จ.มหาสารคาม ‘เมืองสมุนไพร’ (Herbal City) เกษตรกรรวมกลุ่มผลิตสมุนไพรระดับพรีเมี่ยม

ข่าวที่ 87/2567 วันที่ 24 กรกฎาคม 2567
จ.มหาสารคาม ‘เมืองสมุนไพร’ (Herbal City) เกษตรกรรวมกลุ่มผลิตสมุนไพรระดับพรีเมี่ยม
            นายนพดล ศรีพันธุ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 4 ขอนแก่น (สศท.4)  สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ดำเนินนโยบายที่สอดคล้องกับแผนแม่บทแห่งชาติว่าด้วยการพัฒนาสมุนไพรไทย ซึ่งเป็นหนึ่งในสินค้าเป้าหมายในการขับเคลื่อนการผลิตด้วยโครงการระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ เพิ่มขีดความสามารถในการผลิตพืชสมุนไพรให้ได้ผลผลิตที่มีทั้งปริมาณและคุณภาพได้มาตรฐานตรงตามความต้องการของตลาด เกิดการรวมกลุ่มของเกษตรกรเพื่อประโยชน์ด้านการผลิต การตลาด ผ่านกลไกบริหารจัดการร่วมกัน จังหวัดมหาสารคามนับเป็นแหล่งผลิตสมุนไพรสำคัญที่มีศักยภาพของประเทศ ได้รับการยกย่องให้เป็น 1 ใน 14 “เมืองสมุนไพร” (Herbal City) ของประเทศ เพื่อมุ่งผลิตสมุนไพรให้ได้มาตรฐาน มีคุณภาพระดับพรีเมี่ยม ยกระดับมาตรฐานอุตสาหกรรมสมุนไพรของประเทศให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล ภายใต้โครงการระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่พืชผัก/สมุนไพร ที่สนับสนุนให้เกษตรกรรวมกลุ่มผลิตและจำหน่ายสินค้าโดยมีตลาดรองรับที่แน่นอน ตลอดจนเพื่อให้เกษตรกรสามารถลดต้นทุนการผลิต ผลผลิตมีคุณภาพและได้มาตรฐาน
           สศท.4 ได้ติดตามสถานการณ์การผลิตของแปลงใหญ่สมุนไพร หมู่ 4 บ้านหนองป้าน ตำบลหนองคู อำเภอนาดูน จังหวัดมหาสารคาม เป็นกลุ่มที่ประสบความสำเร็จในการผลิตสมุนไพร เริ่มดำเนินเมื่อปี 2562 ได้มีการปรับเปลี่ยนวิธีการปลูกสมุนไพรเป็นแบบอินทรีย์และได้รับรองมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (Good Agricultural Practices: GAP) ตลอดจนมีการพัฒนากระบวนการผลิตด้วยการควบคุมการผลิตตั้งแต่ต้นน้ำ กำหนดอายุการเก็บเกี่ยวที่เหมาะสมเพื่อให้ได้สรรพคุณทางยา โดยกลุ่มได้ทำบันทึกความเข้าใจ (MOU) กับบริษัทฟาร์มแคร์ ฟาร์มาซูติคอล ภายใต้การกำกับดูแลของคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เพื่อพัฒนาคุณภาพผลผลิตของสมุนไพรด้วยการวิจัยและทดลอง พร้อมทั้งการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีคุณภาพและมาตรฐานมากยิ่งขึ้น ปัจจุบันทางกลุ่มมีพื้นที่ปลูกรวม 100 ไร่ สมาชิกเกษตรกร 50 ราย มีนางภูมิใจ หมอเมือง เป็นประธาน ซึ่งกลุ่มปลูกสมุนไพรรวม 7 ชนิด มีสินค้าที่สร้างมูลค่าสูงสุด 3 อันดับของกลุ่ม ได้แก่ ขมิ้นชัน ไพล และฟ้าทะลายโจร                 หากจำแนกต้นทุนการผลิตและผลตอบแทนของสมุนไพร 3 ชนิด ที่สร้างมูลค่าสูงสุด พบว่า ขมิ้นชัน ใน 1 ปี  สามารถผลิตได้ 1 รุ่น ต้นทุนการผลิตเฉลี่ย 15,769 บาท/ไร่/รุ่น ให้ผลผลิต 1,049 กิโลกรัม/ไร่/รุ่น ผลตอบแทนเฉลี่ย 22,377 บาท/ไร่/รุ่น ผลตอบแทนเฉลี่ยสุทธิ (กำไร) 6,608 บาท/ไร่/รุ่น ไพล การผลิต 1 รุ่น ใช้เวลาประมาณ 2 ปี ต้นทุนการผลิตเฉลี่ย 22,421 บาท/ไร่/รุ่น ให้ผลผลิต 1,766 กิโลกรัม/ไร่/รุ่น ผลตอบแทนเฉลี่ย 46,158 บาท/ไร่/รุ่น ผลตอบแทนเฉลี่ยสุทธิ (กำไร) 23,737 บาท/ไร่/รุ่น และฟ้าทะลายโจร ใน 1 ปี สามารถผลิตได้ 2 รุ่น ต้นทุนการผลิตเฉลี่ย 7,407 บาท/ไร่/รุ่น ให้ผลผลิต 2,707 กิโลกรัม/ไร่/รุ่น ผลตอบแทนเฉลี่ย 29,075 บาท/ไร่/รุ่น ผลตอบแทนเฉลี่ยสุทธิ (กำไร) 21,668 บาท/ไร่/รุ่น สถานการณ์ตลาด ผลผลิตสมุนไพรส่วนใหญ่ ร้อยละ 91.50 จำหน่ายให้กับบริษัทฟาร์มแคร์ฟาร์มาซูติคอล และร้อยละ 8.50 จำหน่ายให้กับลูกค้าทั่วไป ด้านการแปรรูป กลุ่มได้นำผลผลิตสมุนไพรมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ อาทิ ยาหม่องขมิ้นชัน ยาหม่องตะไคร้หอม ลูกประคบสมุนไพร ซึ่งในระยะต่อไปทางกลุ่มมีแผนจะพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ที่สามารถตอบโจทย์ผู้บริโภคที่ให้ความสำคัญกับเรื่องสุขภาพ
          “แปลงใหญ่สมุนไพร หมู่ 4 บ้านหนองป้าน ตำบลหนองคู อำเภอนาดูน จังหวัดมหาสารคาม มีการสร้างรายได้ด้วยการขยายกลุ่มลูกค้าพร้อมด้วยการรักษากลุ่มลูกค้าเดิมผ่านเครือข่ายพันธมิตรทางธุรกิจ เช่น ฟาร์มเครือข่าย การร่วมกิจกรรมกับหน่วยงานภาคี เช่น การออกบูธ จัดนิทรรศการ เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ ด้านสมุนไพรและร่วมจำหน่ายสินค้าการส่งเสริมให้กลุ่มมีการบริหารจัดการด้วยตัวเองเพื่อสร้างความยั่งยืนในอาชีพการปลูกสมุนไพร หากท่านใดสนใจข้อมูลการผลิตสมุนไพรของกลุ่ม สอบถามเพิ่มเติมได้ที่นางภูมิใจ หมอเมือง ประธานแปลงใหญ่ โทร 08 2115 7905 หรือสอบถามที่ สศท.4 โทร 0 4326 1513 อีเมล zone4@oae.go.th” ผู้อำนวยการ สศท.4 กล่าวทิ้งท้าย
 
*************************************************
ข่าว : ส่วนประชาสัมพันธ์
ข้อมูล : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 4 ขอนแก่น