‘พันธุโพธิ์ฟาร์ม’ ระนอง ฟาร์มเลี้ยงกุ้งแนวคิด Zero waste สู่การขับเคลื่อนด้วย BCG Model สร้างกำไรเดือนละ 4 แสนบาท

ข่าวที่ 114/2565 วันที่  28  ตุลาคม  2565
 
‘พันธุโพธิ์ฟาร์ม’ ระนอง ฟาร์มเลี้ยงกุ้งแนวคิด Zero waste สู่การขับเคลื่อนด้วย BCG Model สร้างกำไรเดือนละ 4 แสนบาท
 
             นายนิกร  แสงเกตุ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 8 สุราษฎร์ธานี (สศท.8) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า “พันธุโพธิ์ฟาร์ม” จังหวัดระนอง เป็นฟาร์มเลี้ยงกุ้งขนาดกลาง ซึ่งเป็นต้นแบบการดำเนินงานขับเคลื่อนด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนอย่างเป็นรูปธรรม มีแนวทางการพัฒนาบริหารจัดการสิ่งปฏิกูลจากฟาร์มกุ้งแปรเปลี่ยนเป็นผลผลิตทางเกษตรกรรมเพื่อความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อมตามแนวทาง Zero Waste ซึ่งเป็นการดำเนินงานภายใต้การขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว หรือ โมเดลเศรษฐกิจ BCG Model (Bio-Circular-Green Economy)
            สศท.8 ได้ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานของพันธุโพธิ์ฟาร์ม ตำบลบางหิน อำเภอกะเปอร์ จังหวัดระนอง พบว่า ปัจจุบันทางฟาร์มเป็นแหล่งข้อมูลและสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องกับภาคเกษตร สาขาประมง (เพาะเลี้ยงชายฝั่ง) ทั้งด้านการผลิต ราคาสินค้า สถานการณ์และปัจจัยต่าง ๆ ที่มีผลต่อการเติบโตของภาคเกษตร สาขาประมง (เพาะเลี้ยงชายฝั่ง) โดยมีนายอดุลย์ พันธุโพธิ์  เป็นเจ้าของฟาร์ม ซึ่งได้รับรางวัลเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ สาขาอาชีพเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำกร่อยประจำปี 2557 , รางวัล 150 คนดี 150 ปีเมืองระนอง สาขาด้านการเกษตร และยังได้รับการคัดเลือกเป็น “ปราชญ์เกษตร 72 ปี” ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ รวมถึงศิษย์เก่าดีเด่นคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยทางฟาร์มมีการเพาะเลี้ยงกุ้งเป็นหลัก ในพื้นที่ 200 ไร่ จำนวน 20 บ่อ และทำการเกษตรแบบผสมผสานโดยมีแนวคิดที่ว่า “พันธุโพธิ์ฟาร์มแห่งนี้ของเสียที่เกิดจากทุกกระบวนการต้องเป็นศูนย์ (Zero waste)” โดยกำหนดเป้าหมายที่จะทำฟาร์มกุ้งให้เป็นแหล่งเรียนรู้เพื่อถ่ายทอดแนวคิดของการเป็นเกษตรกร มีกิจกรรมให้เยาวชนเข้ามาเรียนรู้การทำการเกษตร การปลูกพืชผสมผสานโดยใช้พื้นที่ดินให้เกิดประโยชน์สูงสุด และพัฒนาต่อยอดให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร
          ในส่วนระบบการเลี้ยงกุ้งของพันธุ์โพธิ์ฟาร์ม ซึ่งเป็นฟาร์มที่ประสบความสำเร็จด้วยการใช้ Bio security ตั้งแต่การกรองน้ำให้สะอาด โดยใช้แนวคิดของการจัดการของเสียโดยวิธีทางชีวภาพในการให้จุลินทรีย์ตัวดีมีจำนวนมากเพื่อทำลายจุลินทรีย์ที่ไม่ดีเพื่อป้องกันและต้านทานโรคจากไวรัส ได้แก่ โรคตัวแดงดวงขาว โรคกุ้งตายด่วน (Early Mortality Syndrome : EMS) ตลอดจนเพิ่มอัตราการรอดของกุ้ง นอกจากนี้ยังใช้วิธีทางชีวภาพจะนำขี้กุ้งที่อยู่ในบ่อมาตีเพื่อเป็นอาหารของจุลินทรีย์ตัวดี ส่วนที่เหลือนำมาทำเป็นปุ๋ยเพื่อใช้ในฟาร์มโดยไม่ปล่อยทิ้งในทะเล
          ด้านสถานการณ์การผลิต พันธุโพธิ์ฟาร์มเลี้ยงพันธุ์กุ้งขาวแวนนาไมพันธุ์สิชล 1 ซึ่งเป็นกุ้งสายพันธุ์ดีของกรมประมง ใน 1 ปีสามารถสามารถเพาะเลี้ยงกุ้งได้ 12 รอบการผลิต (เฉลี่ย 1 เดือน/รอบการผลิต) โดยจะเลี้ยงประมาณ 5 บ่อ/รอบการผลิตสลับหมุนเวียนเพื่อให้มีผลผลิตตลอดทั้งปี สำหรับปีการผลิตช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา (ม.ค. - ก.ย.) ได้ผลผลิตรวม 250,000 กิโลกรัม/ปี ผลผลิตเฉลี่ย 27,777 กิโลกรัม/รอบการผลิต (ประมาณ 80 – 100 ตัว/กิโลกรัม) ราคาจำหน่ายหน้าฟาร์ม เฉลี่ยอยู่ที่ 140 บาท/กิโลกรัม ดังนั้น ใน 1 รอบการผลิต พันธุโพธิ์ฟาร์มจะสามารถสร้างรายได้โดยหักต้นทุนและค่าใช้จ่ายต่าง ๆ แล้ว ทำให้มีรายได้สุทธิ (กำไร) เฉลี่ยเดือนละ 416,655 บาท ทั้งนี้ พันธุ์โพธิ์ฟาร์ม ได้รับการรับรองมาตรฐานการปฏิบัติทางการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่ดีสำหรับการผลิตสัตว์น้ำ (GAP) จึงสามารถส่งออกไปยังต่างประเทศได้ โดยตลาดกุ้งในปัจจุบันเป็นการส่งออกทั้งหมด มีตลาดญี่ปุ่นเป็นตลาดหลัก การขายผลผลิตจะมีบริษัทห้องเย็นมารับซื้อผลผลิตที่ฟาร์ม โดยขนาดที่ตลาดต้องการเฉลี่ย 80 - 100 ตัว/กิโลกรัม และคาดว่าจะมีความต้องการบริโภคเพิ่มมากขึ้นทั้งในและต่างประเทศจากสถานการณ์โรคโควิด-19 ที่คลี่คลาย
          “BCG Model จะทำให้เกษตรกรยกระดับผลผลิตเกษตรสู่มาตรฐานสูง ครอบคลุมทั้ง ด้านคุณภาพ โภชนาการ ความปลอดภัย และระบบการผลิตที่ยั่งยืน เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น เกิดการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรการเกษตรอย่างสมดุลและยั่งยืน ซึ่งกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เน้นการใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่าที่สุด หรือ Zero Waste จะเป็นการตอบโจทย์เศรษฐกิจหมุนเวียน (C-Circular) ตามกรอบ BCG Model ได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้ ผู้สนใจหรือต้องการศึกษาดูงานสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ นายอดุลย์ พันธุโพธิ์  โทร.08 9288 8633 หรือสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สศท.8 โทร 0 7731 1641 หรืออีเมล zone8@oae.go.th” ผู้อำนวยการ สศท.8 กล่าวทิ้งท้าย
********************************************
ข่าว : ส่วนประชาสัมพันธ์ / ข้อมูล : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 8 สุราษฎร์ธานี