สับปะรดปัตตาเวียไทย ปีนี้ให้ผลผลิต 1.65 ล้านตัน ด้านคณะกรรมการนโยบายและพัฒนาสับปะรดแห่งชาติ ไฟเขียว แผนพัฒนาด้านสับปะรด 5 ปี ผลักดันสู่ศูนย์กลางระดับโลก

ข่าวที่ 24/2566 วันที่ 2 มีนาคม  2566
สับปะรดปัตตาเวียไทย ปีนี้ให้ผลผลิต 1.65 ล้านตัน ด้านคณะกรรมการนโยบายและพัฒนาสับปะรดแห่งชาติ
ไฟเขียว แผนพัฒนาด้านสับปะรด 5 ปี ผลักดันสู่ศูนย์กลางระดับโลก
               นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตร และสหกรณ์ เปิดเผยถึงสถานการณ์การผลิตและการตลาดสับปะรดปัตตาเวีย ปี 2566 โดยคาดว่าปี 2566 (ข้อมูลพยากรณ์ ณ มกราคม 2566)  ไทยมีเนื้อที่เก็บเกี่ยวทั้งประเทศรวม 430,958 ไร่ ลดลงจากปีที่ผ่านมาซึ่งมีเนื้อที่เก็บเกี่ยว 450,600 ไร่  (ลดลง 19,642 ไร่ หรือร้อยละ 4.36) เนื่องจากเกษตรกรลดพื้นที่ปลูก จากปัญหาต้นทุนที่ปรับตัวสูงขึ้นจากราคาปุ๋ยและสารเคมี และปัญหาการขาดแคลนแรงงานในบางพื้นที่ ประกอบกับเกษตรกรบางส่วนปรับเปลี่ยนไปปลูกไม้ผลและไม้ยืนต้น เช่น ยางพารา ทุเรียน และมะพร้าว และในบางพื้นที่ปรับเปลี่ยนไปปลูกมันสำปะหลัง เนื่องจากราคามันปะหลังในปีที่ผ่านมาอยู่ในเกณฑ์ดีและยังใช้ปุ๋ยเคมีน้อยกว่า ส่งผลให้ผลผลิตรวมทั้งประเทศ 1.65 ล้านตัน ลดลงจากปีที่มาที่มีปริมาณ 1.74 ตัน (ลดลง 0.09 ล้านตัน หรือร้อยละ 5.17) ขณะที่ผลผลิตต่อไร่เฉลี่ยทั้งประเทศ 3,831 กิโลกรัม ลดลงจาก 3,865 กิโลกรัม หรือลดลงร้อยละ 0.88 เนื่องจากเกษตรกรลดการใส่ปุ๋ย อันเป็นผลมาจากราคาปุ๋ยเคมีที่สูงขึ้นอย่างมาก ส่งผลให้ภาพรวมผลผลิตทั้งประเทศลดลงด้วย ทั้งนี้ คาดว่าผลผลิตออกมากที่สุดช่วงเดือนเมษายน - มิถุนายน ประมาณ 0.632 ล้านตัน (ร้อยละ 38.30 ของผลผลิตทั้งประเทศ) และช่วงเดือนตุลาคม - ธันวาคม ประมาณ 0.403 ล้านตัน (ร้อยละ 24.42 ของผลผลิตทั้งประเทศ) ทั้งนี้ หากสถานการณ์การผลิตมีการเปลี่ยนแปลง จะได้ทบทวนข้อมูลผลผลิตปี 2566 ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริงต่อไป
              ปัจจุบัน เกษตรกรนิยมขายผลผลิตสับปะรดปัตตาเวีย เพื่อเข้าโรงงานอุตสาหกรรมเป็นหลัก โดยบางส่วนขายเป็นผลสดเพื่อการบริโภค คณะกรรมการนโยบายและพัฒนาสับปะรดแห่งชาติได้มีแนวทางการบริหารจัดการสับปะรด 5 แนวทาง ได้แก่ 1) เชื่อมโยงตลาดล่วงหน้า 2) กระจายผลผลิต 3) ส่งเสริมการบริโภค  4) ส่งเสริมการแปรรูป และ 5) ส่งเสริมการผลิตเพื่อบริโภคสด รวมทั้งการติดตามสถานการณ์ การประชุมหารือผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ให้การอบรม แก่เกษตรกร และการสำรวจข้อมูลเกษตรกร ประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรหลีกเลี่ยงการบังคับให้ออกดอกออกผลในช่วงที่ผลผลิตล้นตลาด ส่งเสริมการขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกสับปะรด และส่งเสริมการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ เป็นต้น สำหรับในระดับจังหวัด คณะกรรมการเพื่อแก้ไขปัญหาเกษตรกรอันเนื่องมาจากผลผลิตการเกษตรระดับจังหวัด (คพจ.) จังหวัดที่เป็นแหล่งผลิตสำคัญ เช่น ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี ราชบุรี กาญจนบุรี ชลบุรี ระยอง ลำปาง อุทัยธานี ชัยภูมิ เลย อุตรดิตถ์ พิษณุโลก เชียงราย เป็นต้น ได้มีแนวทางบริหารจัดการ Demand และ Supply ที่สอดคล้องกัน
             ด้านนางกาญจนา แดงรุ่งโรจน์ รองเลขาธิการ สศก. กล่าวว่า ล่าสุดจากที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายและพัฒนาสับปะรดแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2566 เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2566 ซึ่งมีผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (นายพีรพันธ์ คอทอง) เป็นประธาน และ สศก. ทำหน้าที่ฝ่ายเลขานุการ ได้เห็นชอบแผนพัฒนาด้านสับปะรด พ.ศ. 2566 – 2570  โดยแผนดังกล่าว ได้กำหนดวิสัยทัศน์ “ศูนย์กลางระดับโลกในการผลิต แปรรูป และสร้างคุณค่า มูลค่าทางเศรษฐกิจจากสับปะรดอย่างยั่งยืน” มี 4 เป้าหมาย ได้แก่  1) พื้นที่ปลูกที่ได้รับการส่งเสริมการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตจากนโยบายภาครัฐ โดยระบบน้ำ, GAP และปรับพื้นที่ตาม Agri-map เพิ่มขึ้นร้อยละ 48 ต่อปี จนถึงปี 2570  2) ผลิตภาพการผลิต (Productivity) ในอุตสาหกรรมแปรรูปสับปะรดเพิ่มขึ้นร้อยละ 10 ต่อปี 3) มูลค่าการส่งออกสับปะรดและผลิตภัณฑ์สับปะรด เพิ่มขึ้นเป็น 25,530 ล้านบาท ในปี 2570 และ 4) รายได้  ของเกษตรกรผู้ปลูกสับปะรด เพิ่มขึ้นเป็น 422,070 บาท/ปี ในปี 2570
             สำหรับประเด็นการพัฒนา มี 3 ด้าน ได้แก่  1) การพัฒนาเกษตรกร สถาบันเกษตรกร และการบริหารจัดการระบบนิเวศสับปะรดที่มีคุณภาพ ทันสมัย และมาตรฐานการจัดการที่ยั่งยืน โดยมุ่งเน้นส่งเสริม สนับสนุนการพัฒนาสับปะรดไทยด้วยองค์ความรู้ วิชาการ เทคโนโลยี และนวัตกรรมเพื่อการผลิตที่มีคุณภาพ เสริมสร้างขีดความสามารถของเกษตรกร สหกรณ์เกษตร กลุ่มเกษตรกร องค์กรเกษตรกรในการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานสับปะรดที่พึ่งตนเองได้อย่างเข้มแข็ง ปรับระบบการบริหารจัดการดิน น้ำ และการจัดการตามแผนที่เกษตรเพื่อการบริหารจัดการเชิงรุก (Agri-Map) รองรับการพัฒนาแปลงสับปะรด และพัฒนาระบบฐานข้อมูล ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ และเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อการยกระดับการจัดการสับปะรดที่ทันสมัย และมีประสิทธิภาพสูง 2) การเพิ่มขีดความสามารถในการผลิต และเทคโนโลยีการแปรรูปในภาคอุตสาหกรรมที่เข้มแข็ง แข่งขันได้ โดยมุ่งเน้นพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารเชิงนวัตกรรม เช่น อาหารเพื่อสุขภาพจากผลผลิตสับปะรด โดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการสร้างมูลค่าเพิ่ม เพิ่มประสิทธิภาพและผลิตภาพการผลิตของภาคอุตสาหกรรม (Productivity) ส่งเสริมการนำวัตถุดิบเหลือใช้จากสับปะรดมาใช้สร้างมูลค่าเพิ่ม ที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาด รวมถึงการสร้างคุณค่า จากผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง และสร้างปัจจัยพื้นฐานที่เหมาะสมต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมแปรรูปสับปะรด และ 3) การเสริมสร้างขีดความสามารถของประเทศในการเป็นผู้นำการส่งออกสับปะรดคุณภาพระดับโลก โดยมุ่งเน้นส่งเสริมด้านการตลาดต่างประเทศ และส่งเสริมด้านการตลาดภายในประเทศ ผ่านกลไกความร่วมมือของภาคีเครือข่ายและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ แผนพัฒนาด้านสับปะรดดังกล่าวจะเป็นกรอบแนวทางการดำเนินงาน   ให้หน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนให้เกิดผลสัมฤทธิ์ และเกิดประโยชน์สูงสุดแก่เกษตรกร ผู้ประกอบการผู้บริโภค รวมถึงผู้ที่เกี่ยวข้องกับห่วงโซ่อุปทานสับปะรดต่อไป
 
******************************************************
ข่าว : ส่วนประชาสัมพันธ์
 ข้อมูล : สำนักวิจัยเศรษฐกิจการเกษตร