ก้าวสู่ปีที่ 20 กองทุน FTA สศก. เปิดสัมมนาใหญ่ ร่วมคิดร่วมสร้างเกษตรไทย ก้าวทันโลกการค้าเสรี

ข่าวที่ 68/2566 วันที่ 22 มิถุนายน 2566
ก้าวสู่ปีที่ 20 กองทุน FTA  สศก. เปิดสัมมนาใหญ่ ร่วมคิดร่วมสร้างเกษตรไทย ก้าวทันโลกการค้าเสรี
           นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดโครงการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ “ก้าวสู่ปีที่ 20 กองทุน FTA ภาคเกษตร : ร่วมคิดร่วมสร้างเกษตรไทยก้าวทันโลกการค้าเสรี” ณ โรงแรมเดอะกรีนเนอร์รี่ รีสอร์ท เขาใหญ่ จังหวัดนครราชสีมา ว่า ภาคเกษตรไทยมีบทบาทสำคัญทางเศรษฐกิจ เป็นแหล่งจ้างงานสร้างรายได้ให้กับประเทศ มีการผลิตและส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารไปทั่วโลก ซึ่งการจัดทำความตกลงการค้าเสรี (Free Trade Agreement : FTA) เป็นหนึ่งในเครื่องมือส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ถือเป็นเป้าหมายสำคัญในการดำเนินนโยบายการค้าการส่งออกของประเทศไทย แต่อย่างไรก็ตาม FTA บางฉบับ ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสินค้าและบริการบางประเภทของประเทศภาคี ดังนั้น คณะรัฐมนตรี จึงเห็นชอบให้มีการจัดตั้งกองทุนปรับโครงสร้างการผลิตภาคเกษตรเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ หรือ กองทุน FTA  ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตั้งแต่วันที่ 20 กรกฎาคม 2547 เป็นต้นมา เพื่อช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินนโยบายการจัดทำ FTA  เป็นทุนหมุนเวียนและใช้จ่ายในการดำเนินการพัฒนาโครงสร้างทางการเกษตร พัฒนาประสิทธิภาพการผลิต เพิ่มผลผลิตให้มีคุณภาพมาตรฐาน
            นอกจากนี้ ในเดือนกันยายน ปี 2564 กองทุน FTA  ยังได้มีการลงนาม MOU ร่วมกับ 9 หน่วยงาน ได้แก่กรมปศุสัตว์ กรมส่งเสริมสหกรณ์ องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) สภาเกษตรกรแห่งชาติสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM Bank) สหกรณ์โคเนื้อกำแพงแสน จำกัด และ บริษัท พรีเมี่ยม บีฟ จำกัด เพื่อร่วมกันพัฒนาขีดความสามารถการแข่งขันให้เกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้า ให้มีศักยภาพในการแข่งขันเพิ่มขึ้น โดยความร่วมมือดังกล่าว ได้ขยายระยะเวลาไปจนถึงกันยายน ปี 2569
           ดังนั้น สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร โดย กองทุน FTA จึงได้จัดสัมมนาในครั้งนี้ขึ้น เพื่อเป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนของหน่วยงานที่ MOU ร่วมกันถึงข้อมูลกลุ่มสินค้า และกลุ่มเกษตรกรที่คาดว่าได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้า รวมไปถึงนำเสนอความก้าวหน้าในการพัฒนาเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งกิจกรรมในงานสัมมนา มีการบรรยายพิเศษ เรื่อง “การเปิดเสรีทางการค้าโอกาสและความท้าทายภาคเกษตรไทย” โดยเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร  การบรรยาย “บทบาทกองทุน FTA กับการพัฒนาภาคเกษตรไทยและก้าวต่อไปในอนาคต” โดย ผู้ทรงคุณวุฒิด้านรัฐศาสตร์และการบริหารจัดการ (นายวีรชาติ เขื่อนรัตน์)  และการเสวนา “เกษตรสมัยใหม่ก้าวทัน FTA” โดยวิทยากรจากกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ (นายพลภัทร ดีสวัสดิ์มงคล) สภาเกษตรกรแห่งชาติ (นายรัตนะ สวามีชัย)  กรมส่งเสริมการเกษตร (นางสาวเพ็ญระพี ทองอินทร์) สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย (นางณัฐกานต์ พันธ์ชัย) และ กรมปศุสัตว์ (นางสาวรักษิณา สัตย์ชาพงษ์) ทั้งนี้ ดำเนินรายการโดยผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจการผลิตและการตลาด สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (นายเอกราช  ตรีลพ) ซึ่งได้มีการถ่ายทอดผ่าน Live สด Facebook fanpage เศรษฐกิจการเกษตรเพื่อประชาชนตลอดงาน นอกจากนี้ยังมีการจัดนิทรรศการผลการดำเนินงานของโครงการที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทุน FTA และหน่วยงานภายใต้ความร่วมมือ (MOU) และการบริการคลีนิคกองทุน FTA เพื่อให้คำปรึกษาแก่เกษตรกรที่ต้องการขอรับการสนับสนุนจากกองทุน FTA
           “ตลอดระยะเวลาการดำเนินงานของกองทุน FTA ต้องขอขอบคุณทุกหน่วยงาน และกลุ่มเกษตรกรทุกท่าน ที่ให้ความร่วมมือด้วยดีตลอดมา วันนี้นับได้ว่า กองทุน FTA  ก้าวมาสู่ปีที่ 20 แล้ว ซึ่งที่ผ่านมา เราได้ดำเนินการมาแล้วกว่า 34 โครงการ 13 ชนิดสินค้าสำคัญ  คือ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ กระเทียม ข้าว ชา กาแฟ ปาล์มน้ำมัน มะพร้าว พริกไทย ผักเมืองหนาว โคเนื้อ โคนม สุกร และหญ้าเนเปียร์ โดยมีเกษตรกรได้รับประโยชน์มากกว่า 130,000 ราย และกองทุน FTA ยังคงเดินหน้าให้ความช่วยเหลือ และพร้อมให้คำปรึกษาอย่างเต็มที่เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบโดยตรงหรือโดยอ้อมจากการเปิดเสรีทางการค้า ด้วยการปรับโครงสร้างการผลิต ปฏิรูปผลผลิตทางการเกษตร เพิ่มประสิทธิภาพ คุณภาพ และมูลค่าสินค้าเกษตรอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ เกษตรกร กลุ่มเกษตรกร หรือสถาบันเกษตรกรที่สนใจ สามารถขอคำปรึกษาโครงการต่างๆ ได้ที่ 0 2561 4727 หรือ อีเมล fta.oae@gmail.com” เลขาธิการ สศก. กล่าว
********************************************
ข่าว : ส่วนประชาสัมพันธ์ / ข้อมูล : สำนักวิจัยเศรษฐกิจการเกษตร