สศก. จับมือสมาคมฯ และพันธมิตร ขับเคลื่อนโมเดลเพิ่มผลผลิตลดต้นทุนการปลูกถั่วเหลือง ด้าน ครม. เห็นชอบการเปิดตลาดและการบริหารการนำเข้าถั่วเหลืองภายใต้กรอบ WTO แล้ว

ข่าวที่ 126/2565  วันที่ 6 ธันวาคม 2565
 
สศก. จับมือสมาคมฯ และพันธมิตร ขับเคลื่อนโมเดลเพิ่มผลผลิตลดต้นทุนการปลูกถั่วเหลือง
ด้าน ครม. เห็นชอบการเปิดตลาดและการบริหารการนำเข้าถั่วเหลืองภายใต้กรอบ WTO แล้ว
 
            นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากข้อสั่งการของ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่มอบหมายให้ สศก. ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ เอกชน และ เกษตรกร ทำการส่งเสริมการผลิตพืชเศรษฐกิจเพื่อความมั่นคงทางอาหาร โดยเฉพาะถั่วเหลือง ซึ่งเป็นพืชที่ให้ทั้งโปรตีน น้ำมัน และยังเป็นวัตถุดิบที่สำคัญของอุตสาหกรรมหลายประเภท ทั้งอุตสาหกรรมแปรรูปผลิตภัณฑ์อาหาร อุตสาหกรรมสกัดน้ำมัน และอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ เนื่องจากปัจจุบันผลผลิตถั่วเหลืองของไทยมีไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ในประเทศ
              จากการคาดการณ์ ของ สศก. (ข้อมูล ณ พฤศจิกายน 2565) พบว่า ในปี 2566 คาดว่าไทยจะมีพื้นที่ปลูกถั่วเหลือง 81,190 ไร่ ผลผลิต 22,252 ตัน ผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ 274 กิโลกรัม โดยแหล่งผลิตที่สำคัญ คือ เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ขอนแก่น ชัยภูมิ เป็นต้น ในขณะที่ความต้องการใช้เมล็ดถั่วเหลืองเฉลี่ยอยู่ระหว่างปีละ 3.40 – 3.50 ล้านตัน ส่งผลทำให้ในช่วงที่ผ่านมาอุตสาหกรรมถั่วเหลืองของไทยต้องพึ่งพาการนำเข้ามากกว่าร้อยละ 99 ของความต้องการใช้ ดังนั้น เพื่อเป็นการสร้างความมั่นคงทางด้านอาหาร สศก. ได้ร่วมกับ สมาคมการค้าผู้ผลิตอาหารจากถั่วเหลืองไทยและพันธมิตรขับเคลื่อนโครงการต้นแบบในการเพิ่มผลผลิต และลดต้นทุนการปลูกถั่วเหลือง ในจังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยในช่วงวันที่ 1 – 3 พฤศจิกายน 2565 สศก. โดย ทีมศูนย์สารสนเทศการเกษตร สำนักวิจัยเศรษฐกิจการเกษตร และสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 1 เชียงใหม่ (สศท.1) ได้ลงพื้นที่ให้ความรู้ รับฟังปัญหาของเกษตรกรในอำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ พร้อมทั้งลงพื้นที่จัดเก็บข้อมูลผลผลิตต่อไร่ โดยวิธีตั้งแปลงเก็บเกี่ยว (Crop Cutting) เพื่อนำมาใช้วิเคราะห์อัตราการสูญเสียในกระบวนการเกี่ยวจากการสาธิตการเก็บเกี่ยวผลผลิตถั่วเหลืองโดยใช้รถเกี่ยวข้าวที่มีการติดตั้งหัวเกี่ยวถั่วเหลือง เพื่อทดแทนแรงงานคน ณ ศูนย์วิจัยพืชไร่เชียงใหม่ อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ รวมทั้งเข้าร่วมชี้แจงโครงการส่งเสริมการปลูกถั่วเหลืองฤดูแล้ง พันธุ์เชียงใหม่ 60 ให้กับเกษตรกรผู้ปลูกถั่วเหลืองในจังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งมีเกษตรสนใจเข้าร่วมโครงการรวมทั้งหมด 30 ไร่ ในเขตพื้นที่อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ทั้งนี้ โครงการฯ จะเริ่มในช่วงเดือนธันวาคม 2565 นี้เป็นต้นไป โดยสมาคม ฯ จะให้การสนับสนุน เมล็ดพันธุ์ และ ปุ๋ยอินทรีย์ เพื่อเพิ่มธาตุอาหารรองและจุลธาตุให้กับเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ กำหนดเป้าหมายของโครงการฯ เพื่อยกระดับผลผลิตถั่วเหลืองให้ได้เฉลี่ยไม่ต่ำกว่าไร่ละ 400 กิโลกรัม
             ล่าสุด เพื่อให้การดำเนินการต่างๆ เป็นไปตามข้อผูกพันตามกรอบความตกลงการค้าระหว่างประเทศและเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้เกษตรกรผู้ปลูกถั่วเหลือง และไม่ให้ได้รับผลกระทบจากการเปิดตลาด รวมทั้งเป็นการอำนวยความสะดวกในการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการให้สามารถนำเข้าสินค้าได้อย่างต่อเนื่อง มีวัตถุดิบป้อนโรงงานอย่างสม่ำเสมอและเพียงพอต่อความต้องการใช้ คณะรัฐมนตรีในคราวประชุมเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายนที่ผ่านมา จึงมีมติเห็นชอบการเปิดตลาดและการบริหารการนำเข้าสินค้าเมล็ดถั่วเหลืองภายใต้กรอบ WTO คราวละ 3 ปี (ปี 2566 -2568) ไม่จำกัดปริมาณ อัตราภาษี ร้อยละ 0 และกรอบการค้าอื่น ๆ ให้เป็นไปตามข้อผูกพัน โดยในส่วนของการบริหารจัดการสินค้าเมล็ดถั่วเหลือง ผู้มีสิทธินำเข้าเมล็ดถั่วเหลืองทั้ง 8 สมาคม ยินดีให้การสนับสนุนและส่งเสริมด้านการผลิต และรับซื้อเมล็ดถั่วเหลืองภายในประเทศทั้งหมดในราคาตามกลไกตลาด แต่ไม่ต่ำกว่าราคาขั้นต่ำตามชั้นคุณภาพ ซึ่งเป็นระดับราคาที่เพิ่มขึ้นจากช่วง ปี 2563 – 2565 อีกกิโลกรัมละ 2.25 บาท (จากเดิมกิโลกรัมละ 18.75 – 21.00 บาท เป็นกิโลกรัมละ 21.00 - 23.25 บาท ตามชั้นคุณภาพ) รวมทั้งยินดีที่จะสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการรวบรวมผลผลิตเมล็ดถั่วเหลืองให้กับสหกรณ์การเกษตรและวิสาหกิจชุมชน เพิ่มเติมอีกในราคากิโลกรัมละละ 2 บาท ทุกชั้นเกรดคุณภาพ เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับสหกรณ์การเกษตร/วิสาหกิจชุมชน นอกจากนั้น คณะกรรมการบริหารกองทุนเพื่อพัฒนาการผลิตถั่วเหลือง ซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธาน และมี สศก. เป็นฝ่ายเลขานุการ พร้อมให้การสนับสนุนโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตถั่วเหลืองของไทยเพื่อรองรับกับความต้องการใช้ที่เพิ่มขึ้นในอนาคต
************************************************
ข่าว : ส่วนประชาสัมพันธ์
ข้อมูล : ศูนย์สารสนเทศการเกษตร และ สำนักวิจัยเศรษฐกิจการเกษตร