- หน้าแรก
- ข่าวประชาสัมพันธ์
- รายละเอียดข่าว
เกาะติดโครงการเขื่อนทดน้ำผาจุก จ.อุตรดิตถ์ ปี60 เกษตรกรโดนใจ สร้างอาชีพเสริม เพิ่มรายได้
ข่าวที่ 142/2560 วันที่ 30 ตุลาคม 2560
เกาะติดโครงการเขื่อนทดน้ำผาจุก จ.อุตรดิตถ์ ปี60 เกษตรกรโดนใจ สร้างอาชีพเสริม เพิ่มรายได้
สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 2 ติดตามโครงการเขื่อนทดน้ำผาจุก จังหวัดอุตรดิตถ์ ระบุ เกษตรกรพึงพอใจ เห็นว่าโครงการตรงกับความต้องการในระดับมากร้อยละ 81 ช่วยให้มีรายได้เพิ่มขึ้นจากอาชีพเสริมในฤดูแล้ง บรรเทาปัญหาการขาดแคลนน้ำ มีพื้นที่การเกษตรเพิ่มขึ้น
นายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงการติดตามประเมินผลตามแผนปฏิบัติการป้องกันแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม และแผนติดตามตรวจผลกระทบสิ่งแวดล้อม ปีงบประมาณ 2560 โครงการเขื่อนทดน้ำผาจุก ในพื้นที่อำเภออำเภอเมือง จังหวัดอุตรดิตถ์ โดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 2 จังหวัดพิษณุโลก (สศท.2) ได้เก็บข้อมูลจากเกษตรกรรวม 400 ครัวเรือน ที่ประกอบอาชีพด้านการเกษตรบริเวณเหนือเขื่อนทดน้ำผาจุกทั้งสองฝั่ง พบว่า
เกษตรกรมีรายได้เงินสดการเกษตร 191,870 บาท/ครัวเรือน รายจ่ายเงินสดการเกษตร 112,671 บาท/ครัวเรือน รายได้เงินสดสุทธิเกษตร 79,199 บาท/ครัวเรือน โดยมูลค่าผลผลิตเกษตรที่ใช้ในครัวเรือน และส่วนต่างมูลค่าผลผลิตเกษตรต้นปีและปลายปี 10,936 บาท/ครัวเรือน คิดเป็นรายได้สุทธิการเกษตร รวม 90,135 บาท/ครัวเรือน
ด้านทัศนคติและระดับความพึงพอใจของเกษตรกรที่มีต่อโครงการ พบว่า โครงการตรงกับความต้องการของเกษตรกรในระดับมาก คิดเป็นร้อยละ 81 ช่วยให้รายได้ทางการเกษตรเพิ่มขึ้นในระดับมาก คิดเป็นร้อยละ 69 และความเหมาะสมของเกษตรกรต่อโครงการ อยู่ในระดับมาก คิดเป็นร้อยละ 59 ทำให้สามารถปลูกพืชฤดูแล้งได้คิดเป็นร้อยละ 81 ช่วยบรรเทาปัญหาการขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูฝน/ฝนทิ้งช่วงคิดเป็นร้อยละ 79 มีพื้นที่การเกษตรเพิ่มขึ้นคิดเป็นร้อยละ 66 และบรรเทาปัญหาน้ำท่วมคิดเป็นร้อยละ 19
ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในตัวเกษตรกรมากขึ้น สศก.เห็นว่าควรมีการให้ความรู้เพิ่มเติมในการวางระบบการผลิตที่เหมาะสมกับพื้นที่ในแต่ละราย เพื่อให้ครอบครัวมีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างยั่งยืน แต่ละครัวเรือนน่าจะมีการปลูกฝังเตรียมพร้อมสำหรับผู้สืบสานความเป็นเกษตรกรที่มีคุณภาพ มีการส่งเสริมปลูกพืชทดแทนที่ใช้น้ำน้อยในฤดูแล้ง เพื่อลดอัตราความเสี่ยงในการผลิต และการพัฒนาพื้นที่ให้เหมาะสมต่อการประกอบอาชีพทางด้านการเกษตร ระบบโครงสร้างพื้นฐานที่เหมาะสม เพื่อให้เกิดระบบการทำฟาร์มที่มีประสิทธิภาพและเหมาะสมกับพื้นที่เป็นต้น
*********************
ข่าว : ฝ่ายประชาสัมพันธ์
ข้อมูล : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 2 จังหวัดพิษณุโลก