ผอ.สศท. 10 ร่วมงานเปิดปฏิบัติการแก้ไข้ปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอสีคางดำ

    วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2567 นางสาวศิริพร จูประจักษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 10 จังหวัดราชบุรี ร่วมงานเปิดปฏิบัติการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอสีคางดำ
ที่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศในแหล่งน้ำธรรมชาติ ณ วัดศรีสุทธาราม (วัดกำพร้า) ตำบลบางหญ้าแพรก อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร โดยมี ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
เป็นประธานในพิธีเปิดงาน และมีนายประยูร อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง นายวรณัฎฐ์ หนูรอต รองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และประชาชนในพื้นที่ ให้การต้อนรับและร่วมกิจกรรม
    ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมประมง ได้ลงพื้นที่รับฟังและหารือแนวทางการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของเกษตรกรและชาวประมงในจังหวัดสมุทรสาครเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา โดยเฉพาะปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอสีคางดำ ซึ่งแพร่ระบาดในแหล่งน้ำสาธารณะและในบ่อเลี้ยงสัตว์น้ำของเกษตรกร ทำให้สัตว์น้ำพื้นถิ่นได้รับผลกระทบต่อการเจริญเติบโต ระบบนิเวศแหล่งน้ำ และที่อยู่อาศัย โดยกรมประมงได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอสีคางดำขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อวางแผนและกำหนดมาตรการในการควบคุม ป้องกัน และแก้ไขปัญหา รวมถึงประสานความร่วมมือกับหน่วยงานในพื้นที่ สร้างความรู้ความเข้าใจแก่ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง และขับเคลื่อนนโยบายไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมและเกิดการสร้างความตระหนักรู้แก่เกษตรกร ชาวประมงและบุคคลทั่วไปในวงกว้าง นอกจากนี้ กรมประมงยังได้มีการจัดทำร่างมาตรการและการดำเนินงานเพื่อแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอสีคางดำ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการควบคุม ป้องกัน และกำจัดประชากรปลาหมอสีคางดำ ทั้งระยะสั้นและระยะยาว ด้วยการควบคุมการรุกรานของปลาหมอสีคางดำในพื้นที่ที่พบมีการรุกรานแล้ว พร้อมติดตามประเมินและป้องกันการรุกรานของปลาหมอสีคางดำในพื้นที่ที่ยังไม่ถูกรุกราน อีกทั้งยังได้มีการบังคับใช้กฎหมายโดยอาศัยการมีส่วนร่วมจากภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องด้วย
    ด้าน นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง กล่าวเพิ่มเติมว่า การแพร่ระบาดของปลาหมอสีคางดำได้สร้างความเสียหายต่อผลผลิตในบ่อเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของเกษตรกรและส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อระบบนิเวศ เนื่องจากเป็นปลาที่มีการปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมและทนต่อการเปลี่ยนแปลงความเค็มของน้ำได้ดี ทำให้พบการแพร่ขยายพันธุ์อย่างรวดเร็วในแหล่งน้ำกว่า 13 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดสมุทรสงคราม สมุทรปราการ เพชรบุรี กรุงเทพมหานคร จันทบุรี ระยอง ราชบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช สงขลา และสมุทรสาครที่มีการระบาดอย่างมาก ซึ่งการจัดงานในวันนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการสร้างเครือข่ายชาวประมงและเกษตรกรในการกำจัดปลาหมอสีคางดำด้วยเครื่องมือประมงที่มีประสิทธิภาพและเหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ ร่วมกับการปล่อยปลาผู้ล่า เช่น ปลากะพงขาว ในแหล่งน้ำที่พบการแพร่ระบาดเพื่อควบคุมและลดจำนวนประชากรปลาหมอสีคางดำขนาดเล็กที่พบในธรรมชาติและมีการหลุดรอดเข้าไปในบ่อเลี้ยงของเกษตรกรอย่างเป็นรูปธรรม
    สำหรับกิจกรรมภายในงาน มีการมอบธงสัญลักษณ์ให้แก่ชาวประมงเรืออวนรุนที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้กับสำนักงานประมงจังหวัดแล้ว จำนวน 23 ราย มีการปล่อยขบวนเรืออวนรุนที่เข้าร่วมโครงการฯ การสาธิตวิธีการใช้อวนรุนในการกำจัดปลาหมอสีคางดำ และปล่อยพันธุ์ปลากะพงขาว 60,000 ตัว พร้อมกันในพื้นที่นำร่อง 5 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดสมุทรสาคร สมุทรสงคราม สมุทรปราการ เพชรบุรี และกรุงเทพมหานคร