- หน้าแรก
- ข่าวประชาสัมพันธ์
- รายละเอียดข่าว
เปิดสถิติ 4 เดือนแรก ปี 60 ไทยได้เปรียบดุลการค้า เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.81
ข่าวที่ 70/2560 วันที่ 8 มิถุนายน 2560
เปิดสถิติ 4 เดือนแรก ปี 60 ไทยได้เปรียบดุลการค้า เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.81
สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ระบุ ส่งออกสินค้าเกษตร ช่วง 4 เดือนแรก เพิ่มขึ้น ร้อยละ 8.5 ทำให้ไทยได้เปรียบดุลการค้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.81 โดยมีสัดส่วนการส่งออกไปยังประเทศคู่ค้าในอาเซียน มากที่สุด สินค้าส่งออกที่สำคัญ 2 อันดับแรก ได้แก่ ยางพารา ข้าว
นางสาวจริยา สุทธิไชยา เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงสถานการณ์การส่งออกในปี 2559 ที่ผ่านมา พบว่า ไทยมีสัดส่วนการส่งออกสินค้าเกษตร คิดเป็นร้อยละ 16 เมื่อเทียบกับสินค้าทั้งหมด โดยเป็นการส่งออกไปยังคู่ค้าต่างๆ ได้แก่ อาเซียน (ร้อยละ 26) ญี่ปุ่น (ร้อยละ 13) จีน (ร้อยละ 12) สหรัฐอเมริกา (ร้อยละ 11) และสหภาพยุโรป (ร้อยละ 8) สำหรับปี 2560 สถานการณ์การค้าสินค้าเกษตรของไทยกับตลาดต่างประเทศ ในช่วง 4 เดือนแรก (มกราคม - เมษายน) พบว่า มีมูลค่าการค้า 594,633 ล้านบาท โดยไทยส่งออก 433,782 ล้านบาท (เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.5 ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นจาก 399,983 ล้านบาท ของช่วงเดียวกันในปี 2559) ไทยนำเข้า 160,851 ล้านบาท (เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.9 ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นจาก 157,705 ล้านบาท ของช่วงเดียวกันในปี 2559) ซึ่งไทยเป็นฝ่ายได้เปรียบดุลการค้าเพิ่มขึ้น ร้อยละ 12.81
หน่วย: ล้านบาท
รายการ
2559
2559
2560
ร้อยละการเปลี่ยนแปลง
(ม.ค.-เม.ย.)
(ม.ค.-เม.ย.)
(2559-2560)
มูลค่าการค้า
1,694,201
557,688
594,633
6.63
ส่งออก
1,216,658
399,983
433,782
8.50
นำเข้า
477,543
157,705
160,851
1.90
ดุลการค้า
739,115
242,278
272,931
12.81
นอกจากนี้ สินค้าส่งออกที่สำคัญของไทย ในช่วง 4 เดือนแรก (มกราคม-เมษายน) ของปี 2560 ได้แก่ ยางพารา (82,043 ล้านบาท) ข้าว (53,499 ล้านบาท) มันสำปะหลัง (32,746 ล้านบาท) เนื้อไก่ (29,281 ล้านบาท) อาหารทะเลสด/แช่เย็น/แช่แข็ง (17,187 ล้านบาท) ลำไยแห้ง (8,749 ล้านบาท) ทุเรียนสด (3,437 ล้านบาท) ลำไยสด (1,535 ล้านบาท) มะม่วงสด (657 ล้านบาท) และมังคุดสด (515 ล้านบาท)
ทั้งนี้ เนื่องจากไทยผลิตสินค้ามีคุณภาพ ปลอดภัย และมีมาตรฐานตรงตามความต้องการของตลาด ทำให้สินค้าเป็นที่เชื่อมั่น โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้กำหนดให้ปี 2560 เป็นปีแห่งการยกระดับมาตรฐานการเกษตร สู่ความยั่งยืน ทั้งการพัฒนาคุณภาพสินค้าตั้งแต่ฟาร์มของเกษตรกร รวมถึงเข้มงวดดำเนินการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องและตรวจสอบมาตรฐานคุณภาพสินค้าเกษตรเพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค
ข่าว : ส่วนประชาสัมพันธ์ / ข้อมูล : กองเศรษฐกิจการเกษตรระหว่างประเทศ