สศก. โชว์ผลศึกษาการใช้ชีวมวลจากปาล์มน้ำมันเพื่อผลิตไฟฟ้า แนะเกษตรกรใช้ทางใบปาล์ม-ลำต้นปาล์ม คลุมดินเป็นปุ๋ย เพื่อลดต้นทุน

ข่าวที่ 118/2565  วันที่ 11 พฤศจิกายน 2565
สศก. โชว์ผลศึกษาการใช้ชีวมวลจากปาล์มน้ำมันเพื่อผลิตไฟฟ้า
แนะเกษตรกรใช้ทางใบปาล์ม-ลำต้นปาล์ม คลุมดินเป็นปุ๋ย เพื่อลดต้นทุน
           นายฉันทานนท์  วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงผลการศึกษาความเป็นไปได้ในการใช้ชีวมวลจากปาล์มน้ำมันเพื่อผลิตไฟฟ้า เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการนำเศษวัสดุเหลือใช้จากปาล์มน้ำมันมาใช้เป็นพลังงานทดแทนในการผลิตกระแสไฟฟ้า ซึ่งการศึกษาครั้งนี้ สศก. โดยสำนักวิจัยเศรษฐกิจการเกษตร ได้จัดเก็บข้อมูลในพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันที่สำคัญใน 7 จังหวัด ได้แก่ สุราษฎร์ธานี กระบี่ ชุมพร นครศรีธรรมราช พังงา ตรัง และชลบุรี ดำเนินการสัมภาษณ์โรงงานสกัดน้ำมันปาล์มแบบแยกเมล็ดใน (โรง A) จำนวน 24 โรง โรงไฟฟ้าชีวมวลจำนวน 8 โรง และเกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมัน รวม 145 ราย รวมทั้งได้จัดสัมมนาระดมความคิดเห็น เพื่อรับฟังข้อคิดเห็น และข้อเสนอแนะจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเกี่ยวกับศักยภาพการนำชีวมวลจากปาล์มน้ำมันผลิตไฟฟ้า และความเหมาะสมของโครงการที่ให้ผลตอบแทนจากการลงทุนตั้งโรงไฟฟ้าชีวมวล
           ผลการศึกษา พบว่า ศักยภาพชีวมวลปาล์มน้ำมันในแต่ละชนิด ได้แก่ เมล็ดในปาล์ม ให้ค่าพลังงานความร้อนมากที่สุดที่ 1.959 ล้านเมกะจูล รองลงมาคือ เส้นใยปาล์ม 1.500 ล้านเมกะจูล ทะลายเปล่า 1.370 ล้านเมกะจูล กะลาปาล์ม 1.149 ล้านเมกะจูล กากเมล็ดในปาล์ม 0.568 ล้านเมกะจูล ลำต้นปาล์ม 0.116 ล้านเมกะจูล และทางใบปาล์ม 0.040 ล้านเมกะจูล ตามลำดับ
           ปัจจุบันโรงงานสกัดน้ำมันปาล์ม มีการใช้ประโยชน์จากชีวมวลปาล์มน้ำมัน คือจากทะลายเปล่า และเส้นใยปาล์มโดยสัดส่วนการใช้ทะลายเปล่า แบ่งเป็น ร้อยละ 75 ขายให้โรงไฟฟ้าชีวมวล และอีกร้อยละ 25 โรงงานสกัดฯ นำมาเผาเพื่อผลิตไฟฟ้าใช้ในโรงงาน สำหรับ เส้นใยปาล์ม ร้อยละ 90 นำมาใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตไฟฟ้าใช้ในโรงงาน และอีกร้อยละ 10ขายให้โรงไฟฟ้าชีวมวล โดยโรงไฟฟ้าชีวมวลจะมีการรับซื้อทะลายเปล่าและเส้นใยปาล์มจากโรงงานสกัดฯ โดยราคารับซื้อ  ทะลายเปล่าที่ราคาเฉลี่ย 0.30 บาทต่อกิโลกรัม และเส้นใยปาล์มที่ราคาเฉลี่ย 0.90 บาทต่อกิโลกรัม ทำให้ส่วนใหญ่จึงเลือกใช้ ทะลายเปล่าเป็นวัตถุดิบหลักเข้าโรงไฟฟ้าชีวมวล เพราะมีราคาถูกและให้ความร้อนได้ดีเหมาะแก่การนำไปเป็นเชื้อเพลิง ผลิตกระแสไฟฟ้า อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเมล็ดในปาล์มจะให้ค่าพลังงานความร้อนมากที่สุด แต่ไม่นิยมนำมาเผาเพื่อผลิตไฟฟ้า  เนื่องจากเมล็ดในปาล์มมีราคาสูง 25 บาทต่อกิโลกรัม ส่วนใหญ่จะนำไปจำหน่ายเพื่อสกัดเป็นน้ำมันเมล็ดในแทน
           ด้านนางกาญจนา แดงรุ่งโรจน์ รองเลขาธิการ สศก. กล่าวว่า สำหรับส่วนของทางใบปาล์มและลำต้นปาล์มหากเกษตรกรนำออกจากสวนเพื่อไปขายให้กับโรงไฟฟ้าชีวมวล จะมีค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการที่เพิ่มขึ้น เช่น ค่าเก็บรวบรวม และค่าขนส่ง เป็นต้น จึงไม่คุ้มทุนที่จะดำเนินการดังกล่าว ดังนั้น เกษตรกรควรมีการใช้ประโยชน์จากทางใบปาล์มและลำต้นปาล์มมาทำเป็นปุ๋ยแทน เพราะจะสามารถช่วยลดต้นทุนการใส่ปุ๋ยจากทางใบปาล์มได้ถึง 2,389 บาทต่อไร่ และหากใช้ลำต้นปาล์ม จะสามารถลดต้นทุนการใช้ปุ๋ยได้มากถึง 6,873 บาทต่อไร่ ซึ่งทางใบปาล์มและลำต้นปาล์มมีธาตุอาหารที่สำคัญต่อการเจริญเติบโตของทะลายปาล์ม นอกจากนี้ จากการวิเคราะห์ความเป็นไปได้ทางการเงินในการลงทุนตั้งโรงไฟฟ้าชีวมวลจากทะลายเปล่าปาล์มน้ำมัน พบว่า มีความคุ้มค่าในการลงทุน โดยมีผลตอบแทนจากการลงทุนร้อยละ 14.16 และสามารถคืนทุนได้ภายใน 6 ปี 4 เดือน
            ทั้งนี้ ภาครัฐควรส่งเสริมผู้ประกอบการในด้านการลดภาษีการนำเข้าเครื่องจักรในการผลิต เพื่อกระตุ้นให้เกิดความต้องการใช้และสนับสนุนการตั้งโรงไฟฟ้าชีวมวล รวมถึงการขออนุญาตตั้งโรงไฟฟ้าชีวมวล ควรมีหน่วยงานให้บริการในรูปแบบ One Stop Service เพื่อลดความซับซ้อนและขั้นตอนในการดำเนินการ มีการส่งเสริมระบบการขนส่งโลจิสติกส์การบริหารจัดการด้านวัตถุดิบชีวมวลเข้าโรงไฟฟ้าชีวมวล โดยตั้งจุดรับซื้อเพื่อรวบรวมวัตถุดิบเพื่อให้ได้ตามปริมาณเพียงพอ และง่ายต่อการบริหารจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการทำสัญญาร่วมกันระหว่างโรงงานสกัดน้ำมันปาล์ม และโรงไฟฟ้าชีวมวล เพื่อให้วัตถุดิบป้อนเข้าสู่โรงงานได้อย่างสม่ำเสมอ และสนับสนุนให้มีการตั้งโรงไฟฟ้าชีวมวลที่ใช้เชื้อเพลิงที่เหมาะสมในแต่ละชุมชน รวมทั้งคำนึงถึงการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและการบำบัดน้ำเสียด้วย และส่งเสริมให้เกษตรกรมีการจัดการสวนโดยใช้ทางใบปาล์มในการคลุมดิน เพื่อเป็นปุ๋ยมากยิ่งขึ้น สำหรับท่านที่สนใจ ผลการศึกษาความเป็นไปได้ในการใช้เชื้อเพลิงชีวมวลจากปาล์มน้ำมันผลิตไฟฟ้าใช้ในชุมชน สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ส่วนวิจัยเศรษฐกิจพืชน้ำมันและพืชตระกูลถั่ว สำนักวิจัยเศรษฐกิจการเกษตร สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรโทร. 0 2579 0611 ในวันและเวลาราชการ         
                                           ******************************************************
ข่าว : ส่วนประชาสัมพันธ์ / ข้อมูล : สำนักวิจัยเศรษฐกิจการเกษตร