รองปลัด กษ. นั่งหัวโต๊ะ ประชุมคณะกรรมการนโยบายและพัฒนาสับปะรดแห่งชาติ พิจารณาแผนพัฒนาด้านสับปะรด พ.ศ. 2566 - 2570

ข่าวที่ 53/2565  วันที่ 26 พฤษภาคม 2565
รองปลัด กษ. นั่งหัวโต๊ะ ประชุมคณะกรรมการนโยบายและพัฒนาสับปะรดแห่งชาติ
พิจารณาแผนพัฒนาด้านสับปะรด พ.ศ. 2566 - 2570
        นายโอภาส ทองยงค์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายและพัฒนาสับปะรดแห่งชาติ ณ ห้องประชุมกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และผ่านระบบการประชุมออนไลน์ (Zoom Meeting) โดยที่ประชุมได้พิจารณาการจัดทำแผนพัฒนาด้านสับปะรด พ.ศ. 2566 - 2570 ได้แก่ 1) เห็นชอบปรับปรุงองค์ประกอบและอำนาจหน้าที่คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาสับปะรด โดยเพิ่มเติมเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติหรือผู้แทน เป็นอนุกรรมการ และเพิ่มอำนาจหน้าที่การจัดทำแผนพัฒนาด้านสับปะรด 2) เห็นชอบร่างคำสั่งคณะกรรมการนโยบายและพัฒนาสับปะรด ที่..../2565 เรื่อง ปรับปรุงองค์ประกอบและอำนาจหน้าที่ของคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาสับปะรด และมอบหมายฝ่ายเลขานุการฯ นำเสนอประธานกรรมการนโยบายและพัฒนาสับปะรด เพื่อลงนามต่อไป และ 3) ได้มอบหมายให้คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาสับปะรด ดำเนินการยกร่างแผนพัฒนาด้านสับปะรด โดยนำโครงร่างหัวข้อแผนพัฒนาด้านสับปะรด พ.ศ. 2566 – 2570 จุดยืนและประเด็นการพัฒนาด้านสับปะรดไปใช้ประกอบการพิจารณา และให้นำแผนเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายและพัฒนาสับปะรด เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไปด้วย
        นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้รับทราบผลการดำเนินงานภายใต้แผนปฏิบัติการด้านสับปะรด ปี 2564 ทั้งในด้านการเพิ่มประสิทธิภาพและบริหารจัดการผลิต ด้านการเพิ่มศักยภาพอุตสาหกรรมแปรรูป ด้านการเพิ่มศักยภาพการตลาดและส่งออก และรับทราบสถานการณ์สับปะรดโรงงาน และแนวทางการดำเนินการบริหารจัดการสับปะรด ปี 2565 โดยคาดว่าสถานการณ์การผลิต ปี 2565 จะมีเนื้อที่เก็บเกี่ยว 457,255 ไร่ ผลผลิต 1.772 ล้านตัน ผลผลิตต่อไร่ 3,875 กิโลกรัม เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาร้อยละ 0.39 ร้อยละ 2.68 และร้อยละ 2.27 ตามลำดับ เนื่องจาก ตั้งแต่ปี 2563 ถึงต้นปี 2564 ราคาอยู่ในเกณฑ์ดีทำให้เกษตรกรรายใหม่ขยายพื้นที่ปลูกในพื้นที่ปล่อยว่างที่เคยปลูกสับปะรดมาก่อน ปลูกแซมสวนยางพาราที่ปลูกใหม่ และคาดว่าสภาพอากาศเหมาะสม ปริมาณน้ำฝนเพียงพอ ต้นสับปะรดสมบูรณ์ดี สามารถบังคับการออกผลได้เต็มที่ เกษตรกรมีการบำรุงรักษาต้นที่ดี ส่งผลให้ผลผลิตรวมทั้งประเทศเพิ่มขึ้น โดยแหล่งผลิตสำคัญ ได้แก่ ประจวบคีรีขันธ์ ราชบุรี พิษณุโลก เพชรบุรี และระยอง
        สำหรับสถานการณ์การตลาด ราคาที่เกษตรกรขายได้ ปี 2565 (มกราคม – เมษายน 65) สับปะรดที่เข้าโรงงานเฉลี่ยกิโลกรัมละ 6.63 บาท ลดลงจากกิโลกรัมละ 7.18 บาท ในช่วงเดียวกันของปี 2564 ร้อยละ 7.66 เนื่องจากปริมาณผลผลิตเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา และจากสถานการณ์การระบาดของโควิด - 19 โรงงานแปรรูปจึงปรับกำลังการผลิตให้สอดคล้องกับภาวะผลผลิต ภาวะต้นทุน และสถานการณ์โควิด-19  สับปะรดที่ใช้บริโภคเฉลี่ยกิโลกรัมละ 9.92 บาท ลดลงจากกิโลกรัมละ10.32 บาท ในช่วงเดียวกันของปี 2564 ร้อยละ 3.88 ด้านการส่งออก ปี 2565 (มกราคม - มีนาคม) ส่งออกรวม 140,019 ตัน มูลค่า 6,954 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาร้อยละ 8.05 และร้อยละ 28.79 ตามลำดับ สับปะรดกระป๋อง ส่งออกปริมาณ 106,003 ตัน มูลค่า 4,295 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.10 และร้อยละ 11.81 ตามลำดับ น้ำสับปะรด ส่งออก ปริมาณ 17,721 ตัน มูลค่า 1,114 ล้านบาท เพิ่มขึ้น ร้อยละ 44.60 และร้อยละ 83.88 ตามลำดับ เนื่องจาก สถานการณ์โควิด เริ่มคลี่คลาย ทำให้ความต้องการของตลาดต่างประเทศเพิ่มขึ้น
        อย่างไรก็ตาม เพื่อให้การบริหารจัดการผลผลิตสับปะรดปี 2565 เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ได้มอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการฯ แจ้งกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงพาณิชย์ ประสานผู้ว่าราชการจังหวัด ในฐานะประธานคณะกรรมการเพื่อแก้ไขปัญหาเกษตรกรอันเนื่องมาจากผลผลิตการเกษตรระดับจังหวัด (คพจ.) และพาณิชย์จังหวัด ในฐานะคณะทำงานด้านการตลาดระดับจังหวัด (เซลล์แมนจังหวัด) ติดตามสถานการณ์ และดำเนินการตามแนวทางการบริหารจัดการผลผลิตสับปะรดทั้ง 5 ด้าน ได้แก่ 1) เชื่อมโยงตลาดล่วงหน้า ประสานโรงงานแปรรูปทั้งในและต่างจังหวัด รวมทั้งขอความร่วมมือให้เพิ่มกำลังการผลิต 2) กระจายผลผลิตภายในจังหวัดและออกนอกแหล่งผลิต โดยเชื่อมโยงตลาดผ่านเครือข่ายภาครัฐ เอกชน ช่องทาง Online และ Offline รวมทั้งจัดหาจุดจำหน่ายสับปะรด 3) ส่งเสริมการบริโภค โดยจัดงานประจำจังหวัด งานแสดงสินค้า ตลาดประชารัฐ ร้านธงฟ้า อตก. ฯลฯ ส่งเสริมการบริโภคสับปะรดในหน่วยงานราชการ โรงพยาบาล โรงเรียน เรือนจำ นิคมอุตสาหกรรม ฯลฯรวมทั้งประชาสัมพันธ์กระตุ้นการบริโภค 4) ส่งเสริมการแปรรูป โดยขอความร่วมมือกลุ่มวิสาหกิจชุมชน สถาบันเกษตรกร และภาคเอกชน รับซื้อผลผลิตเพื่อนำมาแปรรูป และ 5) ส่งเสริมการผลิตสับปะรดเพื่อบริโภคเพิ่มขึ้น และรายงานผลการดำเนินการให้สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ในฐานะฝ่ายเลขานุการฯ ทราบเป็นระยะต่อไป
*****************************************
ข่าว : ส่วนประชาสัมพันธ์ / ข้อมูล : สำนักวิจัยเศรษฐกิจการเกษตร