- หน้าแรก
- ข่าวประชาสัมพันธ์
- รายละเอียดข่าว
สศท.6 เผยผลพยากรณ์ ไม้ผลภาคตะวันออก ปี 68 คาด ผลผลิตรวม 4 ชนิด เพิ่มขึ้น ย้ำ ยังคงต้องติดตามปัจจัยสภาพอากาศแปรปรวนและปริมาณน้ำที่อาจกระทบต่อผลผลิต
ข่าวที่ 136/2567 วันที่ 11 ธันวาคม 2567
สศท.6 เผยผลพยากรณ์ ไม้ผลภาคตะวันออก ปี 68 คาด ผลผลิตรวม 4 ชนิด เพิ่มขึ้น
ย้ำ ยังคงต้องติดตามปัจจัยสภาพอากาศแปรปรวนและปริมาณน้ำที่อาจกระทบต่อผลผลิต
นางสาวนริศรา เอี่ยมคุ้ย ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 6 ชลบุรี (สศท.6) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยถึงผลการจัดทำข้อมูลการผลิตและประมาณการผลผลิตไม้ผลภาคตะวันออก ครั้งที่ 1 ปี 2568 (ข้อมูล ณ 3 ธันวาคม 2567) โดย สศท.6 และศูนย์สารสนเทศการเกษตร สศก. ร่วมกับคณะทำงานย่อยเพื่อพัฒนาระบบข้อมูลและโลจิสติกส์ภาคตะวันออก ติดตามสถานการณ์การออกดอกติดผลของไม้ผลภาคตะวันออก 4 ชนิด ได้แก่ ทุเรียน มังคุด เงาะ ลองกอง ในพื้นที่ 3 จังหวัด ได้แก่ จันทบุรี ระยอง ตราด โดยคาดการณ์ปี 2568 มีปริมาณผลผลิตรวม 1,367,648 ตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2567 ที่มีจำนวน 979,066 ตัน (เพิ่มขึ้น 388,582 ตัน หรือร้อยละ 39.69) เนื่องจากในปีที่ผ่านมาได้รับผลกระทบจากปรากฏการณ์เอลนีโญ สภาพอากาศไม่เอื้ออำนวยต่อการออกดอกติดผลของไม้ผล ทำให้ปีนี้ออกดอกติดผลเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ คาดว่าผลผลิตจะเริ่มออกสู่ตลาดตั้งแต่ปลายเดือนกุมภาพันธ์ ต่อเนื่อง ถึง เดือนกันยายน 2568 ซึ่งผลผลิตจะออกสู่ตลาดมากที่สุดในเดือนพฤษภาคม 2568ย้ำ ยังคงต้องติดตามปัจจัยสภาพอากาศแปรปรวนและปริมาณน้ำที่อาจกระทบต่อผลผลิต
สำหรับเนื้อที่ยืนต้นของไม้ผลทั้ง 4 ชนิด มีจำนวน 993,629 ไร่ เพิ่มขึ้นจากปี 2567 ที่มีจำนวน 958,418 ไร่ (เพิ่มขึ้น 35,211 ไร่ หรือร้อยละ 3.67) โดยเนื้อที่ยืนต้นทุเรียนเพิ่มขึ้น ร้อยละ 5.83 ในขณะที่ลองกอง มังคุด เงาะ ลดลงร้อยละ 2.54 2.27 และ 1.36 ตามลำดับ โดยเกษตรกรปรับเปลี่ยนจากพืชอื่น เช่น ยางพารา มังคุด เงาะ ลองกอง ลำไย ปาล์มน้ำมัน และพื้นที่ว่างเปล่ามาปลูกทุเรียนทดแทน จากปัจจัยด้านราคาและผลตอบแทนที่จูงใจต่อการลงทุน รวมทั้งความต้องการของตลาดทั้งภายในประเทศและต่างประเทศที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื้อที่ให้ผลของไม้ผลทั้ง 4 ชนิด มีจำนวน 744,660 ไร่ เพิ่มขึ้นจากปี 2567 ที่มีจำนวน 680,936 ไร่ (เพิ่มขึ้น 63,724 ไร่ หรือร้อยละ 9.36) โดยเนื้อที่ให้ผลทุเรียนเพิ่มขึ้น ร้อยละ 16.16 ในขณะที่ลองกอง มังคุด เงาะ ลดลงร้อยละ 2.65 2.34 และ 0.90 ตามลำดับ โดยเกษตรกรโค่น สาง ต้นลองกอง มังคุด เงาะ ที่เคยให้ผลผลิตเพื่อปรับเปลี่ยนไปปลูกทุเรียนทดแทนและเพื่อให้สวนผสมมีช่องว่างระหว่างแถวให้ต้นทุเรียนได้รับการสังเคราะห์แสงได้มากขึ้น ผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ ทุเรียน มังคุด เงาะ คาดว่าเพิ่มขึ้นเนื่องจากปีที่ผ่านมาสภาพอากาศแปรปรวน และในหลายพื้นที่ได้รับผลกระทบจากปริมาณน้ำไม่เพียงพอ ทำให้การสร้างผลไม่สมบูรณ์ จึงได้พักต้นสะสมอาหาร ปีนี้ต้นสมบูรณ์มากขึ้นจึงออกดอกติดผลมากขึ้น และอายุต้นอยู่ในช่วงที่ให้ผลผลิตสูง ในขณะที่ลองกอง คาดว่าลดลงจากเกษตรกรดูแลน้อยลง โดยเน้นดูแลทุเรียน มังคุด เงาะ มากกว่า เนื่องจากเป็นที่ต้องการของตลาด และการส่งออก ส่งผลให้ผลผลิตรวม ทุเรียน มังคุด และเงาะ เพิ่มขึ้น โดยทุเรียนเพิ่มขึ้นมากที่สุด ร้อยละ 53.42 เนื่องจากทุเรียนที่ปลูกในระยะ 4-5 ปีที่ผ่านมาเริ่มให้ผลผลิตเป็นปีแรกเพิ่มขึ้นกว่า 71,372 ไร่ อีกทั้งทุเรียนเป็นพืชเศรษฐกิจที่มีผลตอบแทนจูงใจต่อการลงทุนเกษตรกรจึงดูแลรักษา เอาใจใส่อย่างเต็มที่เพื่อให้ได้ผลผลิตเพิ่มขึ้น รองลงมาได้แก่ เงาะ เพิ่มขึ้นร้อยละ 20.71 และมังคุด เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.89 ในขณะที่ ลองกอง ลดลงร้อยละ 4.17
ด้านสถานการณ์ภาพรวม ขณะนี้ ทุเรียน ออกดอกแล้วร้อยละ 54 ส่วนใหญ่อยู่ในระยะไข่ปลา/ตาปู และระยะเหยียดตีนหนู เริ่มเข้าสู่ระยะมะเขือพวงโดยทุเรียนที่จะเริ่มเก็บเกี่ยวได้ก่อน คือทุเรียนพันธุ์เบาและทุเรียนที่บังคับสารออกดอก โดยจะเป็นพันธุ์กระดุม พันธุ์หมอนทอง พันธุ์พวงมณี ผลผลิตทยอยออกสู่ตลาดตั้งแต่ปลายเดือนกุมภาพันธ์ ถึง เดือนกรกฎาคม 2568 ผลผลิตทุเรียนออกมากที่สุดในเดือนพฤษภาคม 2568 สำหรับ มังคุด ยังไม่ออกดอก ยังอยู่ในระยะเตรียมใบ ใบเพสลาด เตรียมพร้อมออกดอก หากสภาพอากาศเหมาะสมคาดว่าจะเริ่มทยอยออกดอกระยะปากนกแก้วในเดือนธันวาคม 2567 ผลผลิตทยอยออกสู่ตลาดตั้งแต่เดือนเมษายน ถึง เดือนกรกฎาคม 2568 ผลผลิตมังคุดออกมากที่สุดในเดือนพฤษภาคม 2568 เงาะ ยังไม่ออกดอก อยู่ในระยะเตรียมต้น เตรียมใบ สะสมอาหาร เตรียมพร้อมพัฒนาการออกดอก คาดว่าในช่วงปลายเดือนธันวาคม 2567 ถึง เดือนมกราคม 2568 จะเห็นความชัดเจนของพัฒนาการออกดอกของเงาะมากขึ้น ผลผลิตจะทยอยออกสู่ตลาดตั้งแต่เดือนเมษายน ถึง เดือนสิงหาคม 2568 ผลผลิตเงาะจะออกมากที่สุดในเดือนพฤษภาคม ต่อเนื่องถึงเดือนมิถุนายน 2568 ลองกอง ยังไม่ออกดอก เนื่องจากยังมีฝนตกในช่วงเดือนตุลาคม ถึง เดือนพฤศจิกายน 2567 ทำให้ลองกองใบยังเขียว ใบไม่สลด ยังไม่พร้อมออกดอก โดยเกษตรกรส่วนใหญ่จะปลูกลองกองแซมพืชอื่น การปลูกแบบสวนเดี่ยวมีเหลือน้อย ทำให้การดูแลรักษาเพื่อกระตุ้นการออกดอกทำได้ค่อนข้างยาก เนื่องจากลองกองจะออกดอกได้ดี เมื่อต้นมีสภาพที่ใบสลดขาดน้ำ การปลูกแซมกับพืชอื่นที่จะต้องให้น้ำ ทำให้ต้นลองกองได้รับน้ำตลอด คาดว่าในช่วงเดือนมกราคม 2568 จะเห็นความชัดเจนของพัฒนาการออกดอกของลองกองมากขึ้น ผลผลิตจะทยอยออกสู่ตลาดตั้งแต่เดือนเมษายน ถึง เดือนกันยายน 2568 ผลผลิตลองกองจะออกมากที่สุดช่วงเดือนมิถุนายนต่อเนื่องถึงเดือนกรกฎาคม 2568
อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและแนวโน้มที่ปริมาณน้ำอาจไม่เพียงพอในหลายพื้นที่ในปี 2568 ยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อปริมาณและคุณภาพผลผลิตของไม้ผล 3 จังหวัดภาคตะวันออก ทั้งนี้ แนะนำเกษตรกรเตรียมความพร้อมรับมือใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ กักเก็บน้ำ ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการบริหารจัดการน้ำให้เพียงพอ รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งบูรณาการวางแผนจัดสรรน้ำเพื่อรองรับสถานการณ์การผลิตไม้ผลภาคตะวันออกตลอดฤดูกาลเก็บเกี่ยว สำหรับท่านที่สนใจสามารถสอบถามข้อมูลไม้ผลภาคตะวันออก เพิ่มเติมได้ที่ สศท.6 ชลบุรี โทร 0 3835 2435 หรืออีเมล zone6@oae.go.th
*********************************************
ข่าว : ส่วนประชาสัมพันธ์ / ข้อมูล : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 6 ชลบุรี