สศก. คาดผลผลิตสินค้าเกษตรหลายชนิดปีนี้ ยังคงเพิ่มขึ้น พร้อมติดตามสถานการณ์ต่อเนื่อง เพื่อปรับปรุงค่าพยากรณ์ให้สอดรับกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป

ข่าวที่ 50/2566  วันที่ 10 พฤษภาคม 2566
สศก. คาดผลผลิตสินค้าเกษตรหลายชนิดปีนี้ ยังคงเพิ่มขึ้น
พร้อมติดตามสถานการณ์ต่อเนื่อง เพื่อปรับปรุงค่าพยากรณ์ให้สอดรับกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป
               นายวินิต อธิสุข รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงสถานการณ์สินค้าเกษตรที่สำคัญในปี 2566 ว่า จากปัจจัยสำคัญของปริมาณน้ำฝนที่เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากตั้งแต่ปี 2565 ช่วงเดือนกันยายน ที่มีพายุโนรู เข้ามาประเทศไทย ทำให้มีปริมาณน้ำฝนสูงกว่าค่าปกติ ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำส่วนใหญ่และปริมาณน้ำตามแหล่งน้ำตามธรรมชาติมีมากกว่าปีที่แล้ว ส่งผลให้เกษตรกรมีความมั่นใจในการเพาะปลูก มีน้ำที่จะใช้ในการเพาะปลูกมีเพียงพอ ประกอบกับราคาสินค้าเกษตรส่วนใหญ่ยังอยู่ในเกณฑ์ดี จูงใจให้เกษตรกรดูแลรักษา อีกทั้งสินค้าเกษตรบางชนิดมีโครงการส่งเสริมการปลูกคุณภาพโดยการผลิตนอกฤดูเพิ่มขึ้น จึงส่งผลให้ผลผลิตสินค้าเกษตรสำคัญหลายชนิดในปีนี้ปรับตัวเพิ่มขึ้น
               จากการประชุมคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพข้อมูลปริมาณการผลิตสินค้าเกษตร ณ วันที่ 10 เมษายน 2566ซึ่งมีรองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (นายสุรเดช สมิเปรม ) เป็นประธาน และรองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (นายวินิต อธิสุข) ทำหน้าที่ฝ่ายเลขานุการ ที่ประชุมได้พิจารณาและคาดการณ์ผลผลิตสินค้าเกษตรที่สำคัญหลายชนิดเพิ่มขึ้น อาทิ ข้าวนาปรัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปาล์มน้ำมัน ยางพารา ลำไย ทุเรียน กุ้งขาวแวนนาไม กุ้งกุลาดำ เป็นต้น  โดยหากพิจารณาสินค้าแต่ละชนิด พบว่า
             ข้าวนาปรัง ปี 2566 คาดว่าเนื้อที่เพาะปลูกทั้งประเทศ 11.746 ล้านไร่ เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว ร้อยละ 23.03 ผลผลิตรวมทั้งประเทศ 7.614 ล้านตันข้าวเปลือก เพิ่มขึ้นร้อยละ 23.39 โดยผลผลิตต่อเนื้อที่เพาะปลูกทั้งประเทศ 648 กิโลกรัมต่อไร่ เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.31 ทั้งนี้ เนื่องจากปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำส่วนใหญ่ และปริมาณน้ำตามแหล่งน้ำตามธรรมชาติมีมากกว่าปีที่แล้ว ประกอบกับเกษตรกรบางส่วนปลูกชดเชยข้าวนาปีที่เสียหายจากน้ำท่วม
             ปาล์มน้ำมัน ปี 2566 คาดว่าเนื้อที่ให้ผลรวมทั้งประเทศ 6.252 ล้านไร่ เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว ร้อยละ 1.66 ให้ผลผลิตรวมทั้งประเทศ 19.892 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.36 โดยผลผลิตต่อเนื้อที่ให้ผลทั้งประเทศ 3,182 กิโลกรัมต่อไร่ เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.68  โดยเนื้อที่ให้ผลเพิ่มขึ้นเพราะราคาดีกษตรกรมีการปลูกทดแทนยางพารา บางส่วนขยายพื้นที่เพาะปลูกแทนพื้นที่นา พื้นที่รกร้าง พื้นที่ปลูกอ้อยโรงงาน ส่วนผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้นจากปริมาณน้ำฝนช่วงปลายปี 2564 ถึงตลอดปี 2565 มีเพียงพอ ฝนทิ้งช่วงน้อยกว่า ช่วงปี 2563 ถึงต้นปี 2564 ทำให้จำนวนทะลายในช่วงปี 2566 เพิ่มขึ้น
              ยางพารา ปี 2566 คาดว่าเนื้อที่ให้กรีดได้รวมทั้งประเทศ 21.986 ล้านไร่ เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว ร้อยละ 0.26 ให้ผลผลิตรวมทั้งประเทศ 4.951 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.59 โดยผลผลิตต่อเนื้อที่กรีดได้ทั้งประเทศ 225 กิโลกรัมต่อไร่ เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.27 ซึ่งเนื้อที่กรีดได้เพิ่มขึ้นจากเกษตรกรขยายพื้นที่ปลูกใหม่เมื่อปี 2560 ส่วนผลผลิตต่อเนื้อที่กรีดได้เพิ่มขึ้นจากต้นยางพาราที่กรีดได้ส่วนใหญ่อยู่ในช่วงอายุที่ให้ผลผลิตสูง ประกอบกับปริมาณน้ำฝนมีเพียงพอ ต้นยางสมบูรณ์ดี จำนวนวันกรีดเพิ่มขึ้น
          ทุเรียน ปี 2566 คาดว่าเนื้อที่ให้ผลรวมทั้งประเทศ 1.055 ล้านไร่ เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว ร้อยละ 11.95 ให้ผลผลิต รวมทั้งประเทศ 1.577 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 25.20 โดยผลผลิตต่อเนื้อที่ให้ผลทั้งประเทศ 1,495 กิโลกรัมต่อไร่ เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.82 โดยเนื้อที่ให้ผลเพิ่มขึ้นจากเนื้อที่ที่ปลูกเมื่อปี 2561 เกษตรกรปลูกแทนยางพารา พืชไร่ และไม้ผลอื่นๆ เช่น มะม่วง ลองกอง ส่วนผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้นจากแหล่งผลิตทางภาคใต้ สภาพภูมิอากาศเอื้ออำนวยต่อการออกดอกติดผล ในช่วงปลายปี 2565 มีฝนตกอย่างต่อเนื่อง ต้นทุเรียนได้รับน้ำเพียงพอ ทำให้ต้นสมบูรณ์พร้อมสำหรับการออกดอก ประกอบกับมีการจัดหาแหล่งน้ำเพิ่มขึ้น อีกทั้งราคาทุเรียนที่เกษตรกรขายได้อยู่ในเกณฑ์ดี เกษตรกรจึงให้การบำรุงดูแลดีขึ้น
            กุ้งขาวแวนนาไม ปี 2566  เนื้อที่เลี้ยงรวมทั้งประเทศ 270,547 ไร่ เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว ร้อยละ 0.55  ปริมาณการผลิต รวมทั้งประเทศ 375,809 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.19 ส่วนผลผลิตต่อไร่ต่อปี รวมทั้งประเทศ 1,389 กิโลกรัมต่อไร่ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 0.65 ทั้งนี้ เนื่องจากราคาอยู่ในเกณฑ์ที่เกษตรกรพอใจ ตามการประกันราคาขั้นต่ำของคณะกรรมการบริหารห่วงโซ่การผลิตกุ้งทะเลและผลิตภัณฑ์ (Shrimp Board) ช่วยให้เกษตรกรมีความมั่นใจในการเลี้ยงกุ้งมากขึ้น ประกอบกับความต้องการบริโภคทั้งตลาดภายในประเทศและตลาดต่างประเทศเพิ่มขึ้น ห้องเย็นและโรงงานแปรรูปเพื่อส่งออกมีความต้องการซื้อเพิ่ม เกษตรกรที่เคยปล่อยบ่อทิ้งว่างไว้ในปีที่ผ่านมาเพราะการชะลอตัวของความต้องการในช่วงการระบาดของโควิด - 19 จึงได้เริ่มกลับมาเลี้ยงใหม่ในปีนี้ ส่วนผลผลิตต่อไร่ต่อปีเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากปีที่ผ่านมา เนื่องจากเกษตรกรมีการบริหารจัดการที่ดีขึ้น และมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการเลี้ยงให้มีความเหมาะสมกับแต่ละพื้นที่มากขึ้น รวมทั้งการเลี้ยงกุ้งขาวแวนนาไมร่วมกับสัตว์น้ำชนิดอื่น เช่น กุ้งก้ามกราม ปลานิล ในบริเวณพื้นที่ภาคกลาง
            กุ้งกุลาดำ ปี 2566  เนื้อที่เลี้ยงรวมทั้งประเทศ 9,601 ไร่ เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว ร้อยละ 2.55  ปริมาณการผลิตรวมทั้งประเทศ 18,826 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.53 ส่วนผลผลิตต่อไร่รวมทั้งประเทศ 1,961 กิโลกรัมต่อไร่ เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.98 ทั้งนี้ เนื่องจากเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งกุลาดำส่วนใหญ่ เป็นเกษตรกรรายเดิมที่มีความชำนาญในการเลี้ยง และบางส่วนเป็นเกษตรกรที่มีการปรับเปลี่ยนการเลี้ยงกุ้งในฟาร์มระหว่างกุ้งขาวแวนนาไมและกุ้งกุลาดำ ซึ่งเป็นการใช้บ่อเดิมที่มีอยู่ โดยปรับการเลี้ยงตามคำสั่งซื้อของลูกค้าและแนวโน้มของราคาที่ปรับเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะความต้องการของลูกค้าจากประเทศจีน    ซึ่งเป็นตลาดส่งออกหลักที่เริ่มเปิดประเทศตั้งแต่ช่วงต้นปี 2566 ประกอบกับการท่องเที่ยวเริ่มฟื้นตัว ทำให้มีเที่ยวบินตรงมายังภูเก็ตเพิ่มขึ้น  ปัญหาการขนส่งกุ้งกุลาดำมีชีวิตจากแหล่งผลิตภาคใต้เริ่มคลี่คลาย ช่วยให้เกษตรกรมีความมั่นใจในการเลี้ยงกุ้ง
            ทั้งนี้ สศก. จะยังคงติดตามสถานการณ์การผลิต ภัยแล้ง ฝนทิ้งช่วง สภาพภูมิอากาศ โรคระบาดในพืชและสัตว์ ในช่วงการเจริญเติบโต จนถึงช่วงเก็บเกี่ยว ซึ่งอาจส่งผลต่อทั้งปริมาณและคุณภาพของผลผลิต เพื่อนำมาปรับค่าพยากรณ์ต่อไป สำหรับท่าน   ที่สนใจ สามารถสอบถามข้อมูลพยากรณ์ เพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร โทร. 0 2561 2870 หรืออีเมล prcai@oae.go.th
************************************************
ข่าว : ส่วนประชาสัมพันธ์
ข้อมูล : ศูนย์สารสนเทศการเกษตร