการบริหารจัดการผลผลิตสับปะรดในช่วงปลายปี 2560 คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาและแก้ไขปัญหาด้านการตลาดและการส่งออกสับปะรด โดยกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประสานผู้ประกอบการ ผ่านกลไกประชารัฐ เพื่อเชื่อมโยงการรับซื้อผลผลิตสับปะรดจากเกษตรกรกระจายไปยังพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ มีการส่งเสริมการส่งออกสับปะรดผลสดไปยังตลาดค้าชายแดน ผลักดันการจัดทำบันทึกข้อตกลง (MOU) ระหว่างเกษตรกรและโรงงานแปรรูปเพื่อรักษาเสถียรภาพราคา นอกจากนี้มีการติดตามสถานการณ์ช่วงเดือนมกราคม – กุมภาพันธ์ 2561
                  แนวทางการบริหารจัดการในช่วงผลผลิตออกสู่ตลาดมากช่วงที่ 1 ปี 2561 (มีนาคม – พฤษภาคม 2561) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดย สศก. จะร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์เพื่อเตรียมแนวทางและมาตรการรองรับต่อไป ซึ่งหากมองถึงสถานการณ์การผลิตสับปะรด ปี 2561 (ข้อมูล ณ ธันวาคม 2560) สศก. คาดว่าจะมีเนื้อที่เก็บเกี่ยว 0.581 ล้านไร่ ผลผลิต 2.462 ล้านตัน ผลผลิตต่อไร่ 4,233 กิโลกรัม  เพิ่มขึ้นจากปี 2560 ร้อยละ 10.43 ร้อยละ 13.22 และร้อยละ 2.52 ตามลำดับ เนื่องจาก ช่วงปี 2558 – 2559 ราคาอยู่ในเกณฑ์ดี เกษตรกรขยายพื้นที่ปลูกในพื้นที่ไม่เคยปลูกสับปะรดมาก่อน
 
รวมทั้งต้นสับปะรดปีแรกให้ผลผลิตเพิ่มขึ้นผลผลิตออกสู่ตลาดมากตั้งแต่เดือน มีนาคม โดยผลผลิตช่วง มีนาคม –พฤษภาคม 2560 ประมาณ 0.869 ล้านตัน (ร้อยละ 35.31 ของผลผลิตทั้งหมด) เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2560 ร้อยละ 9.30
          การบริหารจัดการระยะยาว จะขับเคลื่อนตามยุทธศาสตร์สับปะรดปี 2560 – 2569 ประกอบด้วย
         ด้านการผลิต โดยคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาและแก้ไขปัญหาด้านการผลิตสับปะรด มีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นหน่วยงานหลัก กำหนดพื้นที่เหมาะสมและกลุ่มเป้าหมายในการพัฒนาศักยภาพและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสับปะรดโรงงาน ภายใต้ Agri-Map โดยคลอบคลุม เกษตรกรที่มีพื้นที่ปลูกสับปะรดในรัศมีรอบโรงงาน 50 – 100 กม.  กลุ่มเกษตรกรแปลงใหญ่ และเกษตรกรที่เพาะปลูกในจังหวัดที่ไม่มีโรงงานแปรรูป โดยใช้กลไกระดับพื้นที่ ผ่านทาง Single Command จังหวัด ร่วมกับกรมส่งเสริมการเกษตร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดทำแผนงาน/โครงการด้านการผลิต ระยะที่ 1 (ปี 2561 – 2564) และให้ สศก. ประเมินผลโครงการด้านการผลิต ระยะที่ 1 เพื่อการวางแผนจัดทำแผนงาน/โครงการ ระยะที่ 2 (ปี 2565 – 2569) ต่อไป
              ด้านการแปรรูป โดยคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาและแก้ไขปัญหาด้านอุตสาหกรรมแปรรูปสับปะรด   มีกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นหน่วยงานหลัก กำหนดแนวทางการขับเคลื่อนในการพัฒนาการแปรรูปและสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่อุตสาหกรรมสับปะรดของไทย 5 ด้าน ได้แก่ 1) ศึกษาวิจัยและส่งเสริมการนำนวัตกรรม 2) ส่งเสริมการเพิ่มผลิตภาพ 3) ควบคุมคุณภาพบรรจุภัณฑ์สับปะรดให้ได้มาตรฐาน 4) การให้สิทธิประโยชน์หรือมาตรการจูงใจเพื่อส่งเสริมการลงทุน และ 5) การแปรรูปผลิตภัณฑ์ใหม่จากสิ่งเหลือใช้จากกระบวนการแปรรูป
             ด้านการตลาดและการส่งออก โดยคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาและแก้ไขปัญหาด้านการตลาด และการส่งออกสับปะรด มีกระทรวงพาณิชย์ เป็นหน่วยงานหลัก ดำเนินการรณรงค์และส่งเสริมการบริโภคสับปะรดและผลิตภัณฑ์ภายในประเทศ ส่งเสริมการเจรจาทางการค้าเพื่อขยายตลาดใหม่ ส่งเสริมการสร้างตราสินค้า ศึกษา วิจัยความต้องการสับปะรดและผลิตภัณฑ์ ส่งเสริมการรวบรวม จำหน่าย และส่งออกสับปะรดผลสด โดยผ่านกลไกรูปแบบประชารัฐ
          ทั้งนี้ แนวทางการขับเคลื่อนตามยุทธศาสตร์สับปะรดด้านการผลิต ระยะที่ 1 (ปี 2561- 2564) คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาและแก้ไขปัญหาด้านการผลิตสับปะรด มีมติเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2560 ได้กำหนดกลุ่มเป้าหมายในการส่งเสริม 2 กลุ่ม คือ
              กลุ่มที่ 1 จังหวัดที่อยู่ในรัศมีรอบกลุ่มโรงงานฯ 100 กิโลเมตร เพื่อกำหนดเป็นพื้นที่ส่งเสริมการปลูกสับปะรดเพื่อส่งเข้าโรงงานแปรรูปสับปะรด รวม 12 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดอุทัยธานี สุพรรณบุรี กาญจนบุรี ราชบุรี สมุทรสาคร เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด
              กลุ่มที่ 2 จังหวัดที่มีการปลูกสับปะรดโรงงานแต่อยู่ห่างไกลจากที่ตั้งของโรงงานแปรรูปสับปะรด กำหนดให้เป็นพื้นที่ส่งเสริมการปลูกสับปะรดเพื่อเน้นการบริโภคผลสด ได้แก่ จังหวัดเชียงราย พะเยา ลำปาง อุตรดิตถ์ พิษณุโลก เลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม ชัยภูมิ ชุมพร สุราษฎร์ธานี กระบี่ นครศรีธรรมราช และพัทลุง ซึ่งจะเน้นการสร้างตราสัญลักษณ์สินค้า (BrandName) การจดสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) โดยเชื่อมโยงผ่านกลุ่มเกษตรกร สหกรณ์ ไปยังผู้ส่งออก /Modern Trade/การค้าชายแดน
           ขณะนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมส่งเสริมการเกษตร ร่วมกับคณะกรรมการอำนวยการขับเคลื่อนงานนโยบายสำคัญและการแก้ไขปัญหาภาคเกษตรระดับจังหวัด พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่ระหว่างดำเนินการจัดทำแผนงาน โครงการ งบประมาณ ให้ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายทั้ง 2 กลุ่ม