- ข้อมูลเศรษฐกิจการเกษตร
- ภาวะเศรษฐกิจการเกษตร
- รายละเอียดภาวะเศรษฐกิจการเกษตร
ข้อมูลเศรษฐกิจการเกษตร
เลขาธิการ สศก. ขึ้นเวที FTI EXPO 2022 ปาฐกถาพิเศษ ชูแนวคิด พลิกโฉมเกษตรไทยด้วย BCG ก้าวสู่เกษตรอุตสาหกรรมมูลค่าสูง พัฒนาเศรษฐกิจให้ยั่งยืน
ข่าวที่ 67/2565 วันที่ 3 กรกฎาคม 2565
เลขาธิการ สศก. ขึ้นเวที FTI EXPO 2022 ปาฐกถาพิเศษ
ชูแนวคิด พลิกโฉมเกษตรไทยด้วย BCG ก้าวสู่เกษตรอุตสาหกรรมมูลค่าสูง พัฒนาเศรษฐกิจให้ยั่งยืน
วันนี้ (3 กรกฎาคม 2565) นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.)โฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมเวทีปฐกถา ในงาน “FTI EXPO 2022 : SHAPING FUTURE INDUSTRIES มหกรรมแสดงสินค้าและนวัตกรรมของอุตสาหกรรมไทย” ซึ่งจัดโดยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมจังหวัดเชียงใหม่ จัดงานดังกล่าวขึ้น ระหว่างวันที่ 29 มิถุนายน-3 กรกฎาคม 2565 ณ ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติฯ จังหวัดเชียงใหม่ โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดงาน ภายในงานมีการจัดมหกรรมแสดงสินค้าและนวัตกรรมอุตสาหกรรมไทย กิจกรรมบนเวทีกลาง ทั้งการเสวนา การร่วมสนุกในกิจกรรมต่างๆ ร่วมด้วยกลุ่มผู้นำองค์กรทั้งภาครัฐและภาคเอกชนที่มาร่วมแสดงวิสัยทัศน์ พร้อมเทคโนโลยีและนวัตกรรมล้ำยุคจากภูมิภาคทั่วประเทศ และผู้ประกอบการ บนพื้นที่กว่า 30,000 ตารางเมตร ออกบูทสินค้าผลิตภัณฑ์ที่โดดเด่นมาจัดแสดงภายในงานชูแนวคิด พลิกโฉมเกษตรไทยด้วย BCG ก้าวสู่เกษตรอุตสาหกรรมมูลค่าสูง พัฒนาเศรษฐกิจให้ยั่งยืน
โอกาสนี้ เลขาธิการ สศก. ได้กล่าวปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “พลิกโฉมเกษตรไทย (Disruptive Change) ด้วยแนวคิด BCG พัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน” โดยสรุปว่า การพัฒนาประเทศในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา ส่งผลให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างฟุ่มเฟือย เกิดความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และความเหลื่อมล้ำทางด้านเศรษฐกิจและสังคมมากขึ้น ขณะที่อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศในระยะหลังเริ่มชะลอตัวลง โดยในปี 2560 - 2564 มีอัตราการเติบโตเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 0.43 ต่อปี ซึ่งอัตราการเติบโตดังกล่าวไม่เพียงพอในการนำพาประเทศให้ก้าวข้าม “กับดักรายได้ปานกลาง” ไปสู่การเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว
สำหรับภาคเกษตรไทย เกี่ยวข้องกับประชากรเกือบ 24 ล้านคน คิดเป็นพื้นที่การเกษตร 149.24 ล้านไร่ หรือพื้นที่เกือบครึ่งหนึ่งของประเทศในการผลิตทางการเกษตร แต่พื้นที่ทางการเกษตรส่วนใหญ่ เราใช้ในการผลิตสินค้าเกษตรเพียงไม่กี่ชนิด เช่น ข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง อ้อย ข้าวโพด และปาล์มน้ำมัน ซึ่งเป็นสินค้าโภคภัณฑ์ (Commodity) ที่ราคามีความผันผวนตามสภาพภูมิอากาศและอุปทานในตลาดโลก จึงส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้เฉลี่ยค่อนข้างต่ำ การเพิ่มรายได้ของเกษตรกรด้วยการเพิ่มปริมาณผลผลิตนั้น จำเป็นต้องแลกด้วยการใช้ทรัพยากรเป็นจำนวนมาก หรือที่เรียกว่า “ทำมาก แต่ได้น้อย”
นอกจากนี้ ภาคเกษตรยังต้องเผชิญบริบทต่างๆ ในช่วงที่ผ่านมา ทั้งการแพร่ระบาดของโควิด - 19 ความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างประเทศ เทคโนโลยีที่ก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ การขาดแคลนแรงงานภาคการเกษตร การขยายตัวของความเป็นเมือง รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ การปล่อยก๊าซเรือนกระจกและกระแสการเติบโตแบบสีเขียว (Green Growth) หรือการเติบโตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งด้วยบริบทต่างๆ เหล่านี้ ทำให้ประเทศไทย รวมถึงภาคเกษตร จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม โดยในปี 2564 รัฐบาล ได้เห็นชอบให้ BCG Model หรือการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy) เป็นโมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน และเป็นวาระแห่งชาติ
แนวคิดโมเดลเศรษฐกิจ BCG ได้ถูกนำมาใช้เป็นหลักสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาภาคการเกษตรบนฐานความหลากหลายทางชีวภาพ โดยนำเอาความรู้และความก้าวหน้าของเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาพัฒนาต่อยอด และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับทรัพยากรชีวภาพและผลผลิตทางการเกษตร หรือที่เรียกว่า “ทำน้อย แต่ได้มาก” เพื่อสร้างรายได้ ให้แก่เกษตรกร ช่วยแก้ปัญหาเศรษฐกิจฐานราก ผลผลิตสินค้าเกษตรล้นตลาดและราคาตกต่ำ ทำให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า เกิดประโยชน์สูงสุด และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
การพลิกโฉมเกษตรไทย (Disruptive Change) ด้วยแนวคิดเศรษฐกิจ BCG ให้ประสบความสำเร็จได้นั้น จำเป็นต้องวางเป้าหมายและทิศทางการพัฒนาให้ชัดเจน โดยเน้นการปรับเปลี่ยนระบบการเกษตรของประเทศไทยสู่ 3 สูง คือ ประสิทธิภาพสูง มาตรฐานสูง และ รายได้สูง ซึ่งประสิทธิภาพสูง คือการใช้เทคโนโลยี นวัตกรรมผสานภูมิปัญญาท้องถิ่น ยกระดับผลผลิตเกษตร มาตรฐานสูง ด้วยระบบการผลิตที่ยั่งยืน ครอบคลุมทั้งด้านคุณภาพผลผลิต โภชนาการ ความปลอดภัย สิ่งแวดล้อม สังคม และวัฒนธรรม และ รายได้สูง ด้วยการผลิตสินค้าเกษตรที่เน้นความเป็นพรีเมียม มีความหลากหลาย และกำหนดราคาขายได้ตามคุณภาพของผลผลิตเกษตร เพื่อเป้าหมายให้การทำการเกษตรเป็นอาชีพที่สร้างความมั่นคง
หากจะมองแนวทางการเปลี่ยนแปลงเพื่อพลิกโฉมภาคการเกษตร ด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG ซึ่งเริ่มจาก B คือ Bio Economy หรือเศรษฐกิจชีวภาพ ด้วยแนวคิด “สร้างมูลค่า (Value Creation)” การจะสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเกษตรเหล่านี้ได้ ประการแรก ต้องพัฒนาและยกระดับการผลิตเกษตรมูลค่าสูง โดยปรับโครงสร้างการผลิตจากผลิตมากแต่สร้างรายได้น้อย (More for Less) ไปสู่การผลิตน้อยแต่สร้างรายได้มาก (Less for More) ด้วยการปรับเปลี่ยนการปลูกพืชในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสมไปสู่การผลิตสินค้าเกษตรที่มูลค่าเพิ่มสูง มีการสร้างความแตกต่างให้กับสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์ โดยส่งเสริมการผลิตสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ความต้องการของตลาด ยกระดับมาตรฐานสินค้าเกษตรและพัฒนาระบบตรวจสอบย้อนกลับ เพื่อให้สามารถตรวจสอบข้อมูลสินค้าได้ตลอดกระบวนการ และการส่งเสริมและพัฒนาการผลิตสินค้าเกษตรที่เชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมอนาคต ด้วยการส่งเสริมและสนับสนุนการนำผลผลิตทางการเกษตรมาเป็นวัตถุดิบตั้งต้น อาทิ สมุนไพรแปรรูป ผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูปที่ใช้โปรตีนทางเลือก อาหารทางการแพทย์ ผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสุขภาพ อาหารฟังก์ชัน (Functional food) อุตสาหกรรมชีวภาพ เช่น เชื้อเพลิงชีวภาพ และเคมีชีวภาพ อุตสาหกรรมยาและเวชภัณฑ์ การผลิตสารสกัดจากวัตถุดิบธรรมชาติ และสารออกฤทธิ์ (Active Ingredient) จากวัตถุดิบทางธรรมชาติ เพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร และตอบสนองพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป
C คือ Circular Economy หรือเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยนำแนวคิด “ของเสีย/ขยะเป็นศูนย์ (Zero Waste)” ซึ่งภาคเกษตรถือเป็นแหล่งผลิตขยะธรรมชาติที่มีปริมาณมาก และก่อให้เกิดปัญหาในการทำลาย ดังนั้น ควรมีการส่งเสริมการบริหารจัดการวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรอย่างเต็มประสิทธิภาพ (Zero Waste) โดยการบริหารจัดการของเสีย ขยะจากฟาร์ม แปลงเกษตรอย่างเป็นระบบ เพื่อหยุดการเผาในพื้นที่เกษตรและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และการนำกลับมาใช้ใหม่ การใช้ซ้ำ ส่งเสริมการทำเกษตรแบบปลอดการเผา รวมทั้งการส่งเสริมการแปรรูปวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรเป็นผลิตภัณฑ์หรือพลังงานเชื้อเพลิง โดยนำวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อื่น ๆ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและสร้างรายได้ เช่น ภาชนะหรือบรรจุภัณฑ์จากธรรมชาติ ผลิตภัณฑ์ทดแทนไม้จากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร บล็อคกันความร้อนหรือผนังดูดซับเสียงจากฟางข้าว รวมทั้งส่งเสริมและสนับสนุนการใช้ผลผลิตของเหลือ หรือผลพลอยได้ทางการเกษตรมาใช้เป็นวัตถุดิบตั้งต้นในอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพ โรงไฟฟ้าชีวมวล และโรงไฟฟ้าชีวภาพ อุตสาหกรรมแปรรูปวัสดุทางการเกษตร เป็นต้น
G คือ Green Economy หรือเศรษฐกิจสีเขียว โดยนำแนวคิด “สมดุลและยั่งยืน (Balance & Sustainability)” ซึ่งการทำการเกษตรที่ผ่านมา มีการนำทรัพยากรมาใช้อย่างฟุ่มเฟือยและใช้ประโยชน์ไม่เต็มประสิทธิภาพ กระบวนการผลิตที่นำสารเคมีและปุ๋ยมาใช้ในปริมาณมากเกินไป ซึ่งการจะทำให้ภาคเกษตรมีกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมหรือเกษตรสีเขียว และใช้ทรัพยากรการผลิตอย่างสมดุลและยั่งยืน โดยต้องสร้างความสมดุลและยั่งยืนในการใช้ทรัพยากรทางการเกษตร สร้างกลไกการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนและการแบ่งปันผลประโยชน์อย่างเท่าเทียมและยุติธรรม ในระดับท้องถิ่น อนุรักษ์ ฟื้นฟู และใช้ทรัพยากรทางการเกษตรอย่างสมดุล ส่งเสริมการผลิตและบริโภคสินค้าเกษตรที่รักษาระบบนิเวศและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร ให้เกิดการเข้าถึงอาหารที่มีอย่างเพียงพอสำหรับการบริโภค อาหารมีความปลอดภัยและมีคุณค่าทางโภชนาการ รวมทั้งการมีระบบการผลิตที่เกื้อหนุนรักษาความสมดุลของระบบนิเวศ มีการส่งเสริมให้เกษตรกรใช้สารเคมีทางการเกษตรอย่างถูกต้อง เหมาะสมและมีความปลอดภัย โดยบริหารจัดการการใช้สารเคมีในภาคเกษตรทั้งระบบให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล อาทิ การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีและเหมาะสม (GAP) การใช้สารชีวภัณฑ์ทดแทนในการป้องกันกำจัดศัตรูพืช เพื่อลดต้นทุนการผลิต และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเกษตร และประการสุดท้าย ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยส่งเสริมการหยุดการเผาในพื้นที่การเกษตร พัฒนาฐานข้อมูล องค์ความรู้ และเทคโนโลยี เพื่อสนับสนุนการปรับตัวรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงการตลาดสำหรับสินค้าคาร์บอนต่ำ เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ หรือ Net Zero Emission
“การจะร่วมกันพลิกโฉมเกษตรไทย ด้วยแนวคิด BCG พัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนจะเกิดขึ้นได้ แน่นอนว่า ต้องอาศัยความร่วมมือจากภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน บูรณาการร่วมกันในระดับพื้นที่ การใช้ตลาดนำการผลิต รู้จักนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ในการเพิ่มผลิตภาพและศักยภาพการผลิต ที่สำคัญต้องร่วมกันใช้วิกฤตมาสร้างโอกาส จากกระแส Disruption / Digital Transformation ให้เป็นความท้าทาย จุดประกายศักยภาพ พลิกโฉมภาคเกษตรไทย ผ่านแนวคิด BCG เพื่อนำพาประเทศก้าวสู่เกษตรอุตสาหกรรม เกษตรมูลค่าสูง และยกระดับเกษตรกรสู่อาชีพเกษตรกรรมแห่งอนาคตที่สมบูรณ์แบบไปพร้อมกัน” เลขาธิการ สศก. กล่าว
*********************************************
ข่าว : ส่วนประชาสัมพันธ์ / ข้อมูล : กองนโยบายและแผนพัฒนาการเกษตร