- ข้อมูลเศรษฐกิจการเกษตร
- ภาวะเศรษฐกิจการเกษตร
- รายละเอียดภาวะเศรษฐกิจการเกษตร
ข้อมูลเศรษฐกิจการเกษตร
โครงการพัชรสุธาคชานุรักษ์ เพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย สร้างชุมชนอยู่ร่วมกับช้างป่าได้อย่างสมดุลและยั่งยืน
ข่าวที่ 48/2565 วันที่ 20 พฤษภาคม 2565
โครงการพัชรสุธาคชานุรักษ์
เพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย สร้างชุมชนอยู่ร่วมกับช้างป่าได้อย่างสมดุลและยั่งยืน
ดร.ทัศนีย์ เมืองแก้ว รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงผลการติดตามในการดำเนินงานการปฏิบัติงานด้านการเกษตร ตามแผนแม่บทสร้างความสมดุลระหว่างคนและช้างป่า ภายใต้โครงการพัชรสุธาคชานุรักษ์ โดยโครงการดังกล่าว มีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหน่วยงานภาคีบูรณาการร่วมกัน มีวัตถุประสงค์หลัก 3 ด้าน คือ 1) เพื่ออนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรน้ำ ทรัพยากรป่าไม้ และสัตว์ป่า ให้มีความอุดมสมบูรณ์ 2) เพื่อให้คนอยู่ร่วมกับทรัพยากรธรรมชาติโดยมีความสมดุลของระบบนิเวศ และ 3) เพื่อพัฒนาอาชีพและคุณภาพชีวิตของชุมชน โดยกำหนดแผนการจัดการออกเป็น 3 ด้านตามพื้นที่ ประกอบด้วย ด้านที่ 1 การจัดการพื้นที่ป่าอนุรักษ์สำหรับเป็นที่อาศัยของช้างป่า ด้านที่ 2 การจัดการพื้นที่แนวกันชน และ ด้านที่ 3 การจัดการพื้นที่ชุมชนเพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย สร้างชุมชนอยู่ร่วมกับช้างป่าได้อย่างสมดุลและยั่งยืน
สำหรับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมดำเนินการในด้านที่ 1 การจัดการพื้นที่ป่าอนุรักษ์สำหรับเป็นที่อาศัยของช้างป่า กลยุทธ์ที่ 1.1 เพิ่มศักยภาพถิ่นอาศัยของช้างป่า และด้านที่ 3 การจัดการพื้นที่ชุมชน กลยุทธ์ที่ 3.2 ปรับเปลี่ยนอาชีพ พัฒนาอาชีพ ดำเนินการในพื้นที่ 5 จังหวัดภาคตะวันออก ได้แก่ จันทบุรี ชลบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา และระยองโดยมีเกษตรและสหกรณ์จังหวัดใน 5 จังหวัดภาคตะวันออก เป็นคณะทำงานขับเคลื่อนโครงการฯ ในระดับพื้นที่ จัดกิจกรรมอบรมให้ความรู้แก่เกษตรกรในด้านต่าง ๆ อาทิ การปรับเปลี่ยนและพัฒนาอาชีพ การทำบัญชีครัวเรือนและบัญชีต้นทุนการประกอบอาชีพ การพัฒนาธุรกิจชุมชน รวมถึงสนับสนุนปัจจัยการผลิต การจัดแหล่งน้ำชุมชน จัดทำแปลงเรียนรู้และพัฒนาเกษตรกรต้นแบบ เพื่อให้ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่บริเวณป่ารอยต่อสามารถประกอบอาชีพการเกษตรได้ผลดีและลดผลกระทบจากการบุกรุกพื้นที่ทำการเกษตรของช้างป่า
ในการนี้ สศก. ได้ติดตามผลการดำเนินงานภายใต้โครงการพัชรสุธาคชานุรักษ์ ทั้ง 5 จังหวัด ประกอบด้วย หมู่บ้าน คชานุรักษ์ (ต้นแบบ) 8 หมู่บ้าน หมู่บ้านเครือข่าย 43 หมู่บ้าน รวมจำนวน 51 หมู่บ้าน หรือคิดเป็นร้อยละ 14 ของหมู่บ้านที่ได้รับผลกระทบจากช้างป่า 299 หมู่บ้าน พบว่า ผลการดำเนินงานปีงบประมาณ 2565 ระยะ 6 เดือน (ตุลาคม 2564 - มีนาคม 2565) ขณะนี้ทยอยดำเนินการอย่างต่อเนื่อง กิจกรรมที่ดำเนินการแล้วเสร็จ อาทิ การจัดอบรมถ่ายทอดความรู้เทคโนโลยีด้านการการเกษตรตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง การจัดทำแปลงเรียนรู้สำหรับเกษตรกรต้นแบบ การสนับสนุนปัจจัยการผลิตการป้องกันและกำจัดศัตรูพืชโดยวิธีแบบผสมผสานและการใช้สารเคมีอย่างปลอดภัย การส่งเสริมการปลูกพืชปุ๋ยสด การก่อสร้างแหล่งน้ำในไร่นานอกเขตชลประทาน 14 บ่อ การอบรมให้ความรู้ด้านการสหกรณ์และการรวมกลุ่ม ถ่ายทอดความรู้ด้านการการเลี้ยงปศุสัตว์ การสนับสนุนพันธุ์โคเนื้อเพศเมีย 112 ตัว ซึ่งในช่วงครึ่งหลังของปีงบประมาณจะเร่งดำเนินการในส่วนของกิจกรรมต่างๆ อาทิ การส่งเสริมการผลิตปุ๋ยหมัก การผลิตหญ้าแฝก การสนับสนุนไก่อารมณ์ดี เป็นต้น
ทั้งนี้ โครงการพัชรสุธาคชานุรักษ์ นับว่ามีส่วนสำคัญในการแก้ปัญหาช่วยผู้ที่ได้รับผลกระทบจากช้างป่า ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกันแบบบูรณาการของทุกภาคส่วน เพื่อให้ชุมชนอยู่ร่วมกับช้างป่าได้อย่างสมดุล และช่วยเกษตรกรในพื้นที่ ได้พัฒนาอาชีพ มีรายได้เพิ่มขึ้นและลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นลง ซึ่งจะเห็นได้จากผลสัมฤทธิ์ในรอบปีที่ผ่านมาได้ช่วยเกษตรกรหมู่บ้านคชานุรักษ์ (ต้นแบบ) ที่เข้าร่วมโครงการในพื้นที่ 5 จังหวัด สามารถนำความรู้จากการอบรมไปใช้ประโยชน์ได้จริง มีการนำปัจจัยการผลิตที่ได้รับการสนับสนุนไปใช้ประโยชน์ ส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการพัฒนาอาชีพ ครัวเรือนละ 12,923 บาทต่อปี ซึ่งร้อยละ 90 เป็นรายได้ทางด้านพืช รองลงมาร้อยละ 9 เป็นรายได้ด้านปศุสัตว์ และที่เหลือร้อยละ 1 เป็นรายได้ด้านประมง อีกทั้งเกษตรกรสามารถลดรายจ่ายในครัวเรือนลงได้ 8,884 บาทต่อปี จากการบริโภคสินค้าเกษตรที่ผลิตได้ และสามารถลดต้นทุนจากการทำการเกษตรด้วยการใช้ปัจจัยการผลิตของตนเอง 3,853 บาทต่อปี เช่น เก็บพันธุ์พืช/พันธุ์สัตว์เพื่อขยายพันธุ์ต่อ ใช้มูลสัตว์ที่ได้รับการส่งเสริมทำปุ๋ยคอก และทำน้ำหมักชีวภาพใช้เอง โดยยึดหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มีอาชีพที่พึ่งตนเองได้มุ่งสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน
*********************************************
ข่าว : ส่วนประชาสัมพันธ์ / ข้อมูล : ศูนย์ประเมินผล