สศท.8 ร่วมบูรณาการหน่วยงานในพื้นที่ เตรียมรับมืออุทกภัย อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช พื้นที่ประสบภัยพิบัติซ้ำซาก

ข่าวที่  107/2564  วันที่ 8 พฤศจิกายน 2564
สศท.8 ร่วมบูรณาการหน่วยงานในพื้นที่ เตรียมรับมืออุทกภัย อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช
พื้นที่ประสบภัยพิบัติซ้ำซาก
            นางพัชรารัตน์ ลิ้มศิริกุล ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 8 สุราษฎร์ธานี (สศท.8) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า สศท.8 ได้ดำเนินการศึกษาการบริหารจัดการพื้นที่ประสบภัยพิบัติซ้ำซาก กรณีศึกษาอำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ท้าทายจากปัญหาอุทกภัยซ้ำซาก เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำ รองรับน้ำจากพื้นที่อื่นก่อนไหลออกสู่แม่น้ำปากพนังและระบายออกสู่ทะเลอ่าวไทย อีกทั้งปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินไปมาก ช่วงที่มีปริมาณน้ำฝนมากและน้ำทะเลหนุนสูง จะเกิดน้ำท่วมขังนานและส่งผลกระทบวงกว้างมากขึ้น โดยในปี 2563   เหตุการณ์อุทกภัยในพื้นที่อำเภอปากพนัง มีพื้นที่ประสบภัยพิบัติในอำเภอปากพนังครอบคลุม 17 ตำบล มีประชาชนได้รับความเดือนร้อน 60,010 คน หรือคิดเป็น 18,849 ครัวเรือน และมีพื้นที่เกษตรที่ได้รับความเสียหายจำนวนมาก โดยเฉพาะพื้นที่ปลูกข้าวนาปีประมาณ 800-900 ไร่ ได้รับความเสียหายสิ้นเชิงคิดเป็นมูลค่าประมาณ 2.9 ล้านบาท
            สำหรับการเตรียมพร้อมรับมืออุทกภัยซ้ำซาก ปี 2564 นั้น ซึ่งคาดว่าจะเกิดอุทกภัยช่วงเดือนพฤศจิกายน - ธันวาคม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมชลประทาน เป็นหน่วยงานหลักได้มีแผนการบริหารจัดการน้ำ โดยเบื้องต้นได้นำเครื่องมือ และเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาใช้ในการดำเนินการในพื้นที่ โดยเป็นระบบการพัฒนาการบริหารจัดการข้อมูลเพื่อการชลประทานและเครื่องมือตรวจวัดต่างๆ รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ได้ร่วมบูรณาการด้านการวางแผนและสนับสนุนเครื่องมืออุปกรณ์ในการป้องกันและเผชิญเหตุอุทกภัยในพื้นที่อย่างจริงจังเพื่อลดผลกระทบจากอุทกภัยซ้ำซากระยะยาว อาทิ ส่งเสริมการวิจัยและผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพที่เหมาะสมกับพื้นที่ เช่น พันธุ์ กข.41 พันธุ์ไข่มดริ้น 3 และพันธุ์เล็บนกแก้ว เป็นต้น ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ยังได้เสนอแนะให้เกษตรกรปรับช่วงเวลาการเพาะปลูกเพื่อลดผลกระทบและความเสียหายจากอุทกภัย โดยเลื่อนการเพาะปลูกไปเป็นช่วงเดือนมกราคมถึงกลางพฤษภาคม 2565 และสำหรับเกษตรกรในพื้นที่ที่ประสบอุทกภัย สามารถแจ้งผู้นำหมู่บ้านและเจ้าหน้าที่เกษตรประจำตำบล เพื่อรับเรื่องและให้ความช่วยเหลือเบื้องต้น รวมถึงเกษตรกรควรติดตามข่าวสาร การแจ้งเตือนจากหน่วยงานของรัฐอย่างใกล้ชิดเพื่อเป็นการเตรียมพร้อมรับมือและเฝ้าระวัง นอกจากนี้ ยังได้เตรียมการสร้างประตูระบายน้ำเพิ่ม 2 ช่อง และเครื่องสูบน้ำ 2 เครื่อง เพื่อติดตั้งประจำที่ประตูระบายน้ำบางไทร ซึ่งจะเริ่มดำเนินการปีงบประมาณ 2565
            ผู้อำนวยการ สศท.8 กล่าวเพิ่มเติมว่า สศท.8 ได้ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์และได้ร่วมระดมความคิดเห็นกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในพื้นที่ ได้แก่ หน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ ผู้นำท้องถิ่น รวมทั้งตัวแทนเกษตรกรและกลุ่มผู้ใช้น้ำ ในการรับฟังประเด็นปัญหาที่เกิดในปีที่ผ่านมา และข้อเสนอแนะต่อแนวทางบริหารจัดการเชิงพื้นที่และสินค้าเกษตรสำคัญในพื้นที่ประสบภัยพิบัติซ้ำซาก อำเภอปากพนัง โดยการวิเคราะห์ศักยภาพพื้นที่ตามหลักการพัฒนาที่ยั่งยืน ใน 3 มิติ พบว่า ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ครัวเรือนเกษตรตัวอย่างมีพื้นที่ถือครองเฉลี่ย 18 ไร่ โดยส่วนใหญ่ ไม่มีปัญหาของดินร้อยละ 94 และมีปัญหาของดิน (ดินเปรี้ยว ดินปนทราย ดินเป็นกรด) เพียงร้อยละ 6 ซึ่งสินค้าเกษตรสำคัญในพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นข้าว ปาล์มน้ำมัน และยางพารา พื้นที่ที่มีศักยภาพในการเพาะปลูกข้าวมากที่สุดรวม 60,150.51 ไร่ โดยส่วนใหญ่ร้อยละ 99.9 มีความเหมาะสมสูง (S1,S2) จำนวน 60,092.72 ไร่ และพื้นที่ไม่เหมาะสม (S3,N) เพียง 57.79 ไร่ จึงควรส่งเสริมการเพาะปลูกข้าวโดยใช้พันธุ์และช่วงเวลาที่เหมาะสม ด้านเศรษฐกิจ ครัวเรือนเกษตรในพื้นที่มีรายได้เงินสดสุทธิเฉลี่ย 192,595 บาท/ปี แบ่งเป็นรายได้เงินสดสุทธิทางการเกษตรเฉลี่ย 127,533 บาท/ปี และรายได้เงินสดสุทธินอกการเกษตรเฉลี่ย 65,062 บาท/ปี และด้านสังคม สมาชิกในครัวเรือนมีจำนวนเฉลี่ย 3-4 คน/ครัวเรือน และส่วนใหญ่ร้อยละ 94 เข้าร่วมเป็นสมาชิกของกลุ่มต่างๆ อาทิ กลุ่มเกษตรกร กองทุนหมู่บ้าน และกลุ่มอื่นๆ
            ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดการขยายผลด้านการบริหารจัดการในพื้นที่ประสบอุทกภัยซ้ำซากในพื้นที่ลุ่มต่ำหรือมีลักษณะใกล้เคียงกัน ทุกภาคส่วนควรเน้นการทำงานแบบบูรณาการร่วมกัน โดยชุมชนมีส่วนร่วม และใช้กลไกลคณะทำงานบริหารจัดการภัยพิบัติ คณะทำงานบริหารจัดการพื้นที่และสินค้าฯ ระดับจังหวัด เพื่อวางแผนและขับเคลื่อนงานตามกรอบการพัฒนาอย่างยั่งยืนให้เป็นรูปธรรมและต่อเนื่อง ตลอดจนการส่งเสริมการผลิตสินค้าเกษตรทางเลือกที่มีอนาคต (Future Crop) เช่น ส้มโอ มะพร้าวน้ำหอม กล้วยหอมทอง และแพะ โดยสนับสนุนองค์ความรู้และเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่และความต้องการของเกษตรกร ซึ่ง สศท.8 พร้อมจะสนับสนุนข้อมูลและร่วมบูรณาการกับหน่วยงานทั้งในและนอกสังกัดกระทรวงเกษตรฯ ให้เป็นรูปธรรมต่อไป หากท่านใดที่สนใจข้อมูลภาวะเศรษฐกิจสังคมครัวเรือนในพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สศท.8 สุราษฎร์ธานี โทร 0 7731 1597  หรืออีเมล์ zone8@oae.go.th
 
************************************************
 ข่าว : ส่วนประชาสัมพันธ์ / ข้อมูล : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 8 สุราษฎร์ธานี