สศท.6 จุดประกายความท้าทาย&สร้างโอกาส “เศรษฐกิจฐานนวัตกรรมสับปะรดภาคตะวันออกสู่อนาคต”

ข่าวที่ 75/2567 วันที่ 27 มิถุนายน 2567
สศท.6 จุดประกายความท้าทาย&สร้างโอกาส “เศรษฐกิจฐานนวัตกรรมสับปะรดภาคตะวันออกสู่อนาคต”
             นางสาวนริศรา เอี่ยมคุ้ย ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 6 ชลบุรี (สศท.6) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยถึงทิศทางสถานการณ์การผลิตสับปะรดภาคตะวันออก 6 ปีย้อนหลัง (ปี 2562 – 2567) ภาพรวมเนื้อที่เก็บเกี่ยวลดลง ร้อยละ 30.16 และผลผลิตลดลงร้อยละ 32.70 แหล่งผลิตสำคัญอยู่ที่จังหวัดระยอง ชลบุรี ฉะเชิงเทรา ตราด และจันทบุรี สำหรับในปี 2567 (ข้อมูล ณ 13 มิถุนายน 2567) มีเนื้อที่เก็บเกี่ยว 5 จังหวัดรวม 46,129 ไร่ ลดลงจากปีที่แล้ว ร้อยละ 4.75 ผลผลิต 250,207 ตัน ลดลงจากปีที่แล้ว ร้อยละ 6.66 และผลผลิตเฉลี่ย 5,424 กิโลกรัม/ไร่ ลดลงจากปีที่แล้ว ร้อยละ 2.01 เนื่องจากเกษตรกรปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชอื่น และพื้นที่ปลูกที่แซมในสวนยางลดลงเนื่องจากต้นยางโตขึ้นประกอบกับปรากฎการณ์เอลณ์นีโญสภาพอากาศไม่เหมาะสมต่อการบังคับผลผลิต และในบางแหล่งผลผลิตที่บังคับออกผลไม่สมบูรณ์ ทั้งนี้ ผลผลิตส่วนใหญ่ส่งโรงงานแปรรูป ร้อยละ 77 และบริโภคผลสด ร้อยละ 23  
             สำหรับภาคตะวันออก นับเป็นแหล่งผลิตสับปะรดอันดับ 2 ของประเทศ รองจากภาคตะวันตก ซึ่งแม้ภาคตะวันออก จะยังไม่เป็นแหล่งผลิตหลัก แต่ภาคตะวันออกได้มีการผลักดันและมีแนวทางการยกระดับความร่วมมือเกษตรมูลค่าสูงด้วยเศรษฐกิจฐานนวัตกรรมของสับปะรด เพื่อให้เกิดการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ได้คุณภาพมาตรฐาน พัฒนาตามหลัก BCG Economy และสอดรับตามแผนพัฒนาด้านสับปะรด พ.ศ. 2566 - 2570 โดยเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2567 ที่ผ่านมา สศท.6 ได้จัดการประชุมหารือความร่วมมือโครงการบูรณาการพัฒนาตอบโจทย์ความท้าทาย&สร้างโอกาส “เศรษฐกิจฐานนวัตกรรมสับปะรดภาคตะวันออกสู่อนาคต” และปัญหาโครงสร้างสับปะรดภาคตะวันออก โดยเป็นการบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคเกษตรกร และภาคการศึกษา ซึ่งจากการหารือมีประเด็นที่สำคัญและมีความท้าทายจากปัญหาโครงสร้างสับปะรดภาคตะวันออก ดังนี้ 1) การขยายตัวของที่อยู่อาศัยทำให้พื้นที่ปลูกสับปะรดลดลง 2) พื้นที่ปลูกบางพื้นที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์หรือพื้นที่ไม่เหมาะสม 3) พึ่งพาแรงงานจำนวนมาก 4) ต้นทุนการขนส่งสูง 5) ผลผลิตขาดความต่อเนื่อง 6) ความแปรปรวนสภาพภูมิอากาศส่งผลต่อปริมาณผลผลิต 7) การแพร่ระบาดโรค/แมลงศัตรูพืช มีข้อเสนอแนะจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ดังนี้ ภาคเอกชนเสนอแนวทางการบริหารเขตเกษตรพิเศษมี 3 ส่วน 1) เกษตรกร 2) โรงงาน 3) ภาครัฐ ภาคเกษตรกร การประสานความร่วมมือระหว่างภาคโรงงานกับภาคการผลิต ซึ่งโรงงานต้องวางแผน การผลิตร่วมกับเกษตรกรเพื่อความสอดคล้องในการส่งผลผลิตเข้าสู่โรงงาน ควรสนับสนุนมาตรฐาน Fair Trade ภาครัฐ เสนอพร้อมร่วมขับเคลื่อนสับปะรดผลสดให้เกิดการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต (Better Farm, Better Fruits) ในมุมมอง “เกษตรอุตสาหกรรม” โดยยกระดับผลผลิตต่อไร่และใช้จุลินทรีย์ PGPR,Liquid Organic Biofertilizer ควรสนับสนุนความร่วมมือระหว่างเกษตรกร ผู้จำหน่าย ผู้บริโภค นักลงทุนในการเพิ่มมูลค่า สร้างผลตอบแทน ยกระดับรายได้ เสนอโครงการบูรณาการพัฒนานวัตกรรมมาตรฐานผลิตภัณฑ์ผลสดไทยภาคตะวันออกปี 2024 - 2026 เพื่อสร้างบริบทพัฒนานวัตกรรม Platform การเรียนรู้ตลอดชีวิต สร้างเกษตรมูลค่าสูงสอดรับนโยบาย กษ. ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้ และนำกรอบการพัฒนาแบบ BCG Economy มาร่วมขับเคลื่อน ภาคการศึกษา ถ่ายทอดให้คนรุ่น Gen X และ Y มาสานต่อด้วยเทคโนโลยีการเรียนรู้ผ่าน Platform หลักสูตรอย่างมืออาชีพ และอยากให้พื้นที่ปลูกขยายไปปลูกจังหวัดสระแก้วเพราะจากโมเดลความร่วมมือแบบใหม่ต้องผสมผสาน BCG Economy ที่มีการเลี้ยงปศุสัตว์แปลงหญ้าอาหารสัตว์ ซึ่งจังหวัดสระแก้ว มีความพร้อมและมีพื้นที่ความเหมาะสมปลูกสับปะรดกว่า 2 ล้านไร่
            สรุปประเด็นการบูรณาการความร่วมมือฯ เห็นชอบแนวทางยกระดับความร่วมมือเกษตรมูลค่าสูงด้วยเศรษฐกิจฐานนวัตกรรมของสับปะรด เสมือนเป็นการขยายผลจาก Ignite Thailand: Agriculture Hub สู่ Ignite The Eastern of Thailand โดยนำร่องที่สินค้าสับปะรดเพิ่มเติม และพร้อมร่วมขับเคลื่อนสับปะรดผลสดให้เกิดการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต (Better Farm, Better Fruits) ร่วมขับเคลื่อนการผลิตในพื้นที่ที่เหมาะสมตามแผนที่ Agri-map รักษาฟื้นฟูพื้นที่เดิมและเสริมด้วยพื้นที่ใหม่ เพื่อให้เกิดสับปะรดผลสดคุณภาพดี มีมาตรฐาน หน่อพันธุ์ดี โดยใช้เทคโนโลยี/นวัตกรรมในการผลักดันมุ่งสู่คาร์บอนต่ำ สอดรับหลักการพัฒนาแบบ BCG Economy และสอดรับตามแผนพัฒนาด้านสับปะรด พ.ศ.2566 - 70 1) เชื่อมโยงตลาดล่วงหน้า 2) กระจายผลผลิต 3) ส่งเสริมการบริโภค 4) ส่งเสริมการแปรรูป และ 5) ส่งเสริมการผลิตสับปะรดเพื่อบริโภคสด
          ทั้งนี้ สศท.6 ได้เสนอแนวทางยกระดับความร่วมมือดังกล่าวเพื่อเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาแนวทาง การขับเคลื่อนการพัฒนาสับปะรดของคณะกรรมการนโยบายและพัฒนาสับปะรดแห่งชาติต่อไป และ สศท.6 มีแผนจัดประชุมหารือการขับเคลื่อนตามแนวทางความร่วมมือฯ ในภาคปฏิบัติกับหน่วยงานระดับพื้นที่ภาคตะวันออกต่อไป หากท่านใดที่สนใจสรุปผลการประชุมหารือดังกล่าว สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สศท.6 โทร 0 3835 2435 หรืออีเมล zone6@oae.go.th
******************************************************
ข่าว : ส่วนประชาสัมพันธ์ / ข้อมูล : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 6 ชลบุรี