รัฐมนตรี ‘เฉลิมชัย’ ตะลุยแดนปลาดิบ ถก 3 ประเด็นหลัก จับมือเสริมแกร่งระบบเกษตรและอาหาร เชื่อมโยงตลาดส่งออกในภูมิภาค

ข่าวที่ 6/2566 วันที่ 19 มกราคม 2566
รัฐมนตรี ‘เฉลิมชัย’ ตะลุยแดนปลาดิบ ถก 3 ประเด็นหลัก
จับมือเสริมแกร่งระบบเกษตรและอาหาร เชื่อมโยงตลาดส่งออกในภูมิภาค
           
          ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หารือร่วมกับนายอัตสึชิ โนนากะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตร ป่าไม้ และประมงญี่ปุ่น (MAFF) เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือด้านการเกษตรในมิติต่างๆ ทั้งด้านการส่งเสริมความมั่นคงทางอาหารระดับภูมิภาค การอำนวยความสะดวกตลาดสินค้าเกษตรเพื่อการส่งออก ตลอดจนกรอบความร่วมมือในสถานการณ์วิกฤตขับขัน เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2566 ณ กระทรวงเกษตร ป่าไม้ และประมงญี่ปุ่น กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น
           โอกาสนี้ ประเทศไทยได้หยิบยกประเด็นหารือใน 3 เรื่อง ได้แก่ 1) ผลักดันการยกระดับความร่วมมือด้านความมั่นคงอาหารและปัจจัยการผลิต โดยให้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูล นโยบาย มาตรการต่าง ๆ รวมถึงการให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกันเมื่อเกิดเหตุวิกฤต ซึ่งการมีกรอบหารือจะเป็นอีกกลไกหนึ่งในการผลักดันความร่วมมือในเชิงลึก 2) สนับสนุนให้มีการเสริมสร้างความร่วมมือด้านการเกษตรต่าง ๆ ให้มีประสิทธิภาพสูงสุดและเป็นรูปธรรม และส่งเสริมการปฏิรูประบบเกษตรและอาหารในภูมิภาคอย่างยั่งยืน ภายใต้กรอบการประชุมหารือระดับสูงด้านอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารไทย-ญี่ปุ่น (HLCD) ครั้งที่ 3 ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมดังกล่าว ณ กรุงเทพฯ และเป็นโอกาสอันดีที่จะหารือและรับฟังรวมทั้งจะเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนของไทยและญี่ปุ่น ชี้แจงและให้ข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ เพื่อส่งเสริมและอำนวยความสะดวกด้านการค้าระหว่างสองประเทศ และ 3) เร่งรัดกระบวนการพิจารณาการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการนำเข้ามังคุดของไทยและส้มของญี่ปุ่น และการเปิดตลาดสินค้าเกษตรรายการใหม่ ได้แก่ ส้มโอพันธุ์ขาวน้ำผึ้งของไทยและข้าวกล้องของญี่ปุ่น เพื่อให้ทั้งสองประเทศได้มีการนำเข้าสินค้าเกษตรได้ง่ายและมีความหลากหลายมากขึ้น และเกิดความสัมพันธ์แบบ Win-Win กับทั้งสองฝ่าย
          ขณะที่ประเทศญี่ปุ่น ได้หยิบประเด็นหารือร่วมกับไทย ในประเด็นการจัดทำเอกสารความร่วมมือเกี่ยวกับ “แผนความร่วมมือเกษตรยั่งยืนเพื่อความมั่นคงทางด้านอาหาร (MEADRI) ญี่ปุ่น-อาเซียน” รวมทั้งการส่งเสริมการส่งออกสินค้าเกษตรของญี่ปุ่น
“การหารือร่วมกับญี่ปุ่นในครั้งนี้ นับเป็นโอกาสดีของทั้ง 2 ประเทศ ที่จะได้ต่อยอดแนวทางความร่วมมือด้านการเกษตรร่วมกันในเชิงลึกยิ่งขึ้น และยังเป็นการส่งเสริมขยายความเชื่อมโยงในระดับภูมิภาคให้ยั่งยืน โดยในส่วนของประเด็นที่ญี่ปุ่นหารือ ประเทศไทย เราพร้อมให้ความร่วมมือตามแผน MEADRI ที่เสนอทั้งในระดับทวิภาคีและพหุภาคีอย่างเต็มที่ เนื่องจากมีความสอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงเกษตรฯ และ BCG ของประเทศไทย รวมถึงประเทศไทย ยังเห็นด้วยในการออกถ้อยแถลงร่วมเกี่ยวกับระบบการผลิตอาหารและการเกษตรยั่งยืน ร่วมกับอีก 7 ประเทศ ตามข้อเสนอของ MAFF ที่เสนอต่อที่ประชุม     UN Food Systems Pre-Summit เมื่อเดือนกรกฎาคม 2564 ณ กรุงโรม ประเทศอิตาลี” ดร.เฉลิมชัย กล่าว