- หน้าแรก
- ข่าวประชาสัมพันธ์
- รายละเอียดข่าว
ธรรมนัส เดินหน้านโยบาย เศรษฐา คิกออฟ IGNITE THAILAND จุดประกายเกษตรไทย สู่ศูนย์กลางการเกษตรและอาหารของโลก พร้อมเดินเครื่องกระทรวงเกษตรฯ ยกระดับสู่การเพิ่มรายได้ 3 เท่า ภายใน 4 ปี
ข่าวที่ 46/2567 วันที่ 10 เมษายน 2567
ธรรมนัส เดินหน้านโยบาย เศรษฐา คิกออฟ IGNITE THAILAND จุดประกายเกษตรไทย
สู่ศูนย์กลางการเกษตรและอาหารของโลก พร้อมเดินเครื่องกระทรวงเกษตรฯ ยกระดับสู่การเพิ่มรายได้ 3 เท่า ภายใน 4 ปี
สู่ศูนย์กลางการเกษตรและอาหารของโลก พร้อมเดินเครื่องกระทรวงเกษตรฯ ยกระดับสู่การเพิ่มรายได้ 3 เท่า ภายใน 4 ปี
วันนี้ (10 เมษายน 2567) ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานเปิดการสัมมนาเชิงปฏิบัติการเพื่อขับเคลื่อน IGNITE THAILAND “จุดประกายเกษตรไทย สู่ศูนย์กลางสินค้าเกษตรและอาหารของโลก” พร้อมปาฐกถาพิเศษ “ขับเคลื่อนภาคการเกษตรไทยสู่การเป็นศูนย์กลางการเกษตรและอาหารของโลก” ณ ห้องแซฟไฟร์ 204 - 206 ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็คฟอรั่ม เมืองทองธานี จังหวัดนนทบุรี
ร้อยเอก ธรรมนัส กล่าวว่า จากที่ นายกรัฐมนตรี (นายเศรษฐา ทวีสิน) ได้ประกาศวิสัยทัศน์ IGNITE THAILAND จุดพลัง รวมใจ ไทยต้องเป็นหนึ่ง โดย 1 ใน 8 วิสัยทัศน์ที่สำคัญ และถือเป็นรากฐานการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ คือ วิสัยทัศน์การเป็นศูนย์กลางการเกษตรและอาหารของโลก (Agriculture and Food Hub) แน่นอนว่า ประเทศไทยมีศักยภาพพร้อมในการเป็นศูนย์กลางการเกษตรและอาหารของโลก โดยรัฐบาลมีเป้าหมาย 2 ส่วนด้วยกัน ได้แก่ เป้าหมายด้านการเกษตร และ เป้าหมายด้านอาหาร สำหรับเป้าหมายภาคการเกษตร รัฐบาลมีเป้าหมาย คือ “รายได้สุทธิ 3 เท่า ใน 4 ปี” และด้วยความพร้อมด้านศักยภาพและความอุดมสมบูรณ์ของประเทศ ที่มีข้อได้เปรียบหลายด้านทั้งด้านภูมิศาสตร์ และสภาพภูมิอากาศที่เหมาะสมสำหรับการผลิตสินค้าเกษตรหลากหลายชนิด ให้ผลผลิตตลอดทั้งปี ซึ่งเชื่อมั่นว่า สามารถทำได้แน่นอน เห็นได้จากผลสำเร็จ ในวันนี้ จากตัวอย่างสินค้าเกษตรที่ราคาดี ไม่ว่าจะเป็นยางพารา ข้าว ส่วนหนึ่งมาจากการที่เจ้าหน้าที่รัฐช่วยกันกำกับดูแลสินค้าลักลอบผิดกฎหมาย และในอนาคตระยะต่อไป นอกจากราคาดีแล้ว ผลผลิตจะต้องดีด้วย ซึ่งจะเกิดจากการที่เรามีการทำเกษตรแม่นยำ นำเทคโนโลยีมาใช้ เช่น การตรวจดิน การใช้ปุ๋ยอย่างเหมาะสม และใช้พันธ์พืชที่ได้รับการพัฒนาต่อยอดงานวิจัยรวมไปถึงแหล่งแหล่งน้ำ ต้องมีพื้นที่ชลประทานมากขึ้น ระบบบริหารจัดการน้ำที่ดี แก้ปัญหาอุกทภัยและภัยแล้ง มีการบริหารระบบตลาดสินค้าการเกษตรอย่างครบวงจร มีโครงสร้างพื้นฐานด้านการเกษตรที่เหมาะสม และการแก้ปัญหา PM2.5 ที่เกิดขึ้นจากภาคการเกษตร
ขณะที่ เป้าหมายด้านอาหาร ประเทศไทยเราอุดมสมบูรณ์ มีวัตถุดิบสินค้าการเกษตรที่ดีมากมายเป็นวัตถุดิบชั้นเลิศ เรามีอาหารที่มีชื่อประเทศเป็นชื่อ “ผัด ไทย” มี Story ที่จะยกระดับได้อีกมากมายหลายชนิด อาทิ ร่วมกับ Micheline Guide และการขยายตัวของร้านอาหารไทยไปทั่วโลก และนอกจากอาหารทั่วไปแล้ว ไทยเรายังสามารถสร้าง “ตลาดใหม่” ผ่านนวัตกรรมด้านอาหารได้ ไม่ว่าจะเป็นการผลิตอาหารเพื่อสุขภาพ อาหารทางการแพทย์ อาหาร Plant-based อุตสาหกรรมที่เติบโตต่อเนื่อง ซึ่งเชื่อมั่นว่า ประเทศไทยเรามีความพร้อมในศักยภาพอย่างเต็มที่สมดังคำกล่าว “ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว” และเป้าหมายที่สำคัญ นั่นคือ “ในกระเป๋าต้องมีเงิน”
สำหรับการขับเคลื่อนภาคการเกษตรไทยสู่การเป็นศูนย์กลางการเกษตรและอาหารของโลกว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีความพร้อมที่จะขับเคลื่อนให้บรรลุเป้าหมาย ในการสร้างรายได้เพิ่มเป็น 3 เท่า ใน 4 ปี ด้วย 9 นโยบายสำคัญ ได้แก่ 1) การจัดที่ดินทำกินให้เกษตรกร 2) การจัดทำข้อมูลเกษตรกร แปลงเกษตรกรในระบบดิจิทัล และการประกันภัยพืชผล 3) การส่งเสริมฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของดิน 4) การบริหารจัดการน้ำ 5) การผลักดันสินค้าเกษตรมูลค่าสูง 6) การส่งเสริมให้เกษตรกรและสถาบันเกษตรกรมีความเข้มแข็ง 7) การส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงเกษตร 8) การเปลี่ยนแปลงสภาวะสิ่งแวดล้อม และ 9) การทำงานและการวิจัยภายใต้กรอบความร่วมมือต่าง ๆ
การจุดประกายให้ประเทศไทยเป็น Hub การเกษตรและอาหารของโลก จำเป็นต้องยกระดับการขับเคลื่อนทั้งในด้านการผลิต และการตลาด ซึ่งในส่วนที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ คือด้านการผลิต (Supply-side) ต้องขับเคลื่อนกลไกสำคัญ (Engine) ซึ่งเป็นหัวใจของภาคการผลิต คือ 1) การยกระดับสินค้าเกษตร และ 2) มาตรการเสริมแกร่งให้กับเกษตรกรและคนในภาคการเกษตร สำหรับการยกระดับสินค้าเกษตรสู่การเพิ่มรายได้ สามารถแบ่งกลุ่มสินค้าเป้าหมายหลักๆ ได้เป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มสินค้าเกษตรที่มีการผลิตมากกว่าความต้องการของตลาด ได้แก่ ข้าว ปาล์มน้ำมัน ยางพารา โคเนื้อ ไก่เนื้อ และกุ้ง และกลุ่มสินค้าเกษตรที่ผลิตน้อยกว่าความต้องการ ได้แก่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง กาแฟ ทุเรียน และถั่วเหลือง โดยในแต่ละสินค้ามีความหลากหลายในแต่ละมิติต่างกันไป ขณะที่มาตรการเสริมแกร่งให้กับเกษตรกรและคนในภาคการเกษตรเป็นความตั้งใจของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่จะต้องเสริมความแข็งแกร่งให้กับพี่น้องเกษตรกร เช่น มาตรการการวางระบบสวัสดิการที่เหมาะสมหรือแนวทางการยกระดับความเป็นอยู่ของพี่น้องเกษตรกรไม่ว่าจะเป็นระบบประกันภัยภาคการผลิต การริเริ่มสวัสดิการให้กับเกษตรกร การส่งเสริมให้เกษตรกรเป็นผู้ให้บริการทางการเกษตร รวมถึงการสนับสนุนปัจจัยการผลิต ทั้งพันธุ์ ดิน ปุ๋ย การใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมการเกษตร การเพิ่มพื้นที่ชลประทาน ตลอดจนการสนับสนุนการผลิตแบบมีเงื่อนไขเพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับอาชีพเกษตรกรรม เป็นต้น
การสัมมนาครั้งนี้ ถือเป็นโอกาสอันดีที่จะจุดประกายให้กับทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา เกษตรกร Smart Farmer และ Young Smart Farmer ที่เป็นกำลังสำคัญของภาคการเกษตรเข้ามาร่วมกันแสดงพลัง และมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนให้ไทยเป็นศูนย์กลางการเกษตรและอาหารของโลก กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมที่จะขับเคลื่อนและร่วมกับทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นทางสำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่จะนำไปเชื่อมโยงด้านการตลาด (Demand-side) โดยมีกระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมดำเนินการ ทั้งนี้ เพื่อผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางการเกษตรและอาหาร ที่สำคัญพี่น้องเกษตรกรและคนในภาคการเกษตรจะต้องมีเงินในกระเป๋าเพิ่มขึ้น มีรายได้เพิ่มขึ้น 3 เท่า ภายใน 4 ปี ซึ่งเป็นเป้าหมายที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะผลักดันให้สำเร็จตามนโยบายของรัฐบาลที่กำหนดไว้
----------------------------------------
ข้อมูล กองนโยบายและแผนพัฒนาการเกษตร และ สำนักวิจัยเศรษฐกิจการเกษตร