สศก. ลงพื้นที่ กำแพงเพชร-ตาก ติดตามสถานการณ์ การผลิตและการตลาดถั่วเหลืองในพื้นที่


ข่าวที่ 142/2567 วันที่ 26 ธันวาคม 2567
 
สศก. ลงพื้นที่ กำแพงเพชร-ตาก ติดตามสถานการณ์ การผลิตและการตลาดถั่วเหลืองในพื้นที่
 
            นายเอกราช ตรีลพ ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเศรษฐกิจการเกษตร สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยถึงการลงพื้นที่สำรวจสถานการณ์การผลิตและการตลาดถั่วเหลืองในจังหวัดกำแพงเพชร และ ตาก ซึ่งเป็นพื้นที่ปลูกถั่วเหลืองที่สำคัญในภาคเหนือ โดยจากการลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์ถั่วเหลืองของสำนักวิจัยเศรษฐกิจการเกษตร ระหว่างวันที่ 16 - 18 ธันวาคม 2567 พบว่า ฤดูการผลิตปี 2567/2568 ทั้ง 2 จังหวัด มีพื้นที่ปลูกรวม 9,016 ไร่ (กำแพงเพชร 5,119 ไร่ และตาก 3,897 ไร่ ตามลำดับ) ลดลงจากฤดูการผลิตปี 2566/2567 ที่มีพื้นที่เพาะปลูกรวม 9,305 ไร่ (กำแพงเพชร 5,301 ไร่ และตาก 4,004 ไร่ ตามลำดับ) หรือลดลงภาพรวมคิดเป็นร้อยละ 3.11 เนื่องจากราคาปัจจัยการผลิตยังคงมีราคาสูง โดยเฉพาะค่าเมล็ดพันธุ์และค่ายาปราบศัตรูพืช จึงไม่จูงใจให้เกษตรกรขยายเนื้อที่เพาะปลูก ทำให้เกษตรกรบางรายลดเนื้อที่เพาะปลูกลง และปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชอื่น เช่น ข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และมันสำปะหลัง
           สถานการณ์ด้านการผลิต พบว่า เกษตรกรในจังหวัดตาก นิยมปลูกถั่วเหลืองพันธุ์เชียงใหม่ 60 ส่วนเกษตรกรในจังหวัดกำแพงเพชร นิยมปลูกถั่วเหลืองพันธุ์ศรีสำโรง โดยฤดูการผลิตปี 2567/2568 ผลผลิตรวมทั้ง 2 จังหวัด คาดว่ามีปริมาณ 2,402 ตัน (กำแพงเพชร 1,390 ตัน และตาก 1,012 ตัน) ลดลงจากฤดูการผลิตปี 2566/2567 ที่มีผลผลิตรวม 2,464 ตัน (กำแพงเพชร 1,434 ตัน และตาก 1,030 ตัน ตามลำดับ) หรือลดลงร้อยละ 2.52 ซึ่งผลผลิตลดลงตามพื้นที่เพาะปลูก ทั้งนี้ เกษตรกรส่วนใหญ่จะปลูกถั่วเหลืองรุ่น 2 โดยจะปลูกสลับกับข้าวนาปีช่วงเดือนธันวาคม 2567 - มีนาคม 2568 ในขณะที่เกษตรกรบางส่วนจะปลูกถั่วเหลืองรุ่น 1 เพื่อขายเป็นเมล็ดพันธุ์ ในการปลูกถั่วเหลืองรุ่น 2 โดยจะปลูกในช่วงเดือนสิงหาคม - ตุลาคม 2567
           สำหรับสถานการณ์ด้านการตลาด พบว่า เกษตรกรในจังหวัดกำแพงเพชร จำหน่ายถั่วเหลืองคละให้กับพ่อค้ารวบรวมในพื้นที่ ราคากิโลกรัมละ 18 - 20 บาท ในขณะที่เกษตรกรในจังหวัดตาก จำหน่ายถั่วเหลืองคละให้กับสหกรณ์การเกษตรบ้านตาก ราคากิโลกรัมละ 18 - 22 บาท ซึ่งราคาที่เกษตรกรขายได้จะขึ้นอยู่กับปริมาณความชื้นและคุณภาพของถั่วเหลือง นอกจากนี้ เกษตรกรบางส่วนที่มีการขายถั่วเหลืองเพื่อเป็นเมล็ดพันธุ์ในการปลูกถั่วเหลืองรุ่น 2 จะจำหน่ายให้กับเกษตรกรผู้ปลูกถั่วเหลืองในราคากิโลกรัมละ 27 - 30 บาท
           ทั้งนี้ จากการสัมภาษณ์เกษตรกรทั้ง 2 จังหวัด พบว่า ในปัจจุบันเกษตรกรประสบปัญหาราคาเมล็ดพันธุ์มีราคาสูง ซึ่งส่งผลต่อต้นทุนการผลิตถั่วเหลืองที่สูงขึ้น และการขาดแคลนเมล็ดพันธุ์ที่มีคุณภาพ ดังนั้น ควรมีแปลงผลิตเมล็ดพันธุ์ถั่วเหลืองเพื่อเกษตรกรไว้ใช้เองหรือเมล็ดพันธุ์ถั่วเหลืองที่ราคาไม่สูงจนเกินไป รวมถึงการวิจัยและพัฒนาพันธุ์ถั่วเหลืองที่ให้ผลผลิตต่อไร่สูง ซึ่งจะช่วยในการลดต้นทุนการผลิต และเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรผู้ปลูก ถั่วเหลือง เพื่อเป็นการสร้างแรงจูงใจให้เกษตรกรหันมาปลูกถั่วเหลืองเพิ่มขึ้น
 
******************************************************
ข่าว : ส่วนประชาสัมพันธ์
 ข้อมูล : สำนักวิจัยเศรษฐกิจการเกษตร