- หน้าแรก
- ข่าวประชาสัมพันธ์
- รายละเอียดข่าว

สศก. เปิดเวทีสัมมนา ขับเคลื่อนการพัฒนาการเกษตรมุ่งเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน SDGs

ข่าวที่ 18/2568 วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2568
สศก. เปิดเวทีสัมมนา ขับเคลื่อนการพัฒนาการเกษตรมุ่งเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน SDGs
นายวินิต อธิสุข รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยถึงผลการจัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “การขับเคลื่อนการพัฒนาการเกษตรเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs)” ซึ่ง สศก. โดย กองนโยบายและแผนพัฒนาการเกษตร จัดขึ้นเมื่อวันที่ 30 มกราคม 2568 ณ โรงแรม Best Western Plus Wanda Grand จังหวัดนนทบุรีสำหรับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ได้กำหนดเป้าหมายการพัฒนาไว้จำนวน 17 เป้าหมาย 169 เป้าหมายย่อย 264 ตัวชี้วัด เพื่อให้เป็นกรอบการพัฒนาของโลกในการบรรลุการพัฒนาทางสังคมเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลและยั่งยืนโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังภายในปี 2573 ภายใต้ 5 มิติการพัฒนา (5P) ได้แก่ การพัฒนาคน (People) สิ่งแวดล้อม (Planet) เศรษฐกิจและความมั่งคั่ง (Prosperity) สันติภาพและความยุติธรรม (Peace) และความเป็นหุ้นส่วนการพัฒนา (Partnership) ทั้งนี้ ประเทศไทย ได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อน พร้อมกำหนดให้การพัฒนาที่ยั่งยืนทั้ง 17 เป้าหมาย เชื่อมโยงกับแผน 3 ระดับของประเทศ รวมถึงมีกลไกการขับเคลื่อนการดำเนินงานตั้งแต่ระดับนโยบาย ระดับหน่วยงาน จนถึงระดับพื้นที่ด้วยเช่นกัน
สศก. ในฐานะหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้ทำหน้าที่เป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลัก (Custodian 1: C1) เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เป้าหมายที่ 2 ยุติความหิวโหย บรรลุความมั่นคงทางอาหารและยกระดับโภชนาการ และส่งเสริมเกษตรกรรมที่ยั่งยืน (SDG 2) มีหน้าที่รายงานผลการดำเนินงานการขับเคลื่อน ตรวจสอบปัญหาและอุปสรรค รวมทั้งประสานงานกับหน่วยงานรับผิดชอบหลักในการจัดเก็บข้อมูลเป้าหมายย่อย (Custodian 2: C2) ทั้งหน่วยงานในและนอกสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อร่วมกันผลักดันให้เกิดการขับเคลื่อนการดำเนินงานให้บรรลุเป้าหมายตามที่กำหนดไว้ และเป็นไปในทิศทางเดียวกัน จึงได้จัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้ขึ้น เพื่อให้เจ้าหน้าที่ทั้งภายในและภายนอกสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีความรู้ความเข้าใจ ปรับใช้ในการจัดทำแผนงาน/โครงการของหน่วยงานเพื่อสนับสนุนและผลักดันการพัฒนาการเกษตรให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ภายในปี 2573
การสัมมนาฯ ได้มีการบรรยายให้ความรู้เกี่ยวกับ “การขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืนในภาพรวมของประเทศไทย” โดยนางสาวจิดาภา จิตสัมพันธเวช ผู้แทนสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และการบรรยาย “การขับเคลื่อนการพัฒนาการเกษตรเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน” โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ชล บุนนาค ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ SDG Move (Centre for SDG Research and Support SDG Move) ซึ่งในปี 2567 ทาง UN-ESCAP (United Nations Economic and Social Commission for Asia and the Pacific) ได้ประเมินผลการดำเนินงาน SDGs ระดับภูมิภาคพบว่า มี 135 เป้าหมายย่อย จากทั้งหมด 169 เป้าหมายย่อย ที่สามารถประเมินความก้าวหน้าได้ โดยในระดับโลกมีเพียงร้อยละ 17และในระดับภูมิภาค มีเพียงร้อยละ 11 ที่มีแนวโน้มบรรลุเป้าหมายภายในปี 2573 และคาดการณ์ว่า หากไม่เร่งรัดการขับเคลื่อนการดำเนินงาน SDGs จะทำให้บรรลุเป้าหมายได้ในปี 2605 หรือล่าช้ากว่าที่กำหนด 32 ปี โดยสาเหตุสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินงาน เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ
สำหรับภาคการเกษตร ถือเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสร้างความมั่นคงทางอาหาร
ของประเทศ ซึ่งเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ SDGs ที่เกี่ยวข้องกับภาคการเกษตร นอกจาก SDG เป้าหมายที่ 2 แล้ว ยังเชื่อมโยงกับ SDG เป้าหมายที่ 1 ขจัดความยากจน SDG เป้าหมายที่ 4 การศึกษาที่มีคุณภาพ SDG เป้าหมายที่ 5 ความเท่าเทียมทางเพศ SDG เป้าหมายที่ 6 น้ำสะอาดและสุขาภิบาล SDG เป้าหมายที่ 7 พลังงานสะอาดที่เข้าถึงได้ SDG เป้าหมายที่ 8 งานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ SDG เป้าหมายที่ 9 โครงสร้างพื้นฐานนวัตกรรมและอุตสาหกรรม SDG เป้าหมายที่ 12 การผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน SDG เป้าหมายที่ 13 การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ SDG เป้าหมายที่ 14 ทรัพยากรทางทะเล SDG เป้าหมายที่ 15 ระบบนิเวศบนบก และ SDG เป้าหมายที่ 17 ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
นอกจากนี้ ในส่วนของการเสวนา เรื่อง “ปลุกพลังภาคีเกษตรไทย สู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน” โดยเกษตรกรผู้ดำเนินธุรกิจที่สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ประกอบด้วย 1) นางสาวนฤมล ทักษอุดม กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฮิลล์คอฟฟ์ จำกัด จังหวัดเชียงใหม่ ผู้ดำเนินธุรกิจกาแฟครบวงจร 2) นายอำนาจ เรียนสร้อย เจ้าของแทนคุณ ออร์แกนิคฟาร์ม จังหวัดนครปฐม ผู้ดำเนินธุรกิจฟาร์มไก่เนื้อและไก่ไข่ออร์แกนิค 3) นายวานิชย์ วันทวี เจ้าของ ว. ทวีฟาร์ม จังหวัดขอนแก่น ผู้ดำเนินธุรกิจเลี้ยงสุกรแบบไบโอไดนามิค และ 4) นายสุรพล กลิ่นขจรไกล เกษตรกรในโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงบ้านแม่แฮหลวง อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ผู้นำเกษตรกรผู้ปลูกเสาวรสหวาน ซึ่งสรุปข้อเสนอแนะในการขับเคลื่อน SDGs ในระดับพื้นที่ ดังนี้
- นโยบายภาคเกษตร ควรกำหนดนโยบายให้เหมาะสมกับสินค้าและบริบทของแต่ละพื้นที่ เช่น นโยบายสำหรับเกษตรกรที่มีการเพาะปลูกบนพื้นที่ราบ นโยบายสำหรับเกษตรกรที่มีการเพาะปลูกบนพื้นที่ลาดชันหรือ
- บนพื้นที่สูง 2) ระเบียบและข้อกำหนดในการขออนุญาตต่าง ๆ พบว่า บางส่วนยังมีขั้นตอนที่ซับซ้อน ไม่เอื้อต่อเกษตรกรรายย่อย ประกอบกับเจ้าหน้าที่ผู้ให้บริการรวมถึงผู้ให้คำแนะนำมีปริมาณจำกัด มีค่าใช้จ่ายในการดำเนินการสูงส่งผลให้ต้นทุนต่อสินค้าเพิ่มขึ้นทำให้ผู้บริโภคอาจเข้าไม่ถึงสินค้า 3) ภาครัฐควรมีการบูรณาการระหว่างองค์กรให้มากขึ้น ส่งผลให้การใช้ข้อมูลและการจัดเก็บข้อมูลของแต่ละหน่วยงานไม่ใช่ฐานข้อมูลเดียวกัน และ 4) ควรส่งเสริมความรู้ในการจัดการพื้นที่อย่างเหมาะสม สามารถสร้างผลผลิตต่อพื้นที่อย่างเต็มประสิทธิภาพและมีคุณภาพสูง
และสร้างช่องทางการตลาดให้เกษตรกรและผู้บริโภคให้มากขึ้น
***********************************************
ข่าว : ส่วนประชาสัมพันธ์
ข้อมูล : กองนโยบายและแผนพัฒนาการเกษตร
ข้อมูล : กองนโยบายและแผนพัฒนาการเกษตร