อุตรดิตถ์ ขับเคลื่อน BCG Model ผ่านกลุ่มแปลงใหญ่ต้นแบบ ผลิตถ่านไบโอชาร์ทุเรียน เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ข่าวที่ 21/2565  วันที่ 18 กุมภาพันธ์  2565
อุตรดิตถ์ ขับเคลื่อน BCG Model ผ่านกลุ่มแปลงใหญ่ต้นแบบ ผลิตถ่านไบโอชาร์ทุเรียน เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
             นายประเสริฐศักดิ์ แสงสัทธา ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 2 พิษณุโลก (สศท.2) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่าจากที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้เน้นนโยบายขับเคลื่อนภาคเกษตรด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG Model (Bio-Circular-Green Economy) การขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียวโดยมีเป้าหมายเพื่อ “ปรับเปลี่ยนระบบการเกษตรของประเทศไทยสู่ 3 สูง” คือ ประสิทธิภาพสูง มาตรฐานสูง และรายได้สูง ซึ่งจังหวัดอุตรดิตถ์ เป็นจังหวัดที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ความรับผิดชอบของ สศท.2 ได้มีการบูรณาการร่วมกับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ สถาบันการศึกษา และเครือข่ายภาคประชาสังคม ผ่านกลุ่มแปลงใหญ่ผู้ปลูกทุเรียนของจังหวัดอุตรดิตถ์อย่างเป็นรูปธรรม โดยส่งเสริมการผลิต ถ่านไบโอชาร์ (Biochar) หรือ ถ่านชีวภาพ จากวัสดุเหลือใช้ภายในสวนทุเรียน ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียนที่สนับสนุนให้มีการใช้เศษวัสดุทางการเกษตรอย่างเต็มประสิทธิภาพ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ รวมทั้งสามารถลดปริมาณขยะที่เป็นปัญหาและส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้เป็นอย่างมาก
              สำหรับสถานการณ์ภาพรวมการผลิตทุเรียนของจังหวัดอุตรดิตถ์ ปี 2565 (ข้อมูลพยากรณ์ ณ เดือนกุมภาพันธ์ 2565) พบว่า มีเนื้อที่ยืนต้น 42,813 ไร่ เนื้อที่ให้ผล 37,113 ไร่ ผลผลิตรวม 27,092 ตัน แหล่งผลิตสำคัญอยู่ที่อำเภอลับแลอำเภอท่าปลา และอำเภอเมือง โดยจังหวัดอุตรดิตถ์มีกลุ่มแปลงใหญ่ทุเรียน จำนวน 2 แปลง ได้แก่ กลุ่มแปลงใหญ่ทุเรียนบ้านด่านนาขาม และกลุ่มแปลงใหญ่ทุเรียนเมืองลับแล มีพื้นที่รวม 761 ไร่ ซึ่งจากการลงพื้นที่ของ สศท.2 พบว่า กลุ่มแปลงใหญ่ทุเรียนเมืองลับแล และเป็นศูนย์เรียนรู้เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) นับเป็นต้นแบบการขับเคลื่อนนโยบาย BCG Model อย่างเป็นรูปธรรม นำมาใช้ปฏิบัติจริงภายในสวนเมื่อประมาณกลางปี 2564 โดยนำวัสดุเหลือใช้จากสวนทุเรียนมาผลิตถ่านไบโอชาร์เพื่อนำกลับไปใช้ในการฟื้นฟูสภาพดิน กักเก็บน้ำและอาหารในดิน และเป็นที่อยู่ให้กับจุลินทรีย์ภายในสวน ซึ่งผลสำเร็จในระยะต่อไปคาดว่าจะช่วยลดต้นทุนและเพิ่มปริมาณผลผลิตได้เป็นอย่างดี อีกทั้งยังช่วยลดปัญหาขยะจากเปลือกทุเรียน และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
            กลุ่มแปลงใหญ่ทุเรียนเมืองลับแล ตั้งอยู่ ณ หมู่ที่ 10 ตำบลฝายหลวง อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2563 ปัจจุบันมีสมาชิก 121 ราย พื้นที่รวม 393 ไร่ โดยมี นายชยพล รังสฤษฎ์นิธิกุล เป็นประธานแปลงใหญ่ โดยในปี 2565 คาดว่าผลผลิตทุเรียนทั้งพันธุ์หมอนทอง และหลง-หลินลับแล มีผลผลิตประมาณ 800 ตัน (ร้อยละ 3 ของทุเรียนจังหวัดอุตรดิตถ์) ผลผลิตจะออกสู่ตลาดในช่วงเดือนพฤษภาคม – กรกฎาคม 2565 สำหรับการดำเนินงานด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน ในการนำวัสดุเหลือใช้จากสวนทุเรียนมาผลิตถ่านไบโอชาร์ ทางกลุ่มได้เข้ารับการอบรมการผลิตถ่านไบโอชาร์เปลือกทุเรียน จากมหาวิทยาลัยราชภัฎอุตรดิตถ์ และหน่วยงานสังกัดกระทรวงเกษตรฯ ได้แก่ สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดอุตรดิตถ์ สำนักงานเกษตรจังหวัดอุตรดิตถ์ และสำนักงานพัฒนาที่ดินอุตรดิตถ์ ซึ่งได้นำองค์ความรู้ดังกล่าวมาผสมผสานกับภูมิปัญญาท้องถิ่น ผลิตเตาสแตนเลสเพื่อเผาถ่านจากวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร อาทิ เปลือกทุเรียน ผลทุเรียนที่ร่วงหล่น และกิ่งใบ โดยนำไปตากแดดให้แห้ง แล้วนำมาเผาที่ความร้อน 600 - 800 องศาเซลเซียส จะได้ถ่านเปลือกทุเรียนคุณภาพดี มีความพรุนสูง บำรุงฟื้นฟูและเพิ่มความชุ่มชื้นในดิน ความเป็นรูพรุนของถ่านจะกักเก็บน้ำได้นาน และที่สำคัญสามารถลดขยะจากเปลือกทุเรียนที่มีปริมาณมาก โดยผลผลิตถ่านไบโอชาร์เปลือกทุเรียนที่ได้ส่วนใหญ่สมาชิกเกษตรกรจะนำมาใช้ในสวนของตนเอง ส่วนผลผลิตถ่านที่เหลือจะจำหน่ายให้เกษตรกรหรือผู้สนใจทั่วไปนำไปใส่บำรุงดินสำหรับเพาะกล้าไม้
            “การเผาถ่านชีวภาพเกษตรกรสามารถนำวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรอื่นๆ อาทิ ลองกอง มะขาม มะม่วงหิมพานต์ ฟางข้าว ซังข้าวโพด กิ่งไม้ ไม้ฉำฉา และไม้ยูคาลิปตัส มาใช้ในการผลิตได้อีกด้วย ซึ่งจะช่วยลดปัญหาขยะที่ทิ้งตามสถานที่ต่างๆ โดยเฉพาะเปลือกทุเรียนที่มีมากถึง 2 ใน 3 ของปริมาณทุเรียนทั้งหมด เป็นการสร้างสภาพแวดล้อมที่ดี และยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของชุมชนจังหวัดอุตรดิตถ์ได้อย่างยั่งยืน ซึ่งกลุ่มแปลงใหญ่ทุเรียนเมืองลับแล มีแนวทางการดำเนินงานขับเคลื่อนด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนในอนาคต โดยการพัฒนาสมาชิกกลุ่มที่เป็นเกษตรกรรุ่นใหม่ให้มีการจัดทำฐานข้อมูลทุเรียนที่ผลิตโดยใช้ถ่านไบโอชาร์กับการผลิตแบบทั่วไป เพื่อเปรียบเทียบข้อมูลด้านเศรษฐกิจ อาทิ ต้นทุนการผลิต ผลตอบแทน และผลผลิตต่อไร่ นอกจากนี้ ยังมุ่งพัฒนาให้เป็นศูนย์ต้นแบบผลิตถ่านไบโอชาร์จากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เพื่อเป็นสถานที่ศึกษาดูงานให้แก่บุคคลทั่วไป หากเกษตรกรหรือท่านใดที่สนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ นายชยพล รังสฤษฎ์นิธิกุล ประธานแปลงใหญ่ทุเรียนเมืองลับแล โทร 08 9565 3885” ผู้อำนวยการ สศท.2 กล่าวทิ้งท้าย  
************************************
ข่าว : ส่วนประชาสัมพันธ์ / ข้อมูล : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 2 พิษณุโลก