พลิกวิกฤต โควิด-19 เกษตรกร จ.บุรีรัมย์ เลี้ยง ‘ปูนาน้ำใส’ สร้างรายได้ พัฒนาสู่ศูนย์การเรียนรู้

ข่าวที่ 75/2564  วันที่ 6 สิงหาคม  2564
พลิกวิกฤต โควิด-19 เกษตรกร จ.บุรีรัมย์ เลี้ยง ‘ปูนาน้ำใส’ สร้างรายได้ พัฒนาสู่ศูนย์การเรียนรู้
          นางสุจารีย์ พิชา ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 5 นครราชสีมา (สศท.5) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า “ปูนาน้ำใส” นับเป็นอีกหนึ่งสินค้าเกษตรที่จังหวัดบุรีรัมย์ให้การส่งเสริมและสนับสนุน เนื่องจากเป็นสินค้าทางเลือกใหม่ที่มีอนาคต สามารถสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรในพื้นที่ ประกอบกับปูนายังเป็นอาหารที่ได้รับความนิยมของผู้บริโภคในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สามารถนำไปแปรรูปและนำไปประกอบอาหารได้หลากหลาย ซึ่งปัจจุบันตลาดมีความต้องการอย่างต่อเนื่อง   
          จากการลงพื้นที่ของ สศท.5 เพื่อติดตามสถานการณ์การผลิตและตลาดปูนาในพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์ พบว่า เกษตรกรให้ความสนใจและเริ่มมีการเลี้ยงปูนากันมากขึ้น ซึ่งจากการสัมภาษณ์เกษตรกรที่ประสบความสำเร็จในการเลี้ยงปูนา คือ นางสาวพาพัชร ศรีชนะ เจ้าของศูนย์เรียนรู้การเลี้ยงปูนาน้ำใสในบ่อผ้าใบ จังหวัดบุรีรัมย์ บอกเล่าว่า เดิมนั้นตนทำบ้านพักสำหรับนักท่องเที่ยว (โฮมสเตย์) แต่เนื่องจากช่วงปีที่ผ่านมาได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 จึงผันตัวเองมาเลี้ยงปูนาน้ำใสในบ่อผ้าใบ (กระชังบก) เป็นอาชีพเสริม โดยเริ่มต้นจากการซื้อปูนาพ่อพันธุ์แม่พันธุ์จำนวน 10 คู่/กระชัง ได้ทดลองเลี้ยงตามวิธีการ ขั้นตอนจนประสบผลสำเร็จ ซึ่งมุ่งหวังจะขยายพันธุ์จำหน่ายให้แก่เกษตรกรนำไปเลี้ยงเป็นอาชีพเสริมสร้างรายได้ รวมถึงเปิดโอกาสให้ผู้ที่สนใจได้เข้ามาศึกษาหาความรู้เพื่อสร้างอาชีพ
            สำหรับการดำเนินกิจกรรมของศูนย์เรียนรู้การเลี้ยงปูนาน้ำใสในบ่อผ้าใบ จังหวัดบุรีรัมย์ พบว่า นิยมเพาะเลี้ยง  และจำหน่ายปูนาเป็นพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ ซึ่งปัจจุบันมีการเลี้ยงจำนวน 15 กระชัง (ขนาด 2 x 3 เมตร) สามารถเลี้ยงพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ ได้จำนวน 100คู่/กระชัง มีต้นทุนการผลิตเฉลี่ย 24,312 บาท/กะชัง/รอบการผลิต โดยแม่พันธุ์จะให้ลูกในเดือนที่  4 – 5 ประมาณ 1,000 ตัว/กระชัง/รอบการผลิต หลังจากนั้นจะทำการอนุบาลลูกปูและเลี้ยงจนเป็นพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ จึงสามารถจับขายได้ ระยะเวลาการเลี้ยงเฉลี่ย 8 เดือน ราคาขายพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ ณ เดือนกรกฎาคม 2564 อยู่ที่ 80 – 100 บาท/คู่ ส่วนแม่พันธุ์พร้อมคลอด ราคา 200 บาท/ตัว เกษตรกรได้ผลตอบแทนเฉลี่ย 55,000 บาท/กระชัง/รอบการผลิต คิดเป็นผลตอบแทนเฉลี่ยสุทธิ (กำไร) 30,688 บาท/กระชัง/รอบการผลิต
            ด้านสถานการณ์ตลาด ผลผลิตส่วนใหญ่ร้อยละ 75 จำหน่ายให้กับผู้เลี้ยงรายย่อยในพื้นที่และต่างจังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา และสุรินทร์ รองลงมาร้อยละ 20 แปรรูปเป็นปูดอง ปูร้า น้ำพริกปู และข้าวเกรียบปู จำหน่ายให้กับร้านค้าและนักท่องเที่ยวทั่วไป ส่วนผลผลิตอีกร้อยละ จำหน่ายทางออนไลน์ผ่าน Page Facebook 239 ฟาร์มปูนา จังหวัดบุรีรัมย์ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการทำบรรจุภัณฑ์และแบรนด์ เพื่อให้สินค้ามีคุณภาพและมาตรฐาน สร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค รวมถึงเน้นการจำหน่ายผ่านตลาดออนไลน์มากยิ่งขึ้นตามวิถี New Normal เพื่อเป็นการเพิ่มช่องทางการจำหน่าย สร้างโอกาส สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรในช่วงวิกฤตโควิด – 19 ที่ระบาดอยู่ในขณะนี้ 
            นอกจากนี้ ทางศูนย์เรียนรู้ฯ ได้มีการอบรมให้ความรู้แก่เกษตรกรแบบครบวงจร เริ่มตั้งแต่การอนุบาลลูกปู การดูแล  พ่อพันธุ์แม่พันธุ์ ด้านการประชาสัมพันธ์ การตลาด และการสร้างเครือข่ายคนเลี้ยงปู รวมถึงถ่ายทอดความรู้ในการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากปูนา โดยมีจุดมุ่งหมายในการให้ความรู้ควบคู่กับการอนุรักษ์ปูนาไม่ให้สูญพันธุ์ สร้างอาชีพให้กับกลุ่มแรงงานที่กลับภูมิลำเนา และสร้างรายได้ให้กับกลุ่มผู้เลี้ยงปูนาอย่างยั่งยืน ซึ่งที่ผ่านมาได้รับความสนใจจากเกษตรกร และประชาชนทั่วไปทั้งในจังหวัดและต่างจังหวัดเข้ามาศึกษาดูงานประมาณ 500 คน ทั้งนี้ เกษตรกรหรือท่านใดที่สนใจเข้าศึกษาดูงาน ต้องการสร้างอาชีพ หรือทำเป็นอาชีพเสริม สามารถขอคำปรึกษาได้ที่ นางสาวพาพัชร  ศรีชนะ เจ้าของศูนย์เรียนรู้การเลี้ยง ปูนาน้ำใสในบ่อผ้าใบ จังหวัดบุรีรัมย์ เลขที่ 239 หมู่ 6 บ้านโคกเมือง ตำบลจระเข้มาก อำเภอประโคนชัย จังหวัดบุรีรัมย์ โทร 08 02828239 , 064192 8919 หรือ ID line : papat239 และสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สศท.5 นครราชสีมา  โทร 0 4446 5120 หรืออีเมล์ zone5@oae.go.th
******************************************************
ข่าว : ส่วนประชาสัมพันธ์ / ข้อมูล : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 5 นครราชสีมา