เกษตรฯ ลุยโครงการสร้างความเข้มแข็งกลุ่มการผลิตด้านการเกษตรเป็นปีที่ 2 ด้าน สศก. เผยผลติดตามไตรมาส 1 ของกลุ่มเกษตรกรเป้าหมายทั่วประเทศ

ข่าวที่ 23/2565  วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2565
เกษตรฯ ลุยโครงการสร้างความเข้มแข็งกลุ่มการผลิตด้านการเกษตรเป็นปีที่ 2
ด้าน สศก. เผยผลติดตามไตรมาส 1 ของกลุ่มเกษตรกรเป้าหมายทั่วประเทศ
 
           นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า การสร้างความเข้มแข็งให้แก่สถาบันเกษตรกรและเศรษฐกิจฐานราก เป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์   โดยในปีงบประมาณ 2565 กระทรวงเกษตรฯ ได้ดำเนินโครงการสร้างความเข้มแข็งกลุ่มการผลิตด้านการเกษตร โดยเป็นโครงการหนึ่งภายใต้แผนงานบูรณาการเศรษฐกิจฐานราก มีกรมหม่อนไหม และกรมส่งเสริมการเกษตร เป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลัก จะดำเนินการถ่ายทอดองค์ความรู้และมอบปัจจัยสนับสนุน ตามความต้องการของเกษตรกรแต่ละกลุ่ม เป้าหมายกลุ่มเกษตรกร 559 กลุ่ม 77 จังหวัดทั่วประเทศ เพื่อให้กลุ่มเกษตรกรมีความเข้มแข็ง รวมกลุ่มกันผลิตสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น  พึ่งพาตนเองได้ตามวิถีเศรษฐกิจพอเพียง แบ่งเป็น กลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหม 20 กลุ่ม กลุ่มส่งเสริมอาชีพการเกษตร 154 กลุ่ม กลุ่มยุวเกษตรกร 154 กลุ่ม และกลุ่มแม่บ้านเกษตรกร 231 กลุ่ม
          ในการนี้ สศก. ได้ติดตามความคืบหน้าการดำเนินโครงการฯ ช่วงไตรมาส 1 (ตุลาคม – ธันวาคม 2564) พบว่า สามารถดำเนินการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพกลุ่มเกษตรกรได้จำนวน 98 กลุ่ม (ร้อยละ 18 ของเป้าหมาย 559 กลุ่ม)  โดยส่งเสริมความเข้มแข็งกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหม จำนวน 6 กลุ่ม (ร้อยละ 30 ของเป้าหมาย) ด้วยการถ่ายทอดองค์ความรู้ตามความต้องการของกลุ่ม อาทิ การวางแผนการผลิต การแปรรูป การปลูกหม่อนเลี้ยงไหม การทอผ้าและการตลาด  กลุ่มส่งเสริมอาชีพการเกษตร จำนวน 32 กลุ่ม (ร้อยละ 21 ของเป้าหมาย) ดำเนินการถ่ายทอดองค์ความรู้ เช่น การออกแบบบรรจุภัณฑ์ ทักษะการบริหารจัดการธุรกิจเกษตร การจัดทำบัญชี การจัดทำแผนธุรกิจ และการตลาด กลุ่มยุวเกษตรกร จำนวน 25 กลุ่ม (ร้อยละ 16 ของเป้าหมาย) ดำเนินการถ่ายทอดองค์ความรู้เรื่อง การบริหารจัดการกลุ่ม การบริหารทุนและทรัพยากร การพัฒนาความรู้และความสามารถของสมาชิก กระบวนการพัฒนาสินค้าและบริการ และสาธารณประโยชน์/การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และ กลุ่มแม่บ้านเกษตรกร จำนวน 35 กลุ่ม (ร้อยละ 15 ของเป้าหมาย) ดำเนินการถ่ายทอดองค์ความรู้เรื่อง กระบวนการผลิตอาหารปลอดภัย การป้องกันกำจัดศัตรูพืช การวิเคราะห์ศักยภาพกลุ่ม การจัดทำแผนการผลิตรายบุคคล/กลุ่ม เพื่อการถนอมและแปรรูปอาหารเพื่อบริโภคและเพิ่มรายได้
           “นอกจากการอบรมถ่ายทอดความรู้ ให้กับกลุ่มเกษตรกรแล้ว หน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ จะดำเนินการสนับสนุนปัจจัยการผลิตตามความต้องการของเกษตรกรในแต่ละกลุ่มอย่างต่อเนื่อง เช่น วัสดุอุปกรณ์เลี้ยงไหม สาวไหม ทอผ้า วัสดุอุปกรณ์สำหรับปลูกหม่อน แปรรูปผลิตภัณฑ์ ปัจจัยการผลิต เมล็ดพันธุ์พืช ปุ๋ย จอบ เสียม ปูนขาว และ ฝืม เป็นต้น เพื่อให้สมาชิกกลุ่มเกษตรกรได้นำไปใช้ในการผลิตสินค้า ผลิตภัณฑ์ของกลุ่ม และของตนเอง ตลอดจนใช้ในการบริหารจัดการกลุ่ม เพื่อให้เกิดรายได้ กับเกษตรกรและครอบครัว ซึ่ง สศก. จะมีการติดตามความคืบหน้าและผลสำเร็จให้ทราบต่อไป” เลขาธิการ สศก. กล่าว
            ด้านนางสาวทัศนีย์ เมืองแก้ว รองเลขาธิการ สศก. ระบุว่า สำหรับแผนการติดตามการดำเนินโครงการฯ สศก.  มีแผนจะดำเนินการลงพื้นที่เพื่อติดตามผลการดำเนินงาน ปัญหา และอุปสรรคต่างๆ อีก 2 ครั้งด้วยกัน คือ ในช่วงเดือนมีนาคม และในครั้งที่ 2 ช่วงเดือนกรกฎาคม โดยจะมีการรายงานผลการติดตาม ได้ในช่วงเดือนสิงหาคม ปีงบประมาณ 2565 ซึ่งโครงการสร้างความเข้มแข็งกลุ่มเกษตรกรด้านการเกษตร ได้เริ่มดำเนินการมาต่อเนื่องแล้วเป็นปีที่ 2 โดยในปีงบประมาณ 2564 ได้ดำเนินการทั่วประเทศในกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหม จำนวน 25 กลุ่ม กลุ่มส่งเสริมอาชีพการเกษตร จำนวน 308 กลุ่ม กลุ่มแม่บ้านเกษตรกร จำนวน 533 กลุ่ม และกลุ่มยุวเกษตรกรจำนวน 882 กลุ่ม ส่งผลให้เกษตรกรที่ได้รับการอบรมและนำความรู้ไปใช้มีรายได้เพิ่มขึ้น 9,396 บาทต่อเดือน เพิ่มขึ้นจากก่อนเข้าร่วมโครงการร้อยละ 33 
           ทั้งนี้ จากผลการดำเนินงานโครงการดังกล่าวสามารถช่วยเหลือและพัฒนาศักยภาพของเกษตรกรให้เกิดการรวมกลุ่มการผลิต มีความเข้มแข็งและพึ่งพาตนเองได้ ดังนั้น ในปีงบประมาณ 2565 กระทรวงเกษตรฯ จึงได้ดำเนินการต่อเนื่องให้ครอบคลุมกลุ่มเกษตรกร สนับสนุนให้กลุ่มมีการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน  สามารถบริหารจัดการสินค้าเกษตรทั้งการผลิตการเพิ่มมูลค่าการบริการและการตลาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ เสริมสร้างและพัฒนาคุณภาพชีวิตสิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจของครัวเรือนและชุมชน และพัฒนาไปสู่การเป็นแหล่งเรียนรู้ต้นแบบในการพึ่งพาตนเอง เพื่อให้เกิดความมั่นคงด้านอาหารในระดับชุมชนอย่างยั่งยืนต่อไป
*****************************************
ข่าว : ส่วนประชาสัมพันธ์ / ข้อมูล : ศูนย์ประเมินผล