- หน้าแรก
- ข่าวประชาสัมพันธ์
- รายละเอียดข่าว
จับตา GDP เกษตร Q3 หดตัวร้อยละ 0.7 จากปรากฏการณ์ เอลนีโญ-ลานีญา สศก. หั่นเป้าทั้งปี GDP เกษตรไทย อยู่ในช่วงร้อยละ (-0.8) – 0.2
ข่าวที่ 118/2567 วันที่ 21 ตุลาคม 2567
จับตา GDP เกษตร Q3 หดตัวร้อยละ 0.7 จากปรากฏการณ์ เอลนีโญ-ลานีญา
สศก. หั่นเป้าทั้งปี GDP เกษตรไทย อยู่ในช่วงร้อยละ (-0.8) – 0.2
นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงภาวะเศรษฐกิจการเกษตรในไตรมาส 3 ปี 2567 (กรกฎาคม - กันยายน 2567) หดตัวร้อยละ 0.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2566 โดยการผลิตสินค้าเกษตรบางส่วนในไตรมาส 3 ได้รับผลกระทบจากเอลนีโญ ส่งผลให้ปริมาณฝนน้อย และอากาศแห้งแล้ง และยังได้รับผลกระทบลานีญาที่เกิดขึ้นในเดือนกันยายน 2567 ทำให้มีมรสุมและฝนตกหนักต่อเนื่องในหลายพื้นที่ เกิดอุทกภัยน้ำป่าไหลหลากในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่งผลให้สาขาพืชและสาขาบริการทางการเกษตรยังคงหดตัวต่อเนื่องจากไตรมาส 2 เช่นเดียวกับสาขาประมง หดตัวเช่นเดียวกัน ขณะที่สาขาปศุสัตว์และสาขาป่าไม้ ยังขยายตัวได้ สำหรับรายละเอียดในแต่ละสาขา พบว่าสศก. หั่นเป้าทั้งปี GDP เกษตรไทย อยู่ในช่วงร้อยละ (-0.8) – 0.2
สาขาพืช หดตัวร้อยละ 0.4 จากปรากฏการณ์เอลนีโญที่ต่อเนื่องมาจนถึงช่วงเดือนเมษายน 2567 ทำให้สภาพอากาศร้อนจัดและแห้งแล้ง ส่งผลกระทบต่อการเพาะปลูกและการเจริญเติบโตของพืชบางส่วน ทำให้ผลผลิตพืชหลายชนิดลดลง แม้ว่าปรากฏการณเอลนีโญจะสิ้นสุดลงในเดือนมิถุนายน 2567 แต่การเข้าสู่ปรากฏการณ์ลานีญาในเดือนกันยายน 2567 ทำให้ประเทศไทยเผชิญกับมรสุมและมีฝนตกหนัก เกิดอุทกภัยในหลายพื้นที่ทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมทั้งสภาพอากาศที่มีความชื้นสูง ส่งผลต่อคุณภาพของผลผลิต และมีโรคพืชและแมลงรบกวน สำหรับสินค้าพืชที่มีผลผลิตลดลง ได้แก่ ข้าวนาปรัง มันสำปะหลัง ยางพารา ทุเรียน และเงาะ โดยข้าวนาปรัง ผลผลิตลดลง เนื่องจากในช่วงเพาะปลูกมีปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำและตามแหล่งน้ำธรรมชาติน้อยกว่าปีที่ผ่านมา ทำให้มีน้ำต้นทุนไม่เพียงพอ และภาครัฐขอความร่วมมือให้ลดการเพาะปลูกข้าวนาปรัง เกษตรกรบางพื้นที่จึงปล่อยที่นาให้ว่าง หรือปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชใช้น้ำน้อยหรือพืชผักแทน มันสำปะหลัง ผลผลิตลดลงตามเนื้อที่เก็บเกี่ยวที่ลดลง เนื่องจากเกษตรกรขาดแคลนท่อนพันธุ์จากสภาพอากาศที่แห้งแล้งและฝนทิ้งช่วง ท่อนพันธุ์ดีหายากและมีราคาสูง ทำให้เกษตรกรบางรายปล่อยพื้นที่ให้ว่างหรือเปลี่ยนไปปลูกพืชอื่น เช่น สับปะรด ยางพารา ข้าวโพดหวาน และข้าวโพดเมล็ดพันธุ์ นอกจากนี้ ยังพบการเกิดโรคใบด่างอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ผลผลิตต่อไร่ลดลง ยางพารา ผลผลิตลดลง เนื่องจากพื้นที่ปลูกในภาคใต้และภาคเหนือยังคงมีการระบาดของโรคใบร่วง ประกอบกับเกษตรกรในภาคใต้และภาคกลางบางส่วนมีการตัดโค่นต้นยางอายุมากเพื่อปรับเปลี่ยนไปปลูกไม้ผลและปาล์มน้ำมัน รวมถึงทั่วประเทศมีฝนตกชุก ทำให้จำนวนวันกรีดยางลดลง ทุเรียน ผลผลิตลดลงจากสภาพอากาศแห้งแล้ง ปริมาณน้ำไม่เพียงพอในช่วงออกดอก และในช่วงติดผลมีอากาศร้อนสลับฝนตกต่อเนื่อง ทำให้เกิดการแตกยอดอ่อนแทนการออกดอก ดอกบางส่วนแห้งฝ่อและหลุดร่วง ส่วนที่ติดผลแล้วบางส่วนเกิดการร่วงหล่นเสียหาย เงาะ ผลผลิตลดลงจากเนื้อที่ยืนต้นลดลงจากการโค่นต้นเงาะที่มีอายุมากและทรุดโทรม เพื่อเปลี่ยนไปปลูกพืชอื่นที่ให้ผลตอบแทนดีกว่า
สำหรับสินค้าพืชที่มีผลผลิตเพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าวนาปี ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ สับปะรดปัตตาเวีย ปาล์มน้ำมัน ลำไย และมังคุด โดย ข้าวนาปี ผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากในช่วงฤดูเพาะปลูกมีปริมาณน้ำฝนมากกว่าปีที่ผ่านมาจึงเพียงพอต่อการเพาะปลูก ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ผลผลิตเพิ่มขึ้นจากปริมาณฝนที่มีมากขึ้น ทำให้ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์รุ่น 1 เติบโตได้ดี อีกทั้งเกษตรกรมีความรู้ในการใส่ปุ๋ย บำรุงรักษาและป้องกันโรคได้ดีขึ้น ผลผลิตต่อไร่จึงเพิ่มขึ้น สับปะรดปัตตาเวีย ผลผลิตเพิ่มขึ้นจากปริมาณน้ำฝนที่เพิ่มขึ้น และราคาสับปะรดอยู่ในเกณฑ์ดี จูงใจให้เกษตรกรดูแลรักษา ปาล์มน้ำมัน ผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากในปี 2564 ราคาปาล์มอยู่ในเกณฑ์ดี เกษตรกรขยายพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันแทนยางพารา พื้นที่นาและพื้นที่รกร้าง ซึ่งเริ่มให้ผลผลิตในปี 2567 เป็นปีแรก ถึงแม้ว่าสภาพอากาศที่แห้งแล้งในปีที่ผ่านมาจะทำให้ต้นปาล์มบางส่วนไม่สมบูรณ์และออกทะลายลดลง แต่ผลผลิตโดยรวมยังคงเพิ่มขึ้น ลำไย ผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากราคาลำไยในปีที่ผ่านมาอยู่ในเกณฑ์ดี จูงใจให้เกษตรกรดูแลรักษา ทำให้มีการออกดอกและติดผลมากกว่าปีที่ผ่านมา และ มังคุด ผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากต้นมังคุดมีความสมบูรณ์มากขึ้นจากการได้พักต้นสะสมอาหารในปีที่ผ่านมา และสภาพอากาศในภาคใต้มีความเหมาะสมต่อการติดผล ผลผลิตจึงทยอยออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้น
สาขาปศุสัตว์ ขยายตัวร้อยละ 0.9 เนื่องจากความต้องการบริโภคสินค้าปศุสัตว์เพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศ ประกอบกับเกษตรกรมีการบริหารจัดการฟาร์มที่ได้มาตรฐานและมีการควบคุมเฝ้าระวังโรคได้ดี ขณะที่ต้นทุนการผลิตยังอยู่ในระดับสูง สินค้าปศุสัตว์ที่มีผลผลิตเพิ่มขึ้น ได้แก่ สุกร ผลผลิตเพิ่มขึ้นเล็กน้อย เนื่องจากฟาร์มสุกรมีมาตรฐานการผลิตที่ดี สามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไก่เนื้อ ผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีการผลิตเพิ่มขึ้นเพื่อรองรับความต้องการบริโภคของตลาดภายในประเทศและความต้องการนำเข้าเนื้อไก่และผลิตภัณฑ์จากต่างประเทศที่เพิ่มขึ้น สินค้าปศุสัตว์ที่มีผลผลิตลดลง ได้แก่ ไข่ไก่ ผลผลิตลดลง เนื่องจากการดำเนินมาตรการรักษาเสถียรภาพราคาไข่ไก่ โดยปรับลดปริมาณแม่ไก่ยืนกรงเพื่อให้ผลผลิตสอดคล้องกับความต้องการบริโภคภายในประเทศ น้ำนมดิบ ผลผลิตลดลง เนื่องจากต้นทุนการผลิตที่ยังอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะราคาอาหารข้น ทำให้เกษตรกรประสบภาวะขาดทุน ส่งผลให้เกษตรกรบางส่วนมีการปรับลดจำนวนโคที่เลี้ยงหรือเลิกกิจการ
สาขาประมง หดตัวร้อยละ 3.8 เนื่องจากสภาพอากาศแปรปรวนและต้นทุนการผลิตที่ยังอยู่ในระดับสูง ประกอบกับราคาสินค้าประมงลดลง ทำให้เกษตรกรชะลอการผลิต สินค้าประมงที่มีผลผลิตลดลง ได้แก่ กุ้งขาวแวนนาไม ผลผลิตลดลง เนื่องจากต้นทุนการผลิตที่อยู่ในระดับสูง และราคากุ้งตกต่ำ ประกอบกับความต้องการของตลาดต่างประเทศชะลอตัว ทำให้เกษตรกรชะลอการปล่อยลูกกุ้ง นอกจากนี้ พื้นที่เลี้ยงกุ้งบางส่วนได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ ซึ่งสร้างความเสียหายแก่บ่อเพาะเลี้ยงกุ้งของเกษตรกร เกษตรกรจึงลดเนื้อที่เพาะเลี้ยง สัตว์น้ำที่นำขึ้นท่าเทียบเรือ ผลผลิตลดลง เนื่องจากสภาพอากาศแปรปรวนและอุณหภูมิน้ำทะเลที่สูงขึ้น ประกอบกับราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งเป็นต้นทุนการผลิตหลักของการทำประมงทะเลปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้ผู้ประกอบการบางรายลดรอบการออกเรือจับสัตว์น้ำ ปลานิลและปลาดุก ผลผลิตลดลง เนื่องจากต้นทุนค่าอาหารปลาที่อยู่ในระดับสูง ทำให้เกษตรกรชะลอการเลี้ยง และลดปริมาณการปล่อยลูกปลา
สาขาบริการทางการเกษตร หดตัวร้อยละ 0.3 เนื่องจากในช่วงต้นฤดูเพาะปลูกอากาศร้อนและแห้งแล้ง หลายพื้นที่มีน้ำไม่เพียงพอต่อการเพาะปลูก และภาครัฐขอความร่วมมือให้ลดพื้นที่การปลูกข้าวนาปรัง เกษตรกรบางส่วนจึงปล่อยพื้นที่ให้ว่าง ประกอบกับสภาวะลานีญาในเดือนกันยายน 2567 ทำให้มีฝนตกหนักและน้ำท่วมในหลายพื้นที่ของภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เกิดความเสียหายต่อผลผลิตพืชและเป็นอุปสรรคต่อการเก็บเกี่ยวผลผลิต ส่งผลให้กิจกรรมการจ้างบริการเตรียมดินและเก็บเกี่ยวผลผลิตพืชที่สำคัญลดลง อาทิ ข้าวนาปี ข้าวนาปรัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และมันสำปะหลัง
สาขาป่าไม้ ขยายตัวร้อยละ 1.2 เนื่องจากผลผลิต ไม้ยูคาลิปตัส ครั่ง และรังนก เพิ่มขึ้น โดย ไม้ยูคาลิปตัส เพิ่มขึ้นตามความต้องใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตเยื่อกระดาษภายในประเทศ ประกอบกับเกาหลีใต้และญี่ปุ่นยังคงมีความต้องการอย่างต่อเนื่องเพื่อนำไปแปรรูปเป็นเชื้อเพลิงชีวมวล (wood pellet) สำหรับโรงไฟฟ้า ครั่ง เพิ่มขึ้นตามการส่งออกไปยังประเทศคู่ค้า โดยเฉพาะอินเดียและญี่ปุ่น รังนก เพิ่มขึ้นจากความต้องการของอุตสาหกรรมแปรรูปรังนกทั้งในและนอกประเทศ โดยเฉพาะประเทศจีน ขณะที่ไม้ยางพารา ลดลงตามพื้นที่เป้าหมายการตัดโค่นพื้นที่สวนยางพาราเก่าและปลูกทดแทนด้วยยางพาราพันธุ์ดีหรือพืชเศรษฐกิจอื่นของการยางแห่งประเทศไทย และ ถ่านไม้ ลดลง เนื่องจากมีการส่งออกไปยังตลาดจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ลดลง
แนวโน้มเศรษฐกิจการเกษตรในปี 2567 คาดว่าจะอยู่ในช่วงร้อยละ (-0.8) – 0.2 เมื่อเทียบกับปี 2566 เนื่องจากปรากฏการณ์เอลนีโญที่ทำให้เกิดความแห้งแล้งในช่วงครึ่งปีแรก และปรากฏการณ์ลานีญาในช่วงครึ่งปีหลังที่ทำให้เกิดอุทกภัย อย่างไรก็ตาม ปริมาณฝนที่มากขึ้นยังส่งผลดีต่อการเจริญเติบโตของพืชในภาพรวม ประกอบกับการส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม ยกระดับสินค้าเกษตรให้มีคุณภาพมาตรฐาน การบริหารจัดการน้ำ การเพิ่มช่องทางให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ข้อมูลเพื่อการวางแผน ตลอดจนการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติต่างๆ รวมถึงเศรษฐกิจในประเทศมีแนวโน้มขยายตัว โดยเฉพาะการบริโภคและการส่งออก ทำให้มีความต้องการสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ ยังคงต้องติดตามปัจจัยเสี่ยงหลายประการ อาทิ ความแปรปรวนของสภาพอากาศ การระบาดของโรคและแมลง ซึ่งอาจสร้างความเสียหายต่อผลผลิต รวมถึงปัจจัยภายนอก ทั้งความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ยืดเยื้อ และมาตรการกีดกันทางการค้าที่เข้มงวด ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์ของไทย โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะเดินหน้าขับเคลื่อนพัฒนาภาคเกษตรทั้งในระยะเร่งด่วนและระยะยาว มุ่งเน้นสร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกร เพื่อเพิ่มศักยภาพในการผลิต และทำการเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมทั้งเตรียมความพร้อมรองรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต เพื่อให้ภาคเกษตรเติบโตได้อย่างมีเสถียรภาพต่อไป
*******************************************
ข่าว : ส่วนประชาสัมพันธ์ / ข้อมูล : กองนโยบายและแผนพัฒนาการเกษตร