ศสส. ร่วมกับสวศ. และสศท.1 ลงพื้นที่ Cutting ถั่วเหลือง ในจังหวัดเชียงใหม่ และแม่ฮ่องสอน

             วันที่ 1 - 3 พฤศจิกายน 2565 นางพัชรารัตน์ ลิ้มศิริกุล ผู้อำนวยการศูนย์สารสนเทศการเกษตร ร่วมกับ นายกฤช เอี่ยมฐานนท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการแปรรูปสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตร สำนักวิจัยเศรษฐกิจการเกษตร และนายธวัชชัย เดชาเชษฐ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 1 ลงพื้นที่จัดเก็บข้อมูลผลผลิตต่อไร่ และผลผลิตตกหล่นถั่วเหลือง ในจังหวัดเชียงใหม่ และแม่ฮ่องสอน ด้วยวิธีตั้งแปลงเก็บเกี่ยวผลผลิตต่อไร่ (Crop Cutting) เพื่อเก็บเกี่ยว สี ชั่งน้ำหนัก วัดความชื้น คำนวณผลผลิตต่อไร่ และผลผลิตที่ตกหล่นในแปลงเทียบระหว่างการเก็บเกี่ยวด้วยแรงงานคนกับการใช้เครื่องจักร โดยพบว่า จ.เชียงใหม่ ศูนย์วิจัยพืชไร่เชียงใหม่ ถั่วเหลืองพันธุ์เชียงใหม่ 60 จากวิธี Cutting และเดินสุ่ม ได้ผลผลิตต่อไร่ 228 กิโลกรัม จากบริเวณที่ผลผลิตดี ได้ผลผลิตต่อไร่ 400 กิโลกรัม ณ ความชื้น 15% สถานการณ์การผลิตปีนี้ (2565) ปลูกล่าช้าเนื่องจากฝนตกตลอด และน้ำมากเกินความต้องการ จ.แม่ฮ่องสอน อ.ปาย ปลูกถั่วเหลืองพันธุ์ตาแดง ผลผลิตต่อไร่จากการเดินสุ่ม 863 - 900 กิโลกรัม ที่ความชื้น 15% ปีนี้ผลผลิตดี ปริมาณน้ำเพียงพอ โดยปลูกถั่วเหลืองช่วงเดือนกรกฎาคม เก็บเกี่ยวปลายเดือนตุลาคม ตามด้วยปลูกกระเทียม ช่วงเดือนพฤศจิกายน - เมษายน และปลูกปอเทือง ในช่วงฤดูฝนเพื่อไถกลบเป็นปุ๋ยพืชสด สำหรับผลผลิตตกหล่นเปรียบเทียบแรงงานคนและเครื่องจักรพบว่า แรงงานคนมีผลผลิตตกหล่นน้อยมาก 0 - 0.5% (ใช้คนเกี่ยวและมัดกองรวม) ในขณะที่รถแทรกเตอร์เกี่ยวและสี ยังมีผลผลิตตกหล่นค่อนข้างสูง เกือบ 30% แต่การใช้แรงงานคนค่อนข้างแพงคือ ค่าจ้างเกี่ยวและมัดกองไร่ละ 1,200 - 1,300 บาท ค่าสีเพื่อให้ได้เมล็ดกิโลกรัมละ 1 บาท รถเกี่ยวไร่ละ 600 บาท ค่าจ้างเท่ากับค่าเกี่ยวและสีข้าว ดังนั้นควรมีการศึกษาเรื่องการใช้เครื่องจักรทดแทนแรงงานคน เพื่อหาแนวทางลดต้นทุนการผลิต รวมทั้งศึกษาเรื่องการเพิ่มผลผลิต เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มมากขึ้น ลดการนำเข้าจากต่างประเทศ สามารถพึ่งพาการผลิตถั่วเหลืองในประเทศได้อย่างเพียงพอ นำไปสู่ความมั่นคงทางอาหารต่อไป

แหล่งข้อมูล

https://www.facebook.com/OAEpublic/posts/pfbid02b3fwps15jyZdTMzwcPgWM4hAAKXhiFnMLJpoNxHrskSkcLU7PHUjKVaTcDGTHs6yl