- ข้อมูลเศรษฐกิจการเกษตร
- ภาวะเศรษฐกิจการเกษตร
- รายละเอียดภาวะเศรษฐกิจการเกษตร
ข้อมูลเศรษฐกิจการเกษตร
สศท.5 โชว์ ‘กลุ่มข้าวหอมมะลิอินทรีย์ดินภูเขาไฟ’ GI จ.บุรีรัมย์ ต้นแบบการรวมกลุ่ม ผลผลิตคุณภาพแบบครบวงจร
ข่าวที่ 125/2565 วันที่ 30 พฤศจิกายน 2565
สศท.5 โชว์ ‘กลุ่มข้าวหอมมะลิอินทรีย์ดินภูเขาไฟ’ GI จ.บุรีรัมย์ ต้นแบบการรวมกลุ่ม ผลผลิตคุณภาพแบบครบวงจร
นางสุจารีย์ พิชา ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 5 นครราชสีมา (สศท.5) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า “ข้าวหอมมะลิดินภูเขาไฟบุรีรัมย์” เป็นหนึ่งในสินค้าเกษตรที่มีชื่อเสียงของจังหวัดบุรีรัมย์ ได้รับการรับรองตราสัญลักษณ์สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) จากกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ ปี 2563 ซึ่งเป็นข้าวหอมมะลิพันธุ์ขาวดอกมะลิ 105 และพันธุ์ กข 15 ที่ปลูกในฤดูนาปี บนพื้นดินที่มีแร่ธาตุจากการสลายตัวของหินภูเขาไฟ ทำให้ข้าวมีปริมาณฟอสฟอรัส โพแทสเซียม และแคลเซียมสูงกว่าข้าวหอมมะลิที่ปลูกในพื้นที่อื่น ๆ เมล็ดข้าวมีลักษณะเรียวยาว เลื่อมมัน มีท้องไข่น้อย เมื่อหุงสุกจะเหนียวนุ่มไม่แข็งกระด้าง มีเอกลักษณ์เด่นในด้านคุณค่าทางสารอาหารสูง เหมาะแก่การบริโภคเพื่อสุขภาพและส่งเสริมสินค้าเกษตรในท้องถิ่น เพื่อให้ยกระดับสู่สากลจากการลงพื้นที่ของ สศก.5 เพื่อติดตามสถานการณ์การผลิตข้าวหอมมะลิดินภูเขาไฟบุรีรัมย์ พบว่า มีพื้นที่ปลูกครอบคลุม 7 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองบุรีรัมย์ อำเภอละหานทราย อำเภอเฉลิมพระเกียรติ อำเภอห้วยราช อำเภอประโคนชัย อำเภอปะคำ และอำเภอนางรอง ซึ่งจากการติดตาม กลุ่มข้าวหอมมะลิอินทรีย์ดินภูเขาไฟ ตำบลจรเข้มาก อำเภอประโคนชัย จังหวัดบุรีรัมย์ นับเป็นต้นแบบการรวมกลุ่มผลิตข้าวอินทรีย์คุณภาพแบบครบวงจรและผลักดันให้เป็นข้าวหอมมะลิดินภูเขาไฟบุรีรัมย์ GI รวมถึงพื้นที่ตั้งของกลุ่มอยู่ใกล้แหล่งท่องเที่ยวประวัติศาสตร์ที่สำคัญ อาทิ ปราสาทหินพนมรุ้ง ปราสาทเมืองต่ำ โดยมี นายสะอาด ทำนา เป็นประธานกลุ่ม และยังเป็นเศรษฐกิจการเกษตรอาสา (ศกอ.) รวมถึงเป็นหนึ่งในผู้ผลักดันให้ข้าวหอมมะลิดินภูเขาไฟบุรีรัมย์ ได้รับตราสัญลักษณ์สินค้า GI ปัจจุบันกลุ่มมีสมาชิกเกษตรกร 40 ราย พื้นที่เพาะปลูกรวม 500 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ตำบลจระเข้มาก สำหรับฤดูการผลิตในปีเพาะปลูก 2565/66 เกษตรกรเริ่มเพาะปลูกในช่วงฤดูการปลูกข้าวนาปี ช่วงเดือนพฤษภาคม – สิงหาคม และจะเริ่มเก็บเกี่ยวผลผลิต ช่วงเดือนพฤศจิกายน - ธันวาคม ให้ผลผลิตรวมประมาณ 250,000 กิโลกรัม (250 ตัน) ผลผลิตเฉลี่ยประมาณ 450 กิโลกรัม/ไร่
ด้านสถานการณ์ราคา ข้าวหอมมะลิพันธุ์ขาวดอกมะลิ 105 และพันธุ์ กข 15 ความชื้น 14 – 15% (ราคา ณ ไร่นา เดือนพฤศจิกายน 2565) ราคาเฉลี่ย 11.50 บาท/กิโลกรัม ทั้งนี้ เกษตรกรสามารถจำหน่ายข้าวหอมมะลิดินภูเขาไฟบุรีรัมย์ ได้ราคาที่สูงกว่าราคาทั่วไปถึง 2 บาท/กิโลกรัม และหาก จำหน่ายในรูปข้าวสารบรรจุถุงสุญญากาศ สามารถจำหน่ายได้ราคาสูงถึง 50 บาท/กิโลกรัม สำหรับผลผลิตข้าวหอมมะลิดินภูเขาไฟบุรีรัมย์ของกลุ่ม ส่วนใหญ่จำหน่ายในรูปข้าวเปลือกให้โรงสีในจังหวัดบุรีรัมย์ร้อยละ 32 , โรงสีนอกจังหวัด ร้อยละ 8 , จำหน่ายในรูปข้าวสาร ร้อยละ 20 ซึ่งเกษตรกรแปรรูปเป็นข้าวสารบรรจุถุงจำหน่ายเองผ่านหน้าร้านและช่องทางออนไลน์ ได้แก่ Website ‘RICE FAMILY Thailand’ , Facebook ของเกษตรกร และ Application Line , รวบรวมเป็นเมล็ดพันธุ์ให้สหกรณ์การเกษตรอำเภอประโคนชัย ร้อยละ 16 , เก็บไว้บริโภคในครัวเรือน ร้อยละ 16 และเก็บไว้เป็นเมล็ดพันธุ์สำหรับการเพาะปลูก ร้อยละ 8
“ข้าวหอมมะลิดินภูเขาไฟบุรีรัมย์ของกลุ่ม มีกระบวนการผลิตที่มีคุณภาพ ผ่านการรับรองมาตรฐาน GAP มาตรฐาน Organic Thailand มาตรฐาน Bioagricert และข้าวสาร Q อีกทั้งทางกลุ่มมีการลดต้นทุนการผลิตโดยการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้ เช่น การทำนาหยอดด้วยเครื่องหยอดเมล็ดพันธุ์ เป็นการช่วยลดต้นทุนการใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวได้ถึงร้อยละ 60 สามารถควบคุมการหยอดและกลบเมล็ดที่ระดับความลึกของดินที่เหมาะสม ส่งผลให้รากข้าวเจริญเติบโตได้ดี แข็งแรง และทนทานต่อความแห้งแล้ง และยังช่วยลดความเสียหายจากความร้อนได้อีกด้วย ประกอบกับการไถกลบฟางข้าว การปลูกปุ๋ยพืชสดหลังจากเก็บเกี่ยว การใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มาควบคุมโรคพืช จะช่วยส่งเสริมการเจริญเติบโตของต้นข้าวและทำให้มีความต้านทานต่อเชื้อโรค ทั้งนี้ ผู้สนใจสามารถสอบถามเกษตรกรกลุ่มข้าวหอมมะลิดินภูเขาไฟ ได้ที่ นายสะอาด ทำนา ประธานกลุ่มข้าวอินทรีย์ดินภูเขาไฟ หมู่ 6 ตำบลจรเข้มาก อำเภอประโคนชัย จังหวัดบุรีรัมย์ โทร 09 7020 9873 หรือ สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สศท.5 นครราชสีมา โทร 044 465 120 หรืออีเมล์ zone5@oae.go.th” ผู้อำนวยการ สศท.5 กล่าวทิ้งท้าย
********************************************
ข่าว : ส่วนประชาสัมพันธ์ / ข้อมูล : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 5 นครราชสีมา