- ข้อมูลเศรษฐกิจการเกษตร
- ภาวะเศรษฐกิจการเกษตร
- รายละเอียดภาวะเศรษฐกิจการเกษตร
ข้อมูลเศรษฐกิจการเกษตร
เฉลิมชัย จับมือ คปภ. พร้อม 2 บริษัท โบรกเกอร์ประกันภัย TQM TQR เปิดตัว โครงการ “คุ้มครองอุบัติเหตุ เซฟเกษตรอาสา” นำร่อง อกม. ศกอ. 20,000 กรมธรรม์
ข่าวที่ 81/2565 วันที่ 11 สิงหาคม 2565
เฉลิมชัย จับมือ คปภ. พร้อม 2 บริษัท โบรกเกอร์ประกันภัย TQM TQR
เปิดตัว โครงการ “คุ้มครองอุบัติเหตุ เซฟเกษตรอาสา” นำร่อง อกม. ศกอ. 20,000 กรมธรรม์
เปิดตัว โครงการ “คุ้มครองอุบัติเหตุ เซฟเกษตรอาสา” นำร่อง อกม. ศกอ. 20,000 กรมธรรม์
วันนี้ (11 สิงหาคม 2565) ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานเปิดตัว โครงการ “คุ้มครองอุบัติเหตุ เซฟเกษตรอาสา” อันเป็นความร่วมมือกัน ระหว่าง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์โดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) บริษัท ทีคิวเอ็ม คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ที คิว อาร์ จำกัด (มหาชน) โดยมีนายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการ สศก. ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการ คปภ. ดร.อัญชลิน พรรณนิภา ประธานบริษัท ทีคิวเอ็ม คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และ นายชนะพันธุ์ พิริยะพันธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ที คิว อาร์ จำกัด (มหาชน) ร่วมเปิดตัวโครงการฯ ณ ห้องประชุม 3 อาคารนวัตกรรม สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร โดยมีการเผยแพร่ผ่านระบบออนไลน์ ZOOM Meeting และ FB Live เศรษฐกิจการเกษตรเพื่อประชาชน ในครั้งนี้ด้วย
โอกาสนี้ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมา กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ดำเนินนโยบายเพื่อยกระดับรายได้และพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกรไทย โดยมีบุคลากรที่มุ่งมั่นทำงานในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคหลายหมื่นคน แต่ยังคงไม่เพียงพอที่จะเข้าถึงปัญหาและความต้องการของเกษตรกรรายบุคคลที่มีมากถึง 7.5 ล้านครัวเรือน ทั่วประเทศ ซึ่งกลุ่มอาสาสมัครเกษตร นับเป็นฟันเฟืองสำคัญที่จะทำหน้าที่เป็นผู้นำด้านการเกษตรในพื้นที่ ประสานงานและเชื่อมโยงเกษตรกรกับหน่วยงานในสังกัดของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในการให้ความช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาให้เกษตรกรร่วมกัน ดังนั้น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงขยายความร่วมมือกับ คปภ. โดยดำเนินโครงการ “คุ้มครองอุบัติเหตุ เซฟเกษตรอาสา” เพื่อให้ความคุ้มครองแก่เกษตรกร โดยได้นำร่องให้กับอาสาสมัครอาสาสมัครเกษตรหมู่บ้าน (อกม.) และ เศรษฐกิจการเกษตรอาสา (ศกอ.) เป็นกลุ่มแรก รวม 20,000 กรมธรรม์ เพราะนอกจาก อกม. ศกอ. จะมีอาชีพด้านการเกษตร คือ ทำการผลิตการเกษตรของตนเองแล้ว ยังมีบทบาทภารกิจต่างๆ ที่จะดำเนินการร่วมกับเจ้าหน้าที่และเกษตรกร ทั้งด้านการลงพื้นที่เพื่อร่วมสำรวจ รวบรวมข้อมูล การให้คำปรึกษาและแก้ไขปัญหาแก่เกษตรกร ตลอดจนการประสานงานกับเจ้าหน้าที่ ซึ่งจะต้องเผชิญความเสี่ยงทั้งการเดินทางและปฏิบัติภารกิจที่มากมาย
“ปัจจุบัน นอกจากเกษตรกร ต้องเผชิญกับความเสี่ยง ทั้งภัยพิบัติทางธรรมชาติ ความผันผวนของราคา ความไม่แน่นอนของตลาด รวมไปถึงวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่ที่ผ่านมาแล้ว สิ่งหนึ่งที่สำคัญ คือ ความเสี่ยงทางด้านอุบัติเหตุ ที่อาจเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา และในทุกสถานที่ โดยมิได้คาดคิดมาก่อน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงได้ดำเนินโครงการ “คุ้มครองอุบัติเหตุ เซฟเกษตรอาสา” อันเป็นการเตรียมความพร้อมและปกป้องเกษตรกรไว้ล่วงหน้า เพื่อสร้างความเข้มแข็ง เสริมภูมิคุ้มกัน และยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรไทยให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะยังคงมุ่งมั่นในการดำเนินนโยบาย เพื่อให้ความคุ้มครองและดูแลอาสาสมัครเกษตรรวมไปถึงเกษตรกรทุกท่าน ให้ครอบคลุมในด้านอื่น ๆ ต่อไป เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดี มั่นคง ปลอดภัย และโอกาสนี้ต้องขอขอบคุณในความเสียสละและความทุ่มเทในการทำงานของอาสาสมัครเกษตรทุกๆ ท่าน และขอขอบคุณทาง คปภ. รวมทั้ง บริษัท ทีคิวเอ็ม คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ที คิว อาร์ จำกัด (มหาชน) ที่ได้ให้ความร่วมมือและผลักดันโครงการ “คุ้มครองอุบัติเหตุเซฟ เกษตรอาสา” จนเป็นผลสำเร็จร่วมกัน” รัฐมนตรีเกษตรฯ กล่าว
นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กล่าวว่า สำหรับ อกม. และ ศกอ. ที่สนใจทำประกันอุบัติเหตุในโครงการนี้ สามารถสมัครได้ผ่านระบบออนไลน์ QR Code ซึ่งใช้เวลาเพียงไม่กี่นาทีเท่านั้นในการสมัคร ก็สามารถรับความคุ้มครองประกันอุบัติเหตุได้ทันที โดยความร่วมมือระหว่าง สศก. และ คปภ. จะยังคงเดินหน้าพัฒนาระบบกันภัยภาคเกษตรร่วมกัน เพื่อให้ความช่วยเหลือ ดูแล และคุ้มครองพี่น้องเกษตรกร ซึ่งดำเนินการร่วมกันภายใต้ “คณะกรรมการความร่วมมือพัฒนาระบบประกันภัยการเกษตร” ในการกำหนดทิศทางและแนวทางในการดำเนินการ ทั้งการขยายขอบเขตของการประกันภัยในปัจจุบันไปสู่สินค้าเกษตรชนิดอื่น ๆ นอกเหนือไปจากข้าวนาปีและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ตามนโยบายของภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นพืชเศรษฐกิจ พืชรอง หรือสินค้าเกษตรที่มีอนาคตทางการตลาดสูง รวมถึงต่อยอดกรมธรรม์ประกันภัยสินค้าเกษตรที่เอกชนเป็นผู้ดำเนินการอยู่แล้ว นอกจากนี้ จะร่วมกันสร้างทีมงานร่วมมือทางด้านวิชาการ คิดค้นและพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยรูปแบบใหม่ ๆ โดยศึกษาข้อมูล อย่างครอบคลุม ครบทุกมิติความเสี่ยง ทั้งความผันผวน ของปริมาณผลผลิต ราคา ตลาด และความต้องการของเกษตรกรในแต่ละพื้นที่ รวมทั้งสร้างแรงจูงใจ สนับสนุนให้เกษตรกรเข้าสู่ระบบการคุ้มครองความเสี่ยงอย่างเป็นระบบ หันมาใช้การประกันภัยเป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการทางการเงินของตนเอง
ด้าน ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการ คปภ. กล่าวว่า สำนักงาน คปภ. ได้ให้ความสำคัญกับภาคเกษตรกรรมของประเทศเป็นอย่างยิ่ง “โครงการคุ้มครองอุบัติเหตุ เซฟเกษตรอาสา” เป็นโครงการที่สำนักงาน คปภ. และสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ได้ดำเนินการร่วมกันในการพัฒนากรมธรรม์ประกันภัยรายย่อยเพื่อเกษตรอาสา (ไมโครอินชัวรันส์) ขึ้น ซึ่งถือได้ว่าเป็นกรมธรรม์ประกันภัยอุบัติเหตุฉบับแรกของประเทศไทย ที่มุ่งเน้นให้กับเกษตรกรได้ใช้ระบบการประกันภัยในการบริหารความเสี่ยงให้กับตนเองและครอบครัว นอกเหนือจากประกันภัยด้านเกษตรกรรม โดยมีกลุ่มเป้าหมายในการมอบกรมธรรม์ประกันภัยอุบัติเหตุให้กับอาสาสมัครทางการเกษตร คือ อกม. และ ศกอ. จากทั่วประเทศ จำนวน 20,000 กรมธรรม์โดยมีความคุ้มครอง คือ 1. กรณีเสียชีวิต สูญเสียมือ เท้า สูญเสียสายตา หรือทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง เนื่องจากอุบัติเหตุไม่รวมการถูกฆาตกรรมลอบทำร้ายร่างกายและ/หรือ อุบัติเหตุขณะขับขี่หรือโดยสารรถจักรยานยนต์ จำนวนเงินเอาประกันภัย 100,000 บาท 2. กรณีเสียชีวิต สูญเสียมือ เท้า สูญเสียสายตา หรือทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง จากการถูกฆาตกรรมลอบทำร้ายร่างกาย และ/หรืออุบัติเหตุขณะขับขี่หรือโดยสารรถจักรยานยนต์ จำนวนเงินเอาประกันภัย 50,000 บาท 3. ผลประโยชน์ค่าใช้จ่ายในการจัดการงานศพกรณีเสียชีวิตจากการเจ็บป่วย (ยกเว้นกรณีเสียชีวิตจากการเจ็บป่วยภายใน 15 วันแรก นับจากวันเริ่มต้นระยะเวลาประกันภัย) จำนวนเงินเอาประกันภัย 5,000 บาท 4. ผลประโยชน์ค่าชดเชยรายได้ระหว่างการเข้ารักษาตัวเป็นผู้ป่วยในกรณีได้รับบาดเจ็บจากอุบัติเหตุ จะได้รับค่าชดเชย 200 บาทต่อวัน (สูงสุดไม่เกิน 60 วัน) และ 5. ผลประโยชน์ค่าชดเชยรายได้ระหว่างการเข้ารักษาตัวเป็นผู้ป่วยในในห้อง ICU กรณีได้รับบาดเจ็บจากอุบัติเหตุ จะได้รับค่าชดเชย 400 บาทต่อวัน (ผลประโยชน์รวมเข้ารักษาตัวเป็นผู้ป่วยใน ไม่เกิน 60 วัน) โดยกรมธรรม์ประกันภัยรายย่อยเพื่อเกษตรอาสา (ไมโครอินชัวรันส์) เป็นกรมธรรม์ประกันภัยกลุ่มที่ให้ระยะเวลาความคุ้มครอง 60 วัน ผู้เอาประกันภัยต้องมีอายุตั้งแต่ 20 ปีบริบูรณ์ ถึง 70 ปีบริบูรณ์ ณ วันที่ทำประกันภัย
ดร.อัญชลิน พรรณนิภา ประธานบริษัท ทีคิวเอ็ม คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในฐานะภาคธุรกิจรู้สึกเป็นเกียรติและภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่งที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการร่วมผลักดันโครงการ “คุ้มครองอุบัติเหตุ เซฟเกษตรอาสา” เพราะเกษตรกรเป็นอาชีพที่มีความสำคัญเป็นขุมพลังในการขับเคลื่อนรายได้และเศรษฐกิจของประเทศไทย วันนี้ จึงถึงเวลาแล้ว ที่ทุกภาคส่วนจะหันมาใส่ใจกับเกษตรกรอย่างจริงจัง และโครงการนี้เป็นอีกโครงการที่ทั้งภาครัฐและเอกชนได้ร่วมมือกันเพื่อส่งมอบความห่วงใยไปยังเกษตรกรไทย ผ่านกรมธรรม์ประกันภัยซึ่งเป็นเครื่องมือที่จะทำหน้าที่ช่วยบริหารจัดการความเสี่ยงภัยในชีวิตและทรัพย์ของเกษตรกรได้เป็นอย่างดี โดยในความร่วมมือครั้งนี้ TQM ได้ร่วมกับบริษัท ที คิว อาร์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท กรุงเทพประกันภัย จำกัด (มหาชน) มอบกรมธรรม์ประกันภัยรายย่อยเพื่อเกษตรอาสา ซึ่งเป็นประกันภัยอุบัติเหตุที่ให้ความคุ้มครองในกรณีเกิดอุบัติสูงสุด 100,000 บาท คุ้มครองนาน 60 วัน ให้แก่พี่น้องเกษตรอาสาทั่วประเทศโดยไม่มีค่าใช้จ่ายทั้งนี้ เพื่อให้อกม. และ ศกอ. สามารถรับกรมธรรม์ประกันภัยดังกล่าวได้ง่าย สะดวกและรวดเร็ว TQM ได้พัฒนาแพลตฟอร์ม ในการลงทะเบียน โดยสามารถเข้าไปลงทะเบียนรับสิทธิ์ได้ด้วยการสแกน QR Code ของโครงการ ตั้งแต่วันนี้ ถึง 31 สิงหาคม 2565
นายชนะพันธุ์ พิริยะพันธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ที คิว อาร์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ทางบริษัท ที คิว อาร์ ยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้มีโอกาสและส่วนร่วมในการผลักดันโครงการ “คุ้มครองอุบัติเหตุ เซฟเกษตรอาสา” ซึ่งเป็นโครงการสำคัญที่มุ่งหวังเสริมสร้างความปลอดภัยและคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกรไทย ซึ่งเป็นกลุ่มประชากรที่เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ของประเทศไทยให้มีความเจริญเติบโตและมั่นคงได้อย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ ซึ่งในฐานะคนไทยคนหนึ่ง และเป็นตัวแทนของภาคธุรกิจประกันภัยไทย ต้องขอขอบคุณเกษตรกรทุกท่าน โดยเฉพาะอาสาสมัครเกษตรหมู่บ้าน และ เศรษฐกิจการเกษตรอาสา ที่ได้เสียสละและทุ่มเทเพื่อทำหน้าที่ประสานเชื่อมโยงการทำงานของเกษตรกร องค์กรเกษตรกรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ อันจะเป็นปัจจัยสำคัญที่เกื้อหนุนและเสริมส่งให้ภาคเกษตรกรรมของประเทศไทยเติบโตหล่อเลี้ยงประชากรไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน
******************************************************
ข่าว : ส่วนประชาสัมพันธ์ / ข้อมูล : สำนักวิจัยเศรษฐกิจการเกษตร