เกษตรฯ มั่นใจ ไม่มีสินค้าเกษตรทะลักเข้าไทย ผ่านเส้นทางรถไฟลาว-จีน เตรียมพร้อมทุกด้าน กำชับเจ้าหน้าที่ ตรวจสอบทั้งด้านคุณภาพ และปฏิบัติตามระเบียบอย่างรัดกุม

ข่าวที่ 122/2564 วันที่ 17 ธันวาคม 2564
เกษตรฯ มั่นใจ ไม่มีสินค้าเกษตรทะลักเข้าไทย ผ่านเส้นทางรถไฟลาว-จีน
เตรียมพร้อมทุกด้าน กำชับเจ้าหน้าที่ ตรวจสอบทั้งด้านคุณภาพ และปฏิบัติตามระเบียบอย่างรัดกุม
              นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร และโฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงกรณีกระแสข่าวพบปัญหาการทะลักเข้ามาของสินค้าเกษตรโดยเฉพาะผักและผลไม้จีน หลังจากเปิดเส้นทางรถไฟลาว-จีน ว่าข้อมูลดังกล่าวไม่เป็นความจริง โดยนับจากเปิดเที่ยวปฐมฤกษ์ เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2564  กระทรวงเกษตรฯ ได้ตรวจสอบข่าวจากทั้งหน่วยงานในกระทรวง รวมถึงหน่วยงานในจังหวัดแล้ว ขอยืนยันว่า ไม่ได้มีสินค้าทะลักมาตามที่ข่าวกล่าวอ้างแต่อย่างใด และยังไม่มีผู้ประกอบการมาติดต่อขอนำสินค้าเกษตรจำนวนมากผิดปกติ โดยจากรายงาน มีเพียงทางจีนได้มีทดลองขนส่งผักมาไทย จำนวน 33 ตู้ เป็นผักเมืองหนาว รวมปริมาณ 600 ตัน มูลค่า 8.026 ล้านบาท ซึ่งเป็นการเปลี่ยนเส้นทางขนส่งจากรถบนเส้นทาง R3A มาเป็นรถไฟ เนื่องจากการจราจรด่านโมฮ่านของจีน ค่อนข้างแออัดเป็นอย่างมาก จึงเป็นเพียงการเปลี่ยนเส้นทางขนสินค้าเท่านั้น สำหรับการส่งออกสินค้าเกษตรไทยไปจีนผ่านด่านรถไฟโม่ฮาน ยังไม่สามารถใช้งานได้ เนื่องจากอยู่ระหว่างรอการตรวจรับสถานที่ควบคุมตรวจสอบเฉพาะสำหรับสินค้านำเข้า โดยคาดว่าจะสามารถใช้งานได้ในเดือนเมษายน 2565
              “ในเรื่องดังกล่าว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน) ไม่ได้นิ่งนอนใจ โดยได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมความพร้อมในทุกด้านทั้งการดำเนินงานภายใต้ Fruit Board ประสานทูตเกษตร สมาคมและสมาพันธ์ผู้ให้บริการโลจิสติกส์ของไทย กลุ่มผู้ประกอบการส่งออกสินค้าเกษตร และหน่วยงานเกี่ยวข้องทุกภาคส่วน พร้อมกำชับเจ้าหน้าที่ในสังกัดที่ประจำด่าน เข้มงวดเรื่องการตรวจสอบคุณภาพ และดำเนินการตามระเบียบอย่างเคร่งครัด สำหรับกรณีเกิดการลักลอบสินค้าเกษตรเข้ามาอย่างผิดกฎหมาย และเจ้าหน้าที่เกษตร ตรวจพบเจอ จะสามารถดำเนินการจับกุมได้ทันที อีกทั้งยังได้มีการประสานงาน ร่วมมือกับหน่วยงานความมั่นคงที่ดูแลรับผิดชอบบริเวณด่านชายแดนอย่างใกล้ชิด ตลอดจนประชาสัมพันธ์คุณภาพผลไม้ไทย และส่งเสริมการบริโภคผลไม้ไทยในประเทศพร้อมทั้งผลักดันการส่งออกผลไม้ไปยังต่างประเทศ” นายฉันทานนท์ กล่าว
            ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรฯ ได้เตรียมความพร้อมและอยู่ระหว่างเตรียมการส่งออก ผัก ผลไม้ รวมทั้ง กล้วยไม้ และยางพาราบนเส้นทางรถไฟไทย-จีน-ลาว โดยมีการแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อจัดทำแผนปฏิบัติการรองรับการเปิดให้บริการเส้นทาง รถไฟ สาย ไทย-ลาว-จีน ซึ่งกำหนดแนวทางการพัฒนา 4 ด้าน ประกอบด้วย 1) การเตรียมความพร้อมของด่านและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น   2) การเตรียมความพร้อมด้านบุคลากร/อัตรากำลังประจำด่านเพื่อให้สามารถให้บริการได้เพียงพอ 3) การพัฒนาและเชื่อมโยงระบบเทคโนโลยีสารสนเทศที่เชื่อมต่อกับหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องด้านการ นำเข้า-ส่งออก (เช่น ระบบ NSW และการพัฒนาระบบให้รองรับการชำระค่าธรรมเนียมผ่านทาง e-payment เป็นต้น 4) ปรับปรุงกฎระเบียบ วิธีปฏิบัติรองรับการให้บริการส่งออก-นำเข้า ณ จุดผ่านแดนในระยะยาว
              นายภัสชญภณ หมื่นแจ้ง รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์)  ได้กำชับและสั่งการให้กรมวิชาการเกษตรติดตามสถานการณ์ อย่างใกล้ชิด ซึ่งกรมวิชาการเกษตร พบว่า การนำเข้าผัก ผลไม้จากจีนอย่างใกล้ชิด โดยด่านตรวจพืชหนองคาย ได้ดำเนินการตรวจการนำเข้าอย่างเข้มงวดตามที่กฎหมายกำหนด โดย การนำเข้าสินค้าเกษตรทางรถไฟ เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2564 พบว่า มีการนำเข้าสินค้าตระกูลกะหล่ำ 32 รายการจำนวน 462 ตัน มูลค่า 8.27 ล้านบาท และบัวหิมะ 25.5 ตัน มูลค่า 467,032 บาท รวมทั้งสิ้น 33 ตู้ ปัจจุบัน ยังไม่มีการนำเข้ามาทางรถไฟเพิ่ม เนื่องจากรอการรวบรวมสินค้าเกษตรกลุ่มธัญพืช และอื่น ๆ ให้เต็มทั้ง 33 ตู้ ส่งกลับออกไปขายให้กับพ่อค้าจีน กรณีการนำเข้าผลไม้จากจีนนั้น ไม่สามารถนำเข้าผ่านด่านหนองคายได้เนื่องจากไม่ได้อยู่ในข้อกำหนด ในพิธีสารไทยจีน โดยในพิธีสารไทย-จีนกำหนดด่านที่นำเข้าส่งออกผลไม้จากจีน-ไทย ได้มี เพียง 5 ด่านเท่านั้น ได้แก่ ด่านเชียงของ ด่านนครพนม ด่านมุกดาหาร ด่านผักกาดจันทบุรี และด่านบึงกาฬ
 
*********************************
ข่าว : ส่วนประชาสัมพันธ์
ข้อมูล : กองนโยบายและแผนพัฒนาการเกษตร