- หน้าแรก
- ข่าวประชาสัมพันธ์
- รายละเอียดข่าว
‘กลุ่มแปลงใหญ่ส้มโอขาวแตงกวาสรรคบุรี’ จ.ชัยนาท แปลงใหญ่ต้นแบบ ยกระดับผลผลิตและแปรรูปผลิตภัณฑ์ สร้างรายได้กลุ่มปีละ 40 ล้านบาท
ข่าวที่ 9/2567 วันที่ 25 มกราคม 2567
‘กลุ่มแปลงใหญ่ส้มโอขาวแตงกวาสรรคบุรี’ จ.ชัยนาท แปลงใหญ่ต้นแบบ
ยกระดับผลผลิตและแปรรูปผลิตภัณฑ์ สร้างรายได้กลุ่มปีละ 40 ล้านบาท
นางอังคณา พุทธศรี ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 7 ชัยนาท (สศท.7) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า “ส้มโอขาวแตงกวาชัยนาท” นับเป็นอีกหนึ่งพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของจังหวัดชัยนาท เป็นไม้ผลท้องถิ่นที่สร้างชื่อเสียงให้กับจังหวัดมายาวนาน เนื่องจากมีสภาพภูมิอากาศและภูมิประเทศเอื้ออำนวย ดินมีความอุดมสมบูรณ์ ส่งผลให้ส้มโอมีรสชาติที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ ประกอบกับเกษตรกรมีองค์ความรู้ ประสบการณ์ในการปลูก และพัฒนาคุณภาพของผลผลิตอย่างต่อเนื่อง ทำให้ได้ผลส้มโอที่มีคุณภาพ เป็นที่นิยมของผู้บริโภคทั้งในประเทศ และต่างประเทศ ทั้งนี้ ส้มโอขาวแตงกวาชัยนาทได้รับการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indication: GI) จากกรมทรัพย์สินทางปัญญา เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2549ยกระดับผลผลิตและแปรรูปผลิตภัณฑ์ สร้างรายได้กลุ่มปีละ 40 ล้านบาท
จากการลงพื้นที่ของ สศท.7 เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2567 ที่ผ่านมา เพื่อติดตามสถานการณ์การผลิตส้มโอขาวแตงกวาชัยนาท พบว่า ปี 2566 (ข้อมูลจากสำนักงานเกษตรจังหวัดชัยนาท ณ 22 ม.ค. 67) มีพื้นที่ปลูกรวม 2,912.50 ไร่ เกษตรกรผู้ปลูก 845 ครัวเรือน มีการปลูกแพร่กระจายอยู่ในทุกอำเภอของจังหวัด เกษตรกรมีการรวมกลุ่มกันผลิต ซึ่งกลุ่มตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จ คือ กลุ่มแปลงใหญ่ส้มโอขาวแตงกวาสรรคบุรี ตำบลแพรกศรีราชา อำเภอสรรคบุรี จังหวัดชัยนาท เริ่มรวมกลุ่มและเข้าร่วมโครงการระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ ปี 2562 ปัจจุบันมีพื้นที่ปลูกรวม 368 ไร่ มีนายประเวช ขำมา เป็นประธานแปลงใหญ่ สมาชิกกลุ่มรวม 67 ราย ผ่านการรับรองมาตรฐาน GAP 43 ราย และได้รับการขึ้นทะเบียน GI 23 ราย โดยกลุ่มมีเป้าหมายให้สมาชิกได้รับการรับรองมาตรฐานทั้ง 2 ประเภททุกราย ซึ่งขณะนี้ อยู่ระหว่างขั้นตอนการตรวจแปลงส้มโอ
กลุ่มแปลงใหญ่ส้มโอขาวแตงกวาสรรคบุรี มีศักยภาพและสามารถบริหารจัดการได้ตามเป้าหมายการพัฒนาแปลงใหญ่ 5 ด้านที่สำคัญ ได้แก่ ด้านลดต้นทุนการผลิต สมาชิกผสมปุ๋ยใช้เองแทนปุ๋ยสูตรสำเร็จต่าง ๆ ผลิตธาตุอาหารเสริมแคลเซียมโบรอนใช้เองแทนการซื้อสำเร็จรูป และลดการใช้สารเคมีโดยการใช้สารชีวภัณฑ์แทนในการป้องกันกำจัดโรคแมลงและศัตรูพืช สามารถลดต้นทุนการผลิตเหลือเพียง 13,000 บาท/ไร่/ปี จากก่อนเข้าร่วมโครงการมีต้นทุนเฉลี่ย 15,744 บาท/ไร่/ปี หรือลดลงร้อยละ 17 ด้านการเพิ่มผลผลิต บริหารจัดการน้ำอย่างเหมาะสมกับพื้นที่ปลูก โดยระยะแรกที่ปลูกส้มโอใหม่ ๆ ต้องหมั่นให้น้ำสม่ำเสมอ เมื่อส้มโอเจริญเติบโตแล้วจะให้น้ำแบบสปริงเกอร์เฉลี่ย 3 วัน/ครั้ง และช่วงที่มีผลผลิตออกสู่ตลาด จะให้น้ำเฉลี่ย 1 – 2 สัปดาห์/ครั้ง ประกอบกับสมาชิกป้องกันกำจัดศัตรูพืชโดยใช้น้ำหมักสมุนไพรในการเพิ่มผลผลิตและใช้สายพันธุ์ที่ความทนทานต่อโรค สามารถเพิ่มผลผลิตได้ 2,500 - 3,000 กิโลกรัม/ไร่/ปี จากก่อนเข้าร่วมโครงการ มีผลผลิตเฉลี่ย 1,500 – 1,900 กิโลกรัม/ไร่/ปี หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 100 ด้านการพัฒนาคุณภาพการผลิต มีการบริหารจัดการในรูปแบบคณะกรรมการ พัฒนาเป็น Smart Farmer พัฒนาสินค้าเป็น Smart Product พัฒนากลุ่มเป็น Smart Group มีการอบรมและส่งเสริมองค์ความรู้อย่างต่อเนื่อง และการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาเพื่อยกระดับคุณภาพสินค้า ด้านการตลาด ผลผลิตส่วนใหญ่ร้อยละ 75 จำหน่ายปลีกให้กับผู้ขายภายในจังหวัดชัยนาทและส่งจำหน่ายตลาดกลาง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพื่อส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศ ผลผลิตร้อยละ 20 จำหน่ายผ่านช่องทางออนไลน์ อาทิ ตลาดเกษตรกรออนไลน์.com และ Facebook และร้อยละ 5 นำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เพิ่มมูลค่า และด้านการบริหารจัดการ กลุ่มแปลงใหญ่มีการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ เน้นการตลาดนำการผลิต ดำเนินงานตามรูปแบบ BCG Model เพื่อยกระดับผลผลิตเกษตรสู่มาตรฐานสูง ครอบคลุมทั้งด้านคุณภาพ โภชนาการ ความปลอดภัย และระบบการผลิตที่ยั่งยืน ทั้งนี้ จากผลสำเร็จของกลุ่มแปลงใหญ่ส่งผลให้กลุ่มมีรายได้เฉลี่ย 40 ล้านบาท/ปี
ปัจจุบันกลุ่มแปลงใหญ่ส้มโอขาวแตงกวาสรรคบุรี ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม วิจัยและพัฒนาในการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรม Internet of Things (IoT) มาประยุกต์ใช้เพื่อเพิมศักยภาพการผลิต โดยการใช้โทรศัพท์มือถือติดต่อกับอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าเพื่อเปิด - ปิดน้ำ เป็นการควบคุมทางไกล ซึ่งช่วยให้สมาชิกแปลงใหญ่สามารถปรับปรุงกระบวนการผลิตส้มโอ แปรรูปสิ่งเหลือใช้จากส้มโอที่มีคุณภาพและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อาทิ ครีมทาหน้า สเปรย์ไล่ยุงแชมพูสำหรับสัตว์เลี้ยง ชาส้มโอ 3 in1 พร้อมดื่ม (แบบชนิดผง) สบู่ชาโคลจากถ่านส้มโอ น้ำมันสกัดจากเปลือกส้มโอ และในอนาคตทางกลุ่มวางแผนจะพัฒนาแปรรูปผลิตภัณฑ์ชนิดอื่นๆ อาทิ เซรั่ม ครีมมาร์คหน้า และชาจากดอกส้มโอ ซึ่งมีหน่วยงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมส่งเสริมการเกษตร เป็นที่ปรึกษาในการส่งเสริมองค์ความรู้ด้านการผลิตและแปรรูป นอกจากนี้ ยังได้ร่วมกับหน่วยงานภายนอกพัฒนาพื้นที่สวนส้มโอเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร และแหล่งเรียนรู้ ทั้งนี้ หากท่านใดที่สนใจข้อมูลหรือสนใจเข้าศึกษาดูงานของกลุ่มแปลงใหญ่ส้มโอขาวแตงกวาสรรคบุรี ตำบลแพรกศรีราชา จังหวัดชัยนาท สามารถติดต่อได้ที่นายประเวช ขำมา ประธานกลุ่มแปลงใหญ่ โทร 06 3224 8256 หรือ เพจ Facebook กลุ่มแปลงใหญ่ส้มโอขาวแตงกวาสรรคบุรี
******************************************************
ข่าว : ส่วนประชาสัมพันธ์ / ข้อมูล : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 7 ชัยนาท