สศท.4 เผย ‘แปลงใหญ่จิ้งหรีด’ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สร้างโอกาส สร้างรายได้เกษตรกร

ข่าวที่ 63/2564  วันที่ 5 กรกฎาคม 2564
สศท.4 เผย ‘แปลงใหญ่จิ้งหรีด’ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สร้างโอกาส สร้างรายได้เกษตรกร
          นายฉกาจ ฉันทจิระวัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 4 ขอนแก่น (สศท.4) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นับเป็นแหล่งผลิตแมลงเศรษฐกิจจิ้งหรีด อันดับ 1 ของประเทศ เนื่องจากสภาพอากาศที่ค่อนข้างร้อน เหมาะสำหรับการเลี้ยงจิ้งหรีด รวมถึงจิ้งหรีดมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวคือ มีกลิ่นน้อยและรสชาติดี ทั้งนี้ สศท.4 ได้ลงพื้นที่เพื่อติดตามสถานการณ์การผลิตจิ้งหรีดของโครงการระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่แมลงเศรษฐกิจจิ้งหรีด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในพื้นที่ 3 จังหวัด (ขอนแก่น กาฬสินธุ์ มหาสารคาม) มีจำนวนแปลงใหญ่แมลงเศรษฐกิจจิ้งหรีด 7 แปลง หรือร้อยละ 63.64 ของจำนวนแปลงใหญ่แมลงเศรษฐกิจจิ้งหรีดทั้งประเทศ
          จากการติดตามสถานการณ์การผลิต ภายใต้โครงการระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ แมลงเศรษฐกิจจิ้งหรีดของทั้ง 3 จังหวัด จำนวน 7 แปลง ปี 2564 ซึ่งผลการศึกษาเบื้องต้น พบว่า เกษตรกรนิยมเลี้ยงจิ้งหรีด 3 สายพันธุ์ ได้แก่ จิ้งหรีดพันธุ์ทองดำ ร้อยละ 73.82 จิ้งหรีดพันธุ์ทองแดงลาย ร้อยละ 13.68 และจิ้งหรีดพันธุ์ขาว (แมงสะดิ้ง) ร้อยละ 12.50 ลักษณะโรงเรือนที่ใช้เลี้ยงได้ผ่านการรับรองมาตรฐาน GAP จำนวน 9 โรงเรือน และบางส่วนอยู่ระหว่างการดำเนินการขอรับรองมาตรฐาน GAP
          ด้านต้นทุนการผลิตจิ้งหรีด ทั้ง 3 สายพันธุ์ เฉลี่ยอยู่ที่ 45 บาท/กิโลกรัม ระยะเวลาในการเลี้ยงเฉลี่ย 42 วัน ระยะเวลาในการพักบ่อประมาณ 10 วัน ซึ่งในระยะเวลา 1 ปี สามารถเลี้ยงจิ้งหรีดได้ถึง 6 รุ่น ให้ผลผลิตจิ้งหรีด ประมาณ 6 กิโลกรัม/ตารางเมตร ราคาที่เกษตรกรขายได้ ณ เดือนมิถุนายน 2564 เฉลี่ยอยู่ที่ 106.18 บาท/กิโลกรัม คิดเป็นรายได้ ตลอดทั้งปี 12,000 บาท/ปี หรือ คิดเป็นผลตอบแทนสุทธิเฉลี่ย (กำไร) 6,900 บาท/ปี สำหรับสถานการณ์ด้านตลาด ผลผลิตส่วนใหญ่ร้อยละ 57 จำหน่ายให้กับผู้บริโภคโดยตรง เช่น ตลาดในพื้นที่ จัดส่งผ่านทางบริษัทขนส่งเอกชน ส่วนร้อยละ 43 จำหน่ายผ่านพ่อค้าคนกลางโดยเข้ามารับซื้อถึงฟาร์ม หลังจากนั้นจะนำไปแปรรูปเพื่อจำหน่ายตามตลาดในพื้นที่ สำหรับการจำหน่ายจิ้งหรีด เกษตรกรจะเน้นจำหน่าย 2 รูปแบบ ได้แก่ การแปรรูป (ต้มสุก) ร้อยละ 39 และแบบตัวสด ร้อยละ 61
          ผู้อำนวยการ สศท.4 กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากเกษตรกรจะมีรายได้จากการจำหน่ายตัวจิ้งหรีดแล้วยังสามารถนำมูลจิ้งหรีดมาทำเป็นปุ๋ย ขายในราคาประมาณ 1 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งเป็นการเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรอีกทางหนึ่ง หรือสามารถเก็บไว้ใช้สำหรับปรับปรุงสภาพดินในแปลงนา ไร่อ้อย ไร่มันสำปะหลัง เพื่อเป็นการลดต้นทุนอีกด้วย ทั้งนี้ เกษตรกรหรือท่านที่สนใจข้อมูลแมลงเศรษฐกิจจิ้งหรีด ภายใต้โครงการระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สศท.4 ขอนแก่น โทร 0 4356 1513 หรืออีเมล zone4@oae.go.th
***********************************
 
ข่าว : ส่วนประชาสัมพันธ์
ข้อมูล : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 4 ขอนแก่น