- ข้อมูลเศรษฐกิจการเกษตร
- ภาวะเศรษฐกิจการเกษตร
- รายละเอียดภาวะเศรษฐกิจการเกษตร
ข้อมูลเศรษฐกิจการเกษตร
ปีนี้ สับปะรดโรงงาน 4 จว. ภาคตะวันตก ผลผลิตรวม 9 แสนกว่าตัน ออกตลาดมาก พ.ค. – มิ.ย.
ข่าวที่ 45/2565 วันที่ 5 พฤษภาคม 2565
ปีนี้ สับปะรดโรงงาน 4 จว. ภาคตะวันตก ผลผลิตรวม 9 แสนกว่าตัน ออกตลาดมาก พ.ค. – มิ.ย.
นางสาวศิริพร จูประจักษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 10 ราชบุรี (สศท.10) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยถึงสถานการณ์การผลิตสับปะรดโรงงาน ปี 2565 ของภาคตะวันตก ในพื้นที่ 4 จังหวัด ได้แก่ ประจวบคีรีขันธ์ ราชบุรี เพชรบุรี และกาญจนบุรี ซึ่งเป็นแหล่งผลิตหลักที่สำคัญ มีเนื้อที่เก็บเกี่ยวสับปะรดโรงงานคิดเป็นร้อยละ 55 ของเนื้อที่เก็บเกี่ยวทั้งประเทศ มีเกษตรกรผู้ปลูกรวม 16,903 ครัวเรือน ซึ่งจากการติดตาม (ข้อมูล ณ เดือนกุมภาพันธ์ 2565) พบว่า ปี 2565 เนื้อที่เก็บเกี่ยว 4 จังหวัด รวม 253,237 ไร่ เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาที่มีจำนวน 249,985 ไร่ (เพิ่มขึ้นร้อยละ 1) เนื่องจากราคาสับปะรดปีที่ผ่านมาอยู่ในเกณฑ์ดีจูงใจให้เกษตรกรขยายพื้นที่ และบางส่วนปลูกแซมสวนยางพาราและสวนมะพร้าว ด้านผลผลิต มีจำนวนรวม 937,672 ตัน เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาที่มีจำนวน 895,603 ตัน (เพิ่มขึ้นร้อยละ 5) เนื่องจากสับปะรดที่ปลูกช่วงปลายปี 2563 และช่วงต้นปี 2564 เริ่มให้ผลผลิต ประกอบกับสภาพอากาศเอื้ออำนวย มีปริมาณน้ำฝนเพียงพอต่อการเจริญเติบโตหากมองถึงสถานการณ์สับปะรดโรงงานในพื้นที่ทั้ง 4 จังหวัด จากข้อมูลพยากรณ์ พบว่า ประจวบคีรีขันธ์ มีเนื้อที่เก็บเกี่ยว 167,539 ไร่ ผลผลิต 671,161 ตัน ราชบุรี มีเนื้อที่เก็บเกี่ยว 40,807 ไร่ ผลผลิต 129,032 ตัน เพชรบุรี มีเนื้อที่เก็บเกี่ยว 27,602 ไร่ ผลผลิต83,468 ตัน และกาญจนบุรี มีเนื้อที่เก็บเกี่ยว 17,289 ไร่ ผลผลิต 54,011 ตัน เกษตรกรจะเริ่มทยอยปลูกตั้งแต่เดือนมกราคม - เมษายน 2564 ซึ่งเป็นช่วงที่ไม่มีฝนตกชุก ไม่มีปัญหาโรครากเน่ายอดเน่า ระยะเวลาปลูกจนถึงเก็บเกี่ยวประมาณ 14 - 18 เดือน ซึ่งสับปะรดโรงงานสามารถให้ผลผลิตได้ตลอดทั้งปี ผลผลิตจะเริ่มออกสู่ตลาดตั้งแต่เดือนมกราคม และจะออกมากสุดในช่วงเดือนพฤษภาคม – มิถุนายน 2565 (ร้อยละ 24 ของผลผลิตทั้งหมด) ด้านราคาที่เกษตรกรขายได้ภาพรวมยังอยู่ในเกณฑ์ดี ราคาเฉลี่ยทั้ง 4 จังหวัด ณ เดือนเมษายน 2565 อยู่ที่ 6.38 บาท/กิโลกรัม แต่เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ส่งผลต่อการขาดแคลนแรงงาน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแรงงานต่างด้าว ทำให้โรงงานแปรรูปสับปะรดแต่ละแห่งลดกำลังการผลิตลงและมีวัตถุดิบเข้าสู่โรงงานไม่มากนัก ดังนั้น ในช่วงฤดูการผลิต โรงงานแปรรูปสับปะรดอยู่ระหว่างปรับแผนกำลังการผลิตต่อวันเพิ่มขึ้นเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกสับปะรด ในส่วนของการจำหน่ายผลผลิตเกษตรกรส่งจำหน่ายให้กับผู้รวบรวมในพื้นที่ และพ่อค้ารายใหญ่ที่มารับซื้อภายในจังหวัดเพื่อรวบรวมส่งไปยังโรงงานแปรรูปทั้งในและนอกพื้นที่
สำหรับแนวทางการบริหารจัดการผลผลิตสับปะรด ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีการกำหนดมาตรการระยะสั้นช่วงผลผลิตกระจุกตัวในเดือนพฤษภาคม – ต้นเดือนมิถุนายนนี้ โดยขอความร่วมมือโรงงานแปรรูปสับปะรดในพื้นที่ให้ช่วยรับซื้อผลผลิตจากเกษตรกรในพื้นที่และเพิ่มกำลังการผลิตในช่วงผลผลิตออกสู่ตลาดมาก ส่วนมาตรการในระยะยาวได้ส่งเสริมเกษตรกรผู้ปลูกสับปะรดและโรงงานแปรรูปวางแผนการผลิตและการตลาดร่วมกัน (Contract Farming) โดยสร้างความรู้ความเข้าใจถึงประโยชน์ในการทำเกษตรพันธสัญญา เพื่อลดปัญหาผลผลิตส่วนเกินและราคาตกต่ำ รวมถึงได้ผลผลิตมีคุณภาพและมาตรฐานตรงตามความต้องการของตลาด
“ฝากถึงเกษตรกรผู้ปลูกสับประรด ควรมีการวางแผนการบังคับผลผลิตสับปะรดเพื่อไม่ให้ผลผลิตเกิดการกระจุกตัว หรือปรับแผนการผลิตเป็นสับปะรดบริโภคผลสดแทนบางส่วน เพื่อลดความเสี่ยงจากการพึ่งพาการปลูกสับปะรดเพื่อส่งเข้าสู่โรงงานแปรรูป และการสร้างเสถียรภาพด้านราคาในระยะยาวนั้น โดยการร่วมมือกับโรงงานแปรรูปทำ Contract Farming ล่วงหน้า ที่ช่วยแก้ไขปัญหาทั้งด้านปริมาณผลผลิตและราคาสับปะรดให้มีเสถียรภาพและสร้างความยั่งยืนให้แก่เกษตรผู้ปลูกสับปะรด ทั้งนี้ ท่านที่สนใจข้อมูลสถานการณ์การผลิตสับปะรดโรงงานภาคตะวันตก สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สศท.10 ราชบุรี โทร 0 3233 7954 หรืออีเมล zone10@oae.go.th” ผู้อำนวยการ สศท.10 กล่าวทิ้งท้าย
************************************************************************
ข่าว : ส่วนประชาสัมพันธ์ / ข้อมูล : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 10 ราชบุรี