ผลสำเร็จ “กลุ่มแปลงใหญ่ทุเรียนเมืองพระยา” อ.รัษฎา จ.ตรัง เน้นพัฒนาคุณภาพ สร้างรายได้ยั่งยืน

ข่าวที่ 64/2567 วันที่ 30 พฤษภาคม 2567
ผลสำเร็จ “กลุ่มแปลงใหญ่ทุเรียนเมืองพระยา” อ.รัษฎา จ.ตรัง เน้นพัฒนาคุณภาพ สร้างรายได้ยั่งยืน
          นายไพฑูรย์ สีลาพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 9 สงขลา (สศท.9) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยถึงการติดตามผลดำเนินงานของกลุ่มแปลงใหญ่ทุเรียนเมืองพระยา หมู่ 5 ตำบลเขาไพรอำเภอรัษฎา จังหวัดตรัง เป็นกลุ่มผู้ปลูกทุเรียนที่เน้นหลักธรรมชาติ ใช้สารชีวภัณฑ์ น้ำหมัก ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยอินทรีย์เพื่อปรับสภาพดิน หลีกเลี่ยงการใช้สารเคมี โดยคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก ผลผลิตมีคุณภาพสูง ผ่านการรับรองมาตรฐาน GAP ซึ่งเกษตรกรในพื้นที่นิยมปลูกทุเรียนพันธุ์หมอนทอง เนื่องจากเป็นพันธุ์ทางการค้า เป็นที่นิยมของตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ
          จากการติดตามของ สศท.9 พบว่า กลุ่มแปลงใหญ่ทุเรียนเมืองพระยา มีจุดเริ่มต้นจากนายมานิตย์ สุวรรณรัตน์ ประธานแปลงใหญ่ ซึ่งเป็นเกษตรกรที่ปลูกทุเรียนจนประสบความสำเร็จในจังหวัดชุมพร จึงตัดสินใจปรับเปลี่ยนพื้นที่ปลูกยางพาราหันมาปลูกทุเรียนแทน ได้รับผลผลิตดี มีคุณภาพ ขายได้ราคาสูง เกษตรกรในพื้นที่ให้ความสนใจหันมาปลูกทุเรียนมากขึ้น จึงมีแนวคิดในการรวมกลุ่มเพื่อส่งเสริมอาชีพการเกษตร และขยายเครือข่ายในพื้นที่ โดยได้ประสานงานไปยังสำนักงานเกษตรอำเภอรัษฎา จังหวัดตรัง เพื่อจัดตั้ง “กลุ่มแปลงใหญ่ทุเรียนเมืองพระยา” ในปี 2566 ซึ่งปัจจุบันมีเนื้อที่ปลูกรวม 251 ไร่ เนื้อที่ให้ผล 200 ไร่ มีสมาชิกทั้งหมด 41 ราย ซึ่งสมาชิกได้รับใบรับรองมาตรฐาน GAP แล้วจำนวน 27 ราย และอยู่ระหว่างการขอรับใบรับรองมาตรฐาน GAP อีกจำนวน 14 ราย โดยกลุ่มมีการดำเนินงานตามระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่โดยมีเป้าหมายเพื่อการพัฒนาแปลงใหญ่ 5 ด้าน คือ การลดต้นทุนการผลิต การเพิ่มผลผลิต การพัฒนาคุณภาพสินค้า การตลาด และการบริหารจัดการ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้แปลงใหญ่ทุเรียนเมืองพระยาประสบความสำเร็จในการรวมกลุ่ม เพื่อพัฒนาคุณภาพการผลิตสินค้าเกษตรให้ตรงกับความต้องการของตลาด
          สำหรับฤดูกาลผลิตทุเรียนของกลุ่มแปลงใหญ่ทุเรียนเมืองพระยา ปี 2567 คาดว่า ให้ผลผลิตรวม 60 ตัน/ปีผลผลิตเฉลี่ย 300 กิโลกรัม/ไร่/ปี ผลผลิตออกสู่ตลาดช่วงเดือนมิถุนายน – สิงหาคมของทุกปี ราคาที่เกษตรกรขายได้ช่วงที่ผลผลิตออกสู่ตลาด (ราคาเฉลี่ยปี 2566) แบ่งตามเกรด ดังนี้ เกรด A - B ขนาดผล 1.90 – 5 กิโลกรัม ราคากิโลกรัมละ 135 บาท เกรด C ขนาดผลไม่เกิน 1.90 กิโลกรัม ราคากิโลกรัมละ 90 บาท ตกเกรด ขนาดผลคละ ราคากิโลกรัมละ 90 บาท และเกรดมีตำหนิ/จัมโบ้ (จัมโบ้ ขนาดผลละ 5.20 กิโลกรัมขึ้นไป) ราคากิโลกรัมละ 50 บาท ด้านสถานการณ์ตลาดของกลุ่มผลผลิตทุเรียนส่วนใหญ่ ร้อยละ 90 สมาชิกรวบรวมส่งขายล้งที่จังหวัดชุมพร และร้อยละ 10 ขายให้ผู้บริโภคโดยตรงซึ่งมีการเปิดให้ลูกค้าจองยกต้น ส่วนใหญ่เป็นลูกค้าเฉพาะกลุ่ม เช่น ธนาคารออมสิน สาขาตรัง ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร สาขาตรัง สำนักงานพัฒนาที่ดิน จังหวัดตรัง ทั้งนี้ หากคิดเป็นผลตอบแทนของทั้งกลุ่มในแต่ละปีจะมีรายได้อยู่ที่ 12,000,000 บาท/ปี
          ทั้งนี้ กลุ่มแปลงใหญ่ทุเรียนเมืองพระยา มีแผนดำเนินการเพื่อยกระดับการพัฒนาผลผลิตทุเรียนให้มีคุณภาพโดยตั้งเป้าในปี 2567 ดังนี้ 1) ส่งเสริมระบบการให้น้ำ 2) ถ่ายทอดความรู้การจัดการสวนทุเรียนให้มีคุณภาพ 3) ส่งเสริมการผลิตตามมาตรฐาน GAP และการนำเทคโนโลยี แอร์บัส (Airblast) มาใช้ในการฉีดพ่นยาและปุ๋ย อย่างไรก็ตามการพัฒนาทุเรียนเมืองพระยาให้มีคุณภาพ เป็นที่รู้จักในวงกว้างนั้น จังหวัดตรังและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ได้มีการส่งเสริมและผลักดันให้ทุเรียนเมืองพระยา โดยการสนับสนุนงบประมาณโครงการระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ มีงบประมาณเพื่อใช้จัดเวทีในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ในการสร้างภาคีเครือข่าย ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้การปลูกทุเรียน การใช้เทคโนโลยี และนวัตกรรมในการบริหารจัดการสวน ระบบน้ำภายในสวน และงบสนับสนุนปัจจัยการผลิตเพื่อให้เกษตรกรสามารถลดต้นทุนการผลิต อีกทั้ง การส่งเสริมของภาครัฐจะช่วยให้เกิดการพัฒนาทักษะด้านความรู้ การใช้เทคโนโลยี การบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ การตลาดสร้างมูลค่าเพิ่ม เน้นการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมและปฏิบัติจริงซึ่งจะช่วยให้เกษตรได้รับความรู้ ทักษะและประสบการณ์ตรงที่สอดคล้องกับความต้องการ จะส่งผลให้สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดต้นทุน เพิ่มช่องทางการตลาด ตลอดจนมีรายได้ที่มั่นคงยั่งยืนในระยะยาว หากท่านใดสนใจข้อมูลกลุ่มแปลงใหญ่ทุเรียนเมืองพระยา หมู่ 5 ตำบลเขาไพร อำเภอรัษฎา จังหวัดตรัง ติดต่อสอบเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานเกษตรอำเภอรัษฎา 0 7528 6080  และนายมานิตย์ สุวรรณรัตน์ ประธานแปลงใหญ่ โทร 08 4790 2407
******************************************************
ข่าว : ส่วนประชาสัมพันธ์
ข้อมูล : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 9 สงขลา