เร่งสกัดโรคใบร่วงยาง สศท.9 เผยสถานการณ์ระบาดในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส แจ้งเตือนเกษตรกรเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด

ข่าวที่ 15/2565  วันที่ 26 มกราคม 2565
เร่งสกัดโรคใบร่วงยาง สศท.9 เผยสถานการณ์ระบาดในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส
แจ้งเตือนเกษตรกรเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด
 
            นายไพฑูรย์ สีลาพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 9 สงขลา (สศท.9) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยถึงสถานการณ์การระบาดของโรคใบร่วงชนิดใหม่ในยางพาราในพื้นที่จังหวัดนราธิวาสว่า ปัจจุบันจังหวัดนราธิวาสมีพื้นที่ปลูกยางพารา จำนวน 929,888 ไร่ (คิดเป็นร้อยละ 58 ของพื้นที่การเกษตรทั้งหมดในจังหวัด) ซึ่งจากรายงานการยางแห่งประเทศไทยจังหวัดนราธิวาส (ข้อมูล ณ วันที่ 10 มกราคม 2565) พบการระบาดซ้ำในพื้นที่ จำนวน 13 อำเภอ รวมพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายทั้งสิ้น จำนวน 753,698 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 81 ของพื้นที่ปลูกยางพาราทั้งหมดในจังหวัด เกษตรกรได้รับผลกระทบจำนวน 66,281 ราย
            สำหรับอำเภอที่พบการระบาดมากที่สุด คือ อำเภอสุคิริน ซึ่งพบการระบาด 76,800 ไร่  (คิดเป็นร้อยละ 100 ของพื้นที่ปลูกยางทั้งหมดในอำเภอ) รองลงมา คือ อำเภอระแงะ พบการระบาด 96,759 ไร่ (ร้อยละ 93 ของพื้นที่ปลูกยางในอำเภอ)  อำเภองี่งอ พบการระบาด 29,725 ไร่ (ร้อยละ 92 ของพื้นที่ปลูกยางในอำเภอ) และอำเภอบาเจาะ พบการระบาด 21,799 ไร่  (ร้อยละ 90 ของพื้นที่ปลูกยางในอำเภอ)
             สำหรับแผนการดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหาการระบาดโรคใบร่วงชนิดใหม่ในยางพาราของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) โดยใช้กลไกของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กพต.) ในปีงบประมาณ 2565 ประกอบด้วย 1) โครงการพัฒนาอาชีพชาวสวนยางพารารายย่อย เพื่อความยั่งยืนในพื้นที่ปลูกยางที่ได้รับผลกระทบจากโรคใบร่วงชนิดใหม่ในยางพารา เป้าหมายในพื้นที่ระบาดนราธิวาส ยะลา ปัตตานี และสงขลา จำนวนทั้งสิ้น 19,500 ไร่  2) โครงการช่วยเหลือและเร่งฟื้นฟูสวนยางพาราที่ประสบปัญหาการระบาดของโรคใบร่วงชนิดใหม่ในยางพาราในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ผลิตสารชีวภัณฑ์นำไปใช้ในสวนยางพาราพื้นที่เป้าหมาย 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดนราธิวาส ปัตตานี และสงขลา จำนวน 12,000 ไร่ 3) โครงการประชาสัมพันธ์และการสร้างการรับรู้ เรื่องโรคใบร่วงชนิดใหม่ เพื่อสามารถบริหารจัดการแก้ไขปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ 4) โครงการสำรวจ เฝ้าระวัง และแจ้งเตือนการเกิดโรคใบร่างในต้นยางพารา และ 5) โครงการทดสอบพันธุ์ยางขั้นปลาย จำนวน 110 ไร่ เพื่อหาพันธุ์ยางที่มีความต้านทานโรคใบร่วงชนิดใหม่และให้ผลผลิตสูง เป็นต้น
          “สถานการณ์การระบาดของโรคใบร่วงชนิดใหม่ในยางพาราในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส  ทางการยางแห่งประเทศไทยจังหวัดนราธิวาส รวมถึงการยางแห่งประเทศไทยในจังหวัดต่างๆ ในพื้นที่ภาคใต้ที่พบการระบาดได้ดำเนินการ ลงพื้นที่สำรวจข้อมูล แจ้งเตือนเกษตรกรเฝ้าระวัง พร้อมให้คำแนะนำแก่เกษตรกร โดยในส่วนของ สศท.9 ได้ร่วมประชุมคณะกรรมการบริหารศูนย์ติดตามและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านการเกษตร จังหวัดนราธิวาส เพื่อติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดอย่างใกล้ชิด และ หากเกษตรกรในจังหวัดนราธิวาส ที่ประสบปัญหาการระบาดหรือสงสัยว่ายางพาราที่ปลูกเป็นโรคดังกล่าวให้รีบติดต่อ การยางแห่งประเทศไทยสาขาจังหวัดนราธิวาส โทร. 0 7351 4745 สำนักงานเกษตรอำเภอเมืองนราธิวาส โทร.0 7353 2221 และสำนักงานเกษตรจังหวัดนราธิวาส โทร. 0 7353 2222 หรือ สศท.9 โทร 0 7431 2996 ซึ่งพร้อมจะร่วมประสานงานและให้คำแนะนำเพื่อช่วยเหลือให้กับเกษตรกรผู้ปลูกยางทุกท่าน” ผู้อำนวยการ สศท.9 กล่าว 
           ทั้งนี้ โรคใบร่วงยางชนิดใหม่  พบการระบาดครั้งแรกที่ประเทศอินโดนีเซีย ในปี 2559 ประเทศมาเลเซีย ในปี 2560 และระบาดที่ภาคใต้ตอนล่างของประเทศไทย ในช่วงเดือนกันยายน ปี 2562 จนถึงปัจจุบัน โดยกระแสลม และสภาพแวดล้อมที่มีลักษณะคล้ายคลึงกัน คือร้อนชื้นและฝนตกชุก ต้นยางที่มีอายุมากและขนาดใหญ่จะได้รับผลกระทบที่รุนแรงกว่าต้นยางอายุน้อยขนาดเล็ก  ลักษณะอาการจะปรากฏบนใบยางแก่ เมื่อเริ่มแสดงอาการจะปรากฏเป็นรอยซ้ำ ๆ เป็นกลุ่มซึ่งจะเห็นชัดเจนด้านหลังใบ หลังจากนั้นจะแสดงอาการเป็นวงค่อนข้างกลมสีเหลือง ต่อมาเนื้อเยื่อรอยสีเหลืองจะตายแห้ง เป็นแผลกลมสีสนิม โดยมักพบอาการจุดแผลต่อใบยางมากกว่า 1 แผล แนวก้างปลา อาจจะลุกลามซ้อนกันจนเป็นแผลขนาดใหญ่ จากนั้นใบยางจะเหลืองและร่วงในที่สุด อาการของโรคจะรุนแรงและใบร่วงมากหลังมีฝนตกหนักติดต่อกันอย่างน้อย 2 วัน     ซึ่งจะมีผลกระทบต่อการเจริญเติบโตและผลผลิตน้ำยาง เนื่องจากมีใบร่วงมากกว่าร้อยละ 90 ทำให้ปริมาณผลผลิตลดลงร้อยละ 30 – 50 และพบในทุกพันธุ์ยางที่ปลูกในพื้นที่ ได้แก่พันธุ์ RRIM 600 พันธุ์ RRIT 251 และพันธุ์ PB 311 เป็นต้น
************************************************
            ข่าว : ส่วนประชาสัมพันธ์  / ข้อมูล : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 9 สงขลา