- ข้อมูลเศรษฐกิจการเกษตร
- ภาวะเศรษฐกิจการเกษตร
- รายละเอียดภาวะเศรษฐกิจการเกษตร
ข้อมูลเศรษฐกิจการเกษตร
“จิ้งหรีด” แมลงเศรษฐกิจ จ.นครราชสีมา สร้างกำไรงามให้เกษตรกรปีละ 49,429 บาท
ข่าวที่ 116/2564 วันที่ 29 พฤศจิกายน 2564
“จิ้งหรีด” แมลงเศรษฐกิจ จ.นครราชสีมา สร้างกำไรงามให้เกษตรกรปีละ 49,429 บาท
นางสุจารีย์ พิชา ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 5 นครราชสีมา (สศท.5) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า “จิ้งหรีด” เป็นหนึ่งในสินค้าเกษตรทางเลือกที่มีอนาคต สามารถสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรได้เป็นอย่างดี ตลาดมีความต้องการต่อเนื่อง อีกทั้งองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ได้ส่งเสริมให้คนทั่วโลก หันมาบริโภคจิ้งหรีด เพราะเป็นแหล่งอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการที่สำคัญ ซึ่งประเทศไทย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือนับเป็นแหล่งผลิตแมลงเศรษฐกิจจิ้งหรีด อันดับ 1 ของประเทศ เนื่องจากสภาพอากาศค่อนข้างร้อน เหมาะสมสำหรับการเลี้ยงจิ้งหรีด ประกอบกับประชาชนในพื้นที่นิยมบริโภค ทำให้ตลาดมีความต้องการ โดยตลาดสำคัญของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่จังหวัดขอนแก่น และกาฬสินธุ์สศท.5 ได้ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์การผลิต ต้นทุน และผลตอบแทนจิ้งหรีดของจังหวัดนครราชสีมา พบว่า ปัจจุบันมีเกษตรกรผู้เลี้ยงรวม 77 ราย (ข้อมูลจากสำนักงานเกษตรจังหวัดนครราชสีมา ณ 4 พฤศจิกายน 2564) แหล่งผลิตครอบคลุม ในหลายพื้นที่ ได้แก่ อำเภอพิมาย อำเภอสีคิ้ว อำเภอจักราช อำเภอขามสะแกแสง อำเภอคง และอำเภอห้วยแถลง เกษตรกรนิยมเลี้ยงพันธุ์ทองดำ พันธุ์ทองแดง และจิ้งหรีดบ้าน (สะดิ้ง) เนื่องจากเป็นพันธุ์ทางการค้า ใช้ระยะเวลาในการเลี้ยงสั้น ได้ผลตอบแทนเร็วซึ่งเกษตรกรจะนิยมเลี้ยงเป็นคอกหรือบ่อตามพื้นที่บริเวณบ้านประมาณ 9 บ่อ/ครัวเรือน โดยระยะเวลา 1 ปี สามารถเลี้ยงจิ้งหรีดได้ 5 – 6 รุ่น สำหรับต้นทุนการผลิตจิ้งหรีดทั้ง 3 สายพันธุ์ เฉลี่ยอยู่ที่ 1,200.56 บาท/บ่อ หรือ 49.61 บาท/กิโลกรัม (บ่อขนาด 1.25 x 2 เมตร) ให้ผลผลิตจิ้งหรีดเฉลี่ย 24.20 กิโลกรัม/บ่อ ราคาที่เกษตรกรขายได้ ณ วันที่ 17 พฤศจิกายน 2564 ราคาขายส่งจิ้งหรีดแบบตัวสดเฉลี่ยอยู่ที่ 95 บาท/กิโลกรัม และราคาขายปลีกเฉลี่ยอยู่ที่ 105 บาท/กิโลกรัม เกษตรกรได้ผลตอบแทนเฉลี่ย 2,299 บาท/บ่อ หรือ 95 บาท/กิโลกรัม ผลตอบแทนสุทธิเฉลี่ย (กำไร) 1,098.44 บาท/บ่อ หรือ 45.39 บาท/กิโลกรัม หากคิดเป็นผลตอบแทนตลอดทั้งปีเกษตรกรจะได้กำไร 5,492.19 บาท/บ่อ/ปี หรือคิดเป็นผลกำไรทั้งสิ้น 49,429.71 บาท/ปี
ด้านสถานการณ์ตลาดจิ้งหรีดของจังหวัดนครราชสีมา พบว่า เกษตรกรมีการจำหน่ายจิ้งหรีด 2 รูปแบบ คือ จำหน่ายแบบตัวสด ร้อยละ 57 และแบบแปรรูป (ต้มสุก) ร้อยละ 43 สำหรับช่องทางการจำหน่าย ผลผลิตส่วนใหญ่ร้อยละ 65 เกษตรกรจะเน้นการขายปลีกตามหมู่บ้านหรือตลาดในพื้นที่ ส่วนผลผลิตร้อยละ 35 จำหน่ายให้กับพ่อค้าคนกลาง หรือผู้รวบรวมในพื้นที่ และจังหวัดใกล้เคียง ได้แก่ จังหวัดบุรีรัมย์ เพื่อนำไปแปรรูปต้มสุกแล้วแช่แข็งจำหน่ายให้พ่อค้ารายย่อยต่อไป อย่างไรก็ตามในช่วงสถานการณ์โควิด-19 เกษตรกรบางส่วนได้มีการปรับตัว สร้างโอกาส สร้างรายได้ให้ตนเอง โดยขายจิ้งหรีดทั้งแบบสด และแบบแปรรูป (ต้มสุก) ผ่านช่องทางออนไลน์ Facebook หรือ Line
ผู้อำนวยการ สศท.5 กล่าวเพิ่มเติมว่า จิ้งหรีดเป็นแมลงเศรษฐกิจที่มีศักยภาพในการผลิต เนื่องจากมีต้นทุนต่ำ ใช้ระยะเวลาดูแลต่อวันไม่มาก สร้างรายได้ดี และสามารถแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าได้ ซึ่งในส่วนของจังหวัดนครราชสีมาได้มีการส่งเสริม และสนับสนุนให้มีการจัดตั้งเป็นกลุ่มแปลงใหญ่และสร้างเครือข่ายเพื่อผลิตและบริหารจัดการร่วมกัน เกิดการพัฒนาและความยั่งยืนของการประกอบอาชีพ นอกจากนี้ เกษตรกรควรเฝ้าระวังเรื่องของสภาพอากาศที่เริ่มเข้าสู่ฤดูหนาว ซึ่งส่งผลให้จิ้งหรีดไม่ค่อยกินอาหาร ทำให้โตช้า ต้องใช้ระยะเวลาในการเลี้ยงนานขึ้น หากอากาศหนาวจัดอาจจะต้องใช้พลาสติกและผ้าคลุมบ่อในช่วงเวลากลางคืน ทั้งนี้ เกษตรกรหรือท่านใดสนใจข้อมูลสถานการณ์การผลิตจิ้งหรีดของจังหวัดนครราชสีมา สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สศท.5 โทร. 0 4446 5120 หรืออีเมล zone5@oae.go.th
******************************************************
ข่าว : ส่วนประชาสัมพันธ์ / ข้อมูล : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 5 นครราชสีมา