- หน้าแรก
- ข่าวประชาสัมพันธ์
- รายละเอียดข่าว
สศก. เปิดสัมมนา Water Footprint ภาคเกษตร ประเมินการใช้น้ำตลอดห่วงโซ่การผลิต
ข่าวที่ 153/2559 วันที่ 3 พฤศจิกายน 2559
สศก. เปิดสัมมนา Water Footprint ภาคเกษตร ประเมินการใช้น้ำตลอดห่วงโซ่การผลิต
สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร เปิดสัมมนาการจัดทำฐานข้อมูล Water Footprint ภาคเกษตร จับมือทีมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และธรรมศาสตร์ วิเคราะห์มูลค่าการใช้น้ำภาคเกษตรในเชิงเศรษฐศาสตร์ และประเมินการใช้น้ำในการผลิตสินค้าเกษตรที่สำคัญทั้งทางตรงและทางอ้อมตลอดห่วงโซ่การผลิต
นางจันทร์ธิดา มีเดช รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงการประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติการการจัดทำฐานข้อมูล Water Footprint ภาคเกษตร เพื่อประเมินการใช้น้ำในการผลิตสินค้าเกษตรที่สำคัญตลอดห่วงโซ่การผลิต ทั้งทางตรงและทางอ้อม รวมถึงประเมินมูลค่าการใช้น้ำภาคเกษตรในเชิงเศรษฐศาสตร์ ซึ่ง สศก. ได้ร่วมกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดทำโครงการ มีระยะเวลาดำเนินงาน 9 เดือน (เมษายน - ธันวาคม 2559)
ภาคเกษตรของไทยมีความต้องการใช้น้ำในปริมาณกว่าร้อยละ 80 โดยเป็นน้ำจากแหล่งน้ำตามธรรมชาติ เขื่อนและน้ำบาดาล ซึ่งในระยะหลัง ความผันผวนและการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศเกิดขึ้นบ่อยครั้ง บางที่เกิดสภาพอากาศแห้งแล้ง ทำให้ปริมาณฝนในประเทศต่ำกว่าค่าปกติส่งผลให้ปริมาณน้ำที่มีอยู่ไม่เพียงพอในการทำการเกษตรซึ่งรัฐบาลได้ให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการบริหารจัดการน้ำ เพื่อให้การใช้น้ำเพื่อการเกษตร เกิดประสิทธิภาพสูงสุด
ดังนั้น โครงการจัดทำฐานข้อมูล Water Footprint จึงได้ทำการประเมินการใช้น้ำสำหรับผลิตสินค้าเกษตรตลอดห่วงโซ่การผลิต และประเมินมูลค่าการใช้น้ำภาคเกษตรในเชิงเศรษฐศาสตร์ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยในการกำหนดนโยบายและแนวทางการบริหารจัดการน้ำในภาคเกษตรให้มีทิศทางที่ถูกต้อง มีประสิทธิภาพ และยั่งยืน
การจัดสัมมนาในครั้งนี้ ได้มีทีมที่ปรึกษาถ่ายทอดความรู้ ความเข้าใจในกรอบแนวคิด และวิธีการประเมินปริมาณการใช้น้ำในการผลิตสินค้าเกษตร รวมถึงมูลค่าการใช้น้ำในเชิงเศรษฐศาสตร์ ซึ่งถือว่าเป็นการพัฒนาศักยภาพบุคลากรของภาครัฐ ภาคเอกชน และผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ก่อให้เกิดการตระหนักรู้ต่อสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ โดยเฉพาะเมื่อมีผลกระทบต่อภาคเกษตร และผู้เข้าร่วมสัมมนาสามารถนำความรู้ที่ได้รับดังกล่าวไปปรับใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อหน่วยงาน และต่อประเทศต่อไปในอนาคต อีกทั้งผู้เข้าร่วมสัมมนายังได้ร่วมกันแสดงข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่าง ๆ ต่อผลการศึกษาในเบื้องต้น ซึ่งมีประโยชน์อย่างมากที่ทาง สศก.จะนำไปปรับปรุงรายงานผลการศึกษาให้มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้นต่อไป
*********************
ข่าว : ส่วนประชาสัมพันธ์
ข้อมูล : สำนักวิจัยเศรษฐกิจการเกษตร