สศก. หารือร่วม AFBA แลกเปลี่ยนมุมมองเสริมสร้างความร่วมมือระดับภูมิภาค ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและราคาอาหารในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ข่าวที่ 5/2568 วันที่ 17 มกราคม 2568
สศก. หารือร่วม AFBA แลกเปลี่ยนมุมมองเสริมสร้างความร่วมมือระดับภูมิภาค
ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและราคาอาหารในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
               นางสาวกาญจนา ขวัญเมือง รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า สศก. ได้เข้าร่วมการประชุมวิชาการ ASEAN Food and Beverage Alliance’s Paper Launch and Discussion Event ภายใต้หัวข้อ “Climate Change and Food Prices in Southeast Asia” ซึ่งจัดโดยสมาพันธ์ผู้ประกอบการอาหารและเครื่องดื่มของอาเซียน (ASEAN Food and Beverage Alliance: AFBA) ร่วมกับสถาบันวิจัยเศรษฐกิจ Oxford Economics เพื่อหารือและให้ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเกี่ยวกับผลกระทบด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อความมั่นคงทางอาหาร ต้นทุนการผลิต อุปทานอาหาร และเสถียรภาพราคาอาหารในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เมื่อวันที่ 10-11 ธันวาคม 2567 ณ กรุงจาการ์ตา สาธารณรัฐอินโดนีเซีย และผ่านระบบการประชุมทางไกล โดยที่ประชุมนอกจากได้มีการแลกเปลี่ยนสถานการณ์ นโยบาย การดำเนินงานในปัจจุบัน และมุมมองด้านอุตสาหกรรมอาหารแล้ว ทางผู้แทนสถาบันวิจัยเศรษฐกิจ Oxford Economics ยังได้นำเสนอผลการศึกษา เรื่อง การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและราคาอาหารในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ฉบับปี 2024 (Climate Change and Food Prices in Southeast Asia: 2024 Update)
              ล่าสุด เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2568 ผู้แทนจากสมาพันธ์ผู้ประกอบการอาหารและเครื่องดื่มของอาเซียน (AFBA) ได้ขอหารือร่วมกับทาง สศก. ในประเด็นข้อค้นพบจากรายงานผลการศึกษา เรื่อง การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและราคาอาหารในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในประเด็นความมั่นคงทางอาหาร การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สภาวการณ์ของอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม และการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment: FDI) ที่ส่งผลกระทบต่อประเทศไทย ซึ่ง สศก. โดยกองเศรษฐกิจการเกษตรระหว่างประเทศ และสำนักวิจัยเศรษฐกิจการเกษตร ได้ให้การต้อนรับ Mr. Yogendran Subramanium ผู้แทนจากสมาพันธ์ผู้ประกอบการอาหารและเครื่องดื่มของอาเซียน (AFBA) และได้แลกเปลี่ยนมุมมองร่วมกัน
             โอกาสนี้ สศก. ได้ให้ข้อคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ด้านความมั่นคงทางอาหารของไทย ซึ่งปัจจุบันไทยมีเครื่องมือเพื่อประเมินความสามารถในการพึ่งพาตนเองด้านอาหาร โดยพิจารณาจาก อัตราการพึ่งพาตนเอง (Self-Sufficiency Ratio: SSR) ซึ่งเป็นตัวชี้วัดที่แสดงถึงสัดส่วนของปริมาณผลผลิตที่ผลิตได้ในประเทศเทียบกับปริมาณผลผลิตที่ต้องใช้บริโภคภายในประเทศ พบว่า ในภาพรวมไทยมีอัตราการพึ่งพาตนเองด้านอาหารสูง เนื่องจากสามารถผลิตอาหารได้มากกว่าความต้องการบริโภค รวมถึงมีกลไกขับเคลื่อนการดำเนินงานเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงทางอาหาร อาทิ แผนปฏิบัติการด้านการจัดการด้านอาหารของประเทศไทย ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2566-2570) และปฏิทินผลผลิตสินค้าเกษตรรายเดือน (Monthly Agricultural Crop Calendar)
           นอกจากนี้ มีการแลกเปลี่ยนในประเด็นนโยบายและผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในภาคเกษตร เช่น ผลผลิตลดลง ปัญหาด้านโรคพืชและแมลง การเปลี่ยนแปลงฤดูเพาะปลูก เป็นต้น ซึ่งไทยมีมาตรการรองรับในเรื่องดังกล่าว โดยจัดทำแผนปฏิบัติการด้านการเกษตรเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ.2566-2570 และโครงการต่างๆ ภายใต้หน่วยงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อาทิ การจัดตั้งศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) การขยายพื้นที่ชลประทานเป็น 40 ล้านไร่ การประกันภัยข้าวนาปี การบริหารจัดการพื้นที่ภายใต้แผนที่เกษตรเพื่อการบริหารจัดการเชิงรุก (Agri-Map) ตลอดจนการศึกษาวิจัยด้านการเกษตรที่ดำเนินการโดย สศก. อีกด้วย
            ทั้งนี้ รายงานดังกล่าว จัดทำโดยสถาบันวิจัยเศรษฐกิจ Oxford Economics ซึ่งได้ทำการศึกษาสถานการณ์อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มในภูมิภาคอาเซียนจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ใน 5 ประเทศ ได้แก่ ไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม โดยพบว่า หากอุณหภูมิโดยเฉลี่ยเพิ่มขึ้นร้อยละ 1 จะส่งผลให้ต้นทุนการผลิตอาหารของประเทศเพิ่มขึ้นตามร้อยละ 1 - 2 ยกเว้นฟิลิปปินส์ที่เพิ่มขึ้นมากที่สุดถึงร้อยละ 6 นอกจากนี้ การเก็บภาษีคาร์บอน การเปลี่ยนไปใช้พลังงานสะอาด และมาตรการด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ภายในปี 2050 นั้น จะส่งผลกระทบต่อต้นทุนเชื้อเพลิงและไฟฟ้า รวมถึงต้นทุนการผลิตอาหารเพิ่มขึ้น ถึงร้อยละ 31 - 59 รวมทั้งได้ให้ข้อเสนอแนะแก่รัฐบาลของประเทศอาเซียนในประเด็นการลดข้อจำกัดด้านการลงทุนเพื่อดึงดูดการลงทุน FDI จากนักลงทุนต่างชาติ และการผลักดันการลงทุนเกษตรกรรมอัจฉริยะด้านสภาพภูมิอากาศ (Climate Smart Agriculture: CSA)
            “ที่ผ่านมา สศก. ได้มีส่วนร่วมขับเคลื่อนกลไกด้านความมั่นคงทางอาหารของอาเซียนมาอย่างต่อเนื่อง โดยผ่าน APTERR (ASEAN Plus Three Emergency Rice Reserve) ในฐานะหน่วยงานหลักของไทย มีเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเป็นผู้แทนไทยในคณะมนตรี APTERR รวมถึงได้สนับสนุนสถานที่ตั้งสำนักเลขานุการ บริจาคเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัย อาทิ เหตุพายุนาร์กีส (ปี 2553) พายุไห่เยี่ยน (ปี 2557) และสนับสนุนเงินทุนดำเนินงานของ APTERR ปีละ 8,000 เหรียญสหรัฐตั้งแต่ปี 2556 จนถึงปัจจุบัน รวมถึงเป็นหน่วยงานบริหารจัดการและดำเนินโครงการ AFSIS (ASEAN Food Security Information System) (โดยการสนับสนุนจากประเทศบวกสาม) ซึ่งจัดตั้งขึ้นโดยความร่วมมือของประเทศสมาชิก ASEAN+3 ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางข้อมูลความมั่นคงด้านอาหารของประเทศสมาชิกอาเซียน และสนับสนุนระบบข้อมูลความมั่นคงด้านอาหารในภูมิภาค รวมถึงผลักดันให้ AFSIS เป็นกลไกที่มีความยั่งยืนในระยะยาว” รองเลขาธิการ สศก. กล่าว
******************************************************
ข่าว : ส่วนประชาสัมพันธ์ / ข้อมูล : กองเศรษฐกิจการเกษตรระหว่างประเทศ