จีดีพี เกษตร ไตรมาส 2 หดตัว 1.5% เหตุจากเอลนีโญยังกระทบต่อเนื่อง และต้นทุนการผลิตที่ยังอยู่ในระดับสูง คาดทั้งปี ขยายตัว 0.2 – 1.2 %

ข่าวที่ 90/2567 วันที่ 31 กรกฎาคม 2567
จีดีพี เกษตร ไตรมาส 2 หดตัว 1.5% เหตุจากเอลนีโญยังกระทบต่อเนื่อง
และต้นทุนการผลิตที่ยังอยู่ในระดับสูง คาดทั้งปี ขยายตัว 0.2 – 1.2 %
               นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงภาวะเศรษฐกิจการเกษตรในไตรมาส 2 ปี 2567 (เมษายน - มิถุนายน 2567) หดตัวร้อยละ 1.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2566 โดยในไตรมาส 2 ยังคงได้รับผลกระทบต่อเนื่องจากปรากฏการณ์เอลนีโญ ทำให้ปริมาณฝนน้อยกว่าปีที่ผ่านมา สภาพอากาศร้อนจัดและแห้งแล้ง ส่งผลกระทบต่อการเพาะปลูกและการเจริญเติบโตของพืช เกษตรกรบางส่วนงดหรือปรับเปลี่ยนการเพาะปลูก ส่งผลให้สาขาพืชซึ่งเป็นสาขาการผลิตหลักยังคงหดตัวต่อเนื่องจากไตรมาสแรก ทำให้สาขาบริการทางการเกษตรหดตัวตามไปด้วย ขณะที่สาขาประมงหดตัวเช่นเดียวกัน เนื่องจากการลดหรือชะลอการเลี้ยงจากภาวะต้นทุนที่ยังอยู่ในระดับสูง ขณะที่สาขาปศุสัตว์และสาขาป่าไม้ ยังขยายตัวได้ สำหรับรายละเอียดในแต่ละสาขา พบว่า
              สาขาพืช หดตัวร้อยละ 1.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2566 จากผลกระทบของเอลนีโญที่เกิดขึ้นต่อเนื่องจากปี 2566 มาจนถึงช่วงเมษายน 2567 ทำให้มีปริมาณฝนน้อยกว่าปีที่ผ่านมา ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำสำคัญและแหล่งน้ำตามธรรมชาติลดลง บางพื้นที่ประสบปัญหาสภาพอากาศร้อนจัด ทำให้พืชเจริญเติบโตช้า ให้ผลผลิตน้อยและไม่สมบูรณ์ สินค้าพืชที่มีผลผลิตลดลง ได้แก่ ข้าวนาปี ข้าวนาปรัง มันสำปะหลัง สับปะรดปัตตาเวีย ยางพารา ลำไย และทุเรียน ซึ่งข้าวนาปี ผลผลิตลดลงในทุกภูมิภาค เนื่องจากมีปริมาณฝนน้อยในช่วงเพาะปลูก เกษตรกรบางรายปล่อยที่นาให้ว่าง และบางพื้นที่ปลูกข้าวนาปีได้รอบเดียว ข้าวนาปรัง ผลผลิตลดลง เนื่องจากปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำและตามแหล่งน้ำธรรมชาติน้อยกว่าปีที่ผ่านมา เกษตรกรในบางพื้นที่จึงปล่อยที่นาให้ว่าง หรือปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชใช้น้ำน้อยหรือพืชผักแทน มันสำปะหลัง ผลผลิตลดลง เนื่องจากเกษตรกรยังประสบปัญหาขาดแคลนท่อนพันธุ์อย่างต่อเนื่องจากสภาพอากาศที่แห้งแล้งในปี 2566 ทำให้ท่อนพันธุ์ดีหายากและมีราคาสูง เกษตรกรบางรายจึงปล่อยพื้นที่ให้ว่างหรือเปลี่ยนไปปลูกพืชอื่น เช่น สับปะรด ยางพารา ข้าวโพดหวาน และข้าวโพดเมล็ดพันธุ์ นอกจากนี้ ภาวะแห้งแล้งยังทำให้ต้นมันสำปะหลังเจริญเติบโตไม่เต็มที่ สับปะรดปัตตาเวีย ผลผลิตลดลง เนื่องจากในช่วงเพาะปลูกต้นสับปะรดได้รับน้ำไม่เพียงพอ ผลเจริญเติบโตช้าและมีขนาดเล็กลง ยางพารา ผลผลิตลดลง เนื่องจากพื้นที่ปลูกบางส่วนในภาคใต้ยังคงมีการระบาดของโรคใบร่วง ประกอบกับเกษตรกรในภาคใต้และภาคกลางบางส่วนมีการตัดโค่นต้นยางอายุมากที่ให้ผลผลิตน้อย และปรับเปลี่ยนไปปลูกไม้ผลและปาล์มน้ำมันทดแทน ลำไย ผลผลิตลดลง เนื่องจากเกษตรกรในภาคเหนือและภาคตะวันออกมีการโค่นต้นลำไยอายุมากที่ให้ผลผลิตน้อยไปปลูกพืชอื่นแทน เช่น ทุเรียน ประกอบกับสภาพอากาศที่ร้อนสลับหนาว ส่งผลกระทบต่อการออกดอกและติดผลของลำไย และทุเรียน ผลผลิตลดลง เนื่องจากสภาพอากาศร้อนจัดและแปรปรวน รวมถึงปริมาณน้ำไม่เพียงพอ ทำให้ต้นทุเรียนที่กำลังจะออกดอก มีการติดดอกออกผลลดลง และผลทุเรียนบางส่วนร่วงหล่นเสียหาย
             สินค้าพืชที่มีผลผลิตเพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ อ้อยโรงงาน ปาล์มน้ำมัน มังคุด และเงาะ โดยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในปีที่ผ่านมาอยู่ในระดับสูง จูงใจให้เกษตรกรปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะข้าวโพดเลี้ยงสัตว์รุ่น 2 ประกอบกับปริมาณน้ำต้นทุนในอ่างเก็บน้ำมีค่อนข้างน้อย ทำให้เกษตรกรงดการปลูกข้าวนาปรังและเปลี่ยนมาปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์แทน อ้อยโรงงาน ผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากในช่วงเพาะปลูกและช่วงที่ต้นอ้อยเจริญเติบโต เกิดภาวะฝนทิ้งช่วงและภัยแล้ง ทำให้เกษตรกรต้องเลื่อนระยะเวลาเก็บเกี่ยวผลผลิตบางส่วนมาอยู่ในไตรมาส 2 ปี 2567 เพื่อให้ต้นอ้อยมีความสมบูรณ์มากขึ้น ปาล์มน้ำมัน ผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากในช่วงเดือนมีนาคม - เมษายน 2567 มีสภาพอากาศร้อนจัด ส่งผลให้ปาล์มน้ำมันเกิดภาวะสุกแดด โดยสีของผลปาล์มเป็นสีแดงส้มเหมือนสุกปกติ ประกอบกับราคาปาล์มน้ำมันมีแนวโน้มลดลง ทำให้เกษตรกรเร่งเก็บเกี่ยวผลผลิตเร็วกว่าปกติ มังคุด ผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากต้นมังคุดมีความสมบูรณ์มากขึ้นจากการได้พักต้นสะสมอาหารในปีที่ผ่านมา ทำให้มีผลผลิตทยอยออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้น เงาะ ผลผลิตเพิ่มเนื่องจากแหล่งผลิตที่สำคัญในภาคตะวันออก โดยเฉพาะจังหวัดตราดมีผลผลิตออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้น
            สาขาปศุสัตว์ ขยายตัวร้อยละ 0.6 เนื่องจากความต้องการบริโภคสินค้าปศุสัตว์ที่มีอย่างต่อเนื่องตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศ ประกอบกับเกษตรกรมีการบริหารจัดการฟาร์มที่ได้มาตรฐานและควบคุมเฝ้าระวังโรคได้ดีต่อเนื่อง ขณะที่ต้นทุนการผลิตยังอยู่ในระดับสูง สินค้าปศุสัตว์ที่มีผลผลิตเพิ่มขึ้น ได้แก่ สุกร ผลผลิตเพิ่มขึ้นเล็กน้อย เนื่องจากฟาร์มสุกรมีมาตรฐานการผลิตที่มีความปลอดภัยมากขึ้น สามารถควบคุมการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) ได้ แต่ราคาสุกรที่เกษตรกรขายได้ยังอยู่ในระดับต่ำ จึงไม่จูงใจให้เกษตรกรรายย่อยขยายการผลิตมากนัก และไก่เนื้อ ผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากการเพิ่มปริมาณการผลิตเพื่อรองรับความต้องการบริโภคภายในประเทศที่เพิ่มขึ้นตามภาคการท่องเที่ยวที่ขยายตัว สินค้าปศุสัตว์ที่มีผลผลิตลดลง ได้แก่ ไข่ไก่ ผลผลิตลดลง เนื่องจากการดำเนินมาตรการรักษาเสถียรภาพราคาไข่ไก่ มีการปรับสมดุลผลผลิตให้เหมาะสมกับความต้องการบริโภคภายในประเทศ โดยปรับลดจำนวนแม่ไก่ยืนกรง และ น้ำนมดิบ ผลผลิตลดลง เนื่องจากต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น ทำให้เกษตรกรบางรายเลิกกิจการหรือมีการปรับลดจำนวนโคที่เลี้ยง รวมถึงการเปลี่ยนไปเลี้ยงโคเนื้อแทน ทำให้จำนวนแม่โคให้นมลดลง
           สาขาประมง หดตัวร้อยละ 4.6 โดยสินค้าประมงที่มีผลผลิตลดลง ได้แก่ กุ้งขาวแวนนาไม ผลผลิตลดลง เนื่องจากราคากุ้งตกต่ำอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับต้นทุนการผลิตที่อยู่ในระดับสูง ส่งผลให้เกษตรกรลดพื้นที่การเพาะเลี้ยงและชะลอการปล่อยลูกกุ้ง สัตว์น้ำที่นำขึ้นท่าเทียบเรือ ผลผลิตลดลง เนื่องจากสภาพอากาศแปรปรวนและอุณหภูมิน้ำทะเลที่สูงขึ้น ประกอบกับราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งเป็นต้นทุนการผลิตหลักของการทำประมงทะเลปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้ผู้ประกอบการบางรายลดรอบการออกเรือจับสัตว์น้ำ ปลานิลและปลาดุก มีผลผลิตลดลง เนื่องจากต้นทุนค่าอาหารปลาที่อยู่ในระดับสูง ทำให้เกษตรกรชะลอการเลี้ยง ลดปริมาณการปล่อยลูกปลา ส่งผลให้ผลผลิตลดลง
             สาขาบริการทางการเกษตร หดตัวร้อยละ 1.0 เนื่องจากสภาพอากาศร้อนและแห้งแล้ง หลายพื้นที่มีน้ำไม่เพียงพอสำหรับการเพาะปลูกและการเจริญเติบโตของพืช ประกอบกับภาครัฐขอความร่วมมือให้ลดพื้นที่การเพาะปลูกข้าวนาปรัง เกษตรกรบางส่วนจึงปล่อยพื้นที่เพาะปลูกให้ว่าง ส่งผลให้กิจกรรมการจ้างบริการเตรียมดินและเก็บเกี่ยวผลผลิตพืชที่สำคัญลดลง อาทิ ข้าวนาปรัง มันสำปะหลัง และสับปะรดโรงงาน
             สาขาป่าไม้ ขยายตัวร้อยละ 2.7 โดยไม้ยางพาราเพิ่มขึ้นตามพื้นที่การตัดโค่นสวนยางพาราเก่าและปลูกทดแทนด้วยยางพาราพันธุ์ดีหรือพืชเศรษฐกิจอื่น ประกอบกับตลาดจีนมีความต้องการเพิ่มขึ้นเพื่อใช้ในการผลิตเฟอร์นิเจอร์ ส่วนไม้ยูคาลิปตัสเพิ่มขึ้นตามความต้องการใช้ในการแปรรูปเป็นเชื้อเพลิงชีวมวล (wood pellet) เพื่อส่งออกไปยังตลาดญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ถ่านไม้ เพิ่มขึ้นเนื่องจากความต้องการใช้ที่เพิ่มขึ้นของธุรกิจโรงแรมและร้านอาหารตามการท่องเที่ยวที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง และรังนกเพิ่มขึ้น เนื่องจากรังนกของไทยมีคุณภาพสูง เป็นที่ต้องการของอุตสาหกรรมแปรรูปรังนกทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ ขณะที่ ครั่ง ลดลงเนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อนจัดในช่วงที่ผ่านมา ไม่เอื้ออำนวยต่อการเจริญเติบโตของครั่ง รวมถึงมีการส่งออกไปยังประเทศอินเดียลดลง
             ทั้งนี้ แนวโน้มเศรษฐกิจการเกษตรในปี 2567 คาดว่าจะขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 0.2 – 1.2 เมื่อเทียบกับปี 2566 โดยมีปัจจัยสนับสนุน คือ ภาวะเอลนีโญที่สิ้นสุดลง ทำให้มีปริมาณฝนมากขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ประกอบกับการดำเนินนโยบายในการพัฒนาศักยภาพการผลิตและบริหารจัดการสินค้าเกษตรให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดการส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการผลิตและการแปรรูปสินค้าเกษตร การยกระดับสินค้าเกษตรให้มีคุณภาพและได้มาตรฐาน การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำเพื่อรองรับภัยพิบัติต่าง ๆ ตลอดจนการเพิ่มช่องทางให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ข้อมูลด้านต่าง ๆ เพื่อการวางแผนและรองรับความเสี่ยง นอกจากนี้ เศรษฐกิจในประเทศมีแนวโน้มขยายตัวได้ต่อเนื่อง โดยเฉพาะด้านการบริโภคและการส่งออก อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามเฝ้าระวัง อาทิ ความแปรปรวนของสภาพอากาศ การระบาดของโรคและแมลง รวมทั้งต้นทุนการผลิตที่ยังคงอยู่ในระดับสูง ส่วนปัจจัยภายนอก อาทิ ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ยืดเยื้อ และมาตรการกีดกันทางการค้าที่เข้มงวดมากขึ้น
 
*******************************************
ข่าว : ส่วนประชาสัมพันธ์ / ข้อมูล : กองนโยบายและแผนพัฒนาการเกษตร