วิสาหกิจชุมชนแปรรูปกระเทียม จ.หนองคาย แหล่งผลิต ‘กระเทียมอินทรีย์’ คุณภาพ

ข่าวที่ 26/2567 วันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2567
วิสาหกิจชุมชนแปรรูปกระเทียม จ.หนองคาย แหล่งผลิต ‘กระเทียมอินทรีย์’ คุณภาพ
          นางสาวอุษา โทณผลิน ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 3 อุดรธานี (สศท.3) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ส่งเสริมให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนรูปแบบการผลิตเข้าสู่ระบบการผลิตแบบเกษตรอินทรีย์ ภายใต้แผนปฏิบัติการด้านเกษตรอินทรีย์ พ.ศ. 2566 – 2570 ซึ่งนำไปสู่ความเป็นอยู่ที่ดีและยั่งยืน รวมถึง  สุขภาพที่ดีของผู้ผลิตและผู้บริโภค การผลิตเกษตรอินทรีย์ต้องได้มาตรฐานในระดับชุมชน ระดับประเทศ และระดับสากล ซึ่งผลผลิตเกษตรอินทรีย์เป็นวัตถุดิบที่มีความปลอดภัยและมีคุณภาพสามารถนำไปพัฒนาและแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์ที่มีมูลค่าสูง
          จังหวัดหนองคายได้มีนโยบายและดำเนินการด้านเกษตรอินทรีย์ ภายใต้แผนโครงการส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ในเขตปฏิรูปที่ดิน ซึ่งกระเทียมอินทรีย์เป็นหนึ่งในสินค้าเกษตรอินทรีย์ที่เกษตรกรเริ่มมีการปลูกอย่างแพร่หลายและกำลังเป็นที่ต้องการของตลาด จากการติดตามของ สศท.3 พบว่า วิสาหกิจชุมชนแปรรูปกระเทียม ตำบลอุดมพร อำเภอเฝ้าไร่ จังหวัดหนองคาย ซึ่งตั้งอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดิน ได้จดทะเบียนเป็นวิสาหกิจชุมชนในปี 2560 นับเป็นแหล่งผลิตกระเทียมอินทรีย์ แห่งเดียวของจังหวัดและมีการแปรรูปกระเทียมเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ อาทิ กระเทียมมัดจุกอินทรีย์ กระเทียมหลุดขั้วอินทรีย์ และกระเทียมดองอินทรีย์ โดยมีพื้นที่ปลูกกระเทียมอินทรีย์ปีเพาะปลูก 2566/67 รวม 10 ไร่ เนื้อที่เก็บเกี่ยว 9 ไร่ เกษตรกร ผู้ปลูก 16 ราย ซึ่งผ่านการรับรองเกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วม (Participatory Guarantee Systems: PGS) แล้วทุกราย เกษตรกรนิยมปลูกพันธุ์ขาวพื้นเมืองหรือขาวหนองคาย และจะเพาะปลูกช่วงเดือนตุลาคม – ธันวาคม เก็บเกี่ยวช่วงเดือนมกราคม - มีนาคมของปีถัดไป ระยะเวลาปลูกจนถึงเก็บเกี่ยวรวม 120 วัน ซึ่งหลังจากเก็บเกี่ยวผลผลิตเกษตรกรจะนำกระเทียมมาตากแดดประมาณ 30 - 40 นาที แล้วนำมาแขวนผึ่งลมที่ราวจนกระเทียมแห้ง (ใช้เวลาประมาณ 1 เดือน) จึงคัดเกรดกระเทียมแห้งมัดจุกเพื่อรอจำหน่ายต่อไป
          โดยปีการผลิต 2566/67 วิสาหกิจชุมชนแปรรูปกระเทียม มีต้นทุนการผลิตกระเทียมอินทรีย์แห้งมัดจุกเฉลี่ย 27,055 บาท/ไร่/ปี ผลผลิตเฉลี่ย 609 กิโลกรัม/ไร่/ปี ผลตอบแทนเฉลี่ย 69,426 บาท/ไร่/ปี คิดเป็นผลตอบแทน เฉลี่ยสุทธิ (กำไร) 42,371 บาท/ไร่/ปี ราคากระเทียมอินทรีย์ที่เกษตรกรขายได้ (ราคา ณ 22 ก.พ. 67) แบ่งเป็น กระเทียมมัดจุกตากแห้ง ราคาเฉลี่ย 114 บาท/กิโลกรัม , กระเทียมสด ราคา 40 บาท/กิโลกรัม และกระเทียมดอง (นำกระเทียมสดมาแปรรูป) ราคา 100 บาท/กระปุก ด้านสถานการณ์ตลาด ผลผลิตส่วนใหญ่ร้อยละ 70 กลุ่มจำหน่ายตามออเดอร์การสั่งจองของพ่อค้ารับซื้อและผู้บริโภคทั่วไป และผลผลิตร้อยละ 30 จำหน่ายผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ Facebook “กระเทียม/หอมแดง/กระเทียมดอง เกษตรอินทรีย์ 100%” ทั้งนี้ ส่วนมากกลุ่มลูกค้าที่ซื้อกระเทียมอินทรีย์จะเป็นลูกค้ากลุ่มเดิมที่เคยซื้อบริโภคแล้วชื่นชอบกระเทียมปลอดสารพิษและเป็นผู้ที่รักสุขภาพ จึงมีความต้องการซื้อต่อในรอบการผลิตปีถัดไปและบางรายมีการสั่งจองล่วงหน้าไว้ก่อนช่วงเพาะปลูก
          วิสาหกิจชุมชนแปรรูปกระเทียมได้มีการพัฒนาคุณภาพของกระเทียมอินทรีย์อย่างต่อเนื่อง เกษตรกรมีความพิถีพิถันในการผลิตตั้งแต่ขั้นตอนเพาะปลูก การเตรียมดิน การดูแลรักษา การป้องกันปัญหาเชื้อราที่มักจะพบในกระเทียมเพื่อให้กระเทียมอินทรีย์ได้คุณภาพตามมาตรฐานตรงกับความต้องการตลาด และเกษตรกรมีความต้องการให้หน่วยงานของรัฐส่งเสริมสารชีวภัณฑ์ที่ใช้ป้องกันและกำจัดเชื้อราในกระเทียมอินทรีย์ในช่วงรอบปีการผลิตที่อาจเจอฝนหลงฤดู ทั้งนี้ ในช่วงเดือนมีนาคม 2567 ผลผลิตจะออกมากที่สุดถึงร้อยละ 90 ผู้บริโภคที่รักสุขภาพและชื่นชอบกระเทียมอินทรีย์ไม่ควรพลาด เพราะสรรพคุณของกระเทียมอินทรีย์นอกจากจะช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลในเส้นเลือด ยังช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ขับลม และบำรุงเลือดอีกด้วยหากใครสั่งซื้อไม่ทันในรอบนี้ก็สามารถสั่งจองก่อนล่วงหน้ากับทางกลุ่มได้ โดยติดต่อได้ที่ นายบุญพา มะโนมัย ประธานวิสาหกิจชุมชนกระเทียมแปรรูป หมู่ 12 บ้านคำแก้ว ตำบลอุดมพร อำเภอเฝ้าไร่ จังหวัดหนองคาย โทร 0 85274 1827 หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สศท.3 อุดรธานี โทร 0 4229 2557 หรืออีเมล zone3@oae.go.th
 
******************************************************
ข่าว : ส่วนประชาสัมพันธ์
ข้อมูล : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 3 อุดรธานี