สศก. เผยผลศึกษาการบริหารจัดการวัสดุเหลือใช้จากการเพาะเลี้ยงกุ้ง สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ ด้วยแนวคิด BCG Model

ข่าวที่ 118/2566  วันที่ 25 ตุลาคม 2566
สศก. เผยผลศึกษาการบริหารจัดการวัสดุเหลือใช้จากการเพาะเลี้ยงกุ้ง
สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ ด้วยแนวคิด
BCG Model
      นางสาวกาญจนา ขวัญเมือง รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงผลการศึกษาการบริหารจัดการวัสดุเหลือใช้จากการเพาะเลี้ยงกุ้ง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับการเลี้ยงกุ้ง พัฒนาศักยภาพของฟาร์มเลี้ยงกุ้งไปสู่รูปแบบฟาร์มสีเขียว สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน และเป้าหมายในการพัฒนาประเทศไทยภายใต้แนวคิดการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy หรือ BCG Model)
       การศึกษาครั้งนี้ สศก. ได้ทำการศึกษาเกษตรกรต้นแบบ จำนวน 3 ราย ในพื้นที่จังหวัดจันทบุรี ระนอง และประจวบคีรีขันธ์ ที่มีการบริหารจัดการวัสดุเหลือใช้จากการเพาะเลี้ยงกุ้ง โดยการนำดินตะกอนเลนจากบ่อเพาะเลี้ยงกุ้ง ไปใช้ประโยชน์ให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมและปัจจัยการผลิต และนำมาสร้างมูลค่าเพิ่ม ซึ่งแบ่งเป็น 3 รูปแบบ ได้แก่
      1. การนำมาผลิตเป็นปุ๋ยหมัก หากนำดินตะกอนเลนกุ้งมาผลิตปุ๋ยหมัก 1,200 กิโลกรัม จะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้ 428 บาท หรือคิดเป็นกิโลกรัมละ 0.36 บาท 2. การนำมาใช้ในการทำเกษตร โดยการนำดินตะกอนเลนกุ้งมาใช้ในการทำเกษตร นำไปใช้ปลูกพืชหรือทดแทนสารบำรุงดิน สามารถลดต้นทุนค่าปุ๋ยเคมีในการปลูกปาล์มน้ำมัน เฉลี่ยปีละ 5,600 บาท/ไร่ และ 3. การนำมาใช้เป็นอาหารเลี้ยงสัตว์น้ำ โดยการนำดินตะกอนเลนกุ้งมาใช้เป็นอาหารเลี้ยงสัตว์น้ำที่อัตราการปล่อยลูกพันธุ์อยู่ที่ 200 ตัวต่อไร่ จะสามารถลดต้นทุนค่าอาหารเม็ดในการเลี้ยงปลาได้เฉลี่ยปีละ 3,000 บาท/ไร่     
        นอกจากนี้ สศก. ยังได้ศึกษาแนวทางในการบริหารจัดการดินตะกอนเลนจากการเพาะเลี้ยงกุ้ง เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ โดยสำรวจข้อมูลจากเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงกุ้ง จำนวน 127 ราย ในพื้นที่ 10 จังหวัด ได้แก่ ฉะเชิงเทรา จันทบุรี ตราด สมุทรปราการ สมุทรสาคร เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ระนอง สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช และจัดสัมมนาระดมความคิดเห็นในประเด็นการนำดินตะกอนเลนกุ้งมาใช้ประโยชน์และสร้างมูลค่าเพิ่มในช่วงเดือนมิถุนายน 2566 โดยมีผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการเพาะเลี้ยงกุ้งเข้าร่วมจำนวน 50 ราย ซึ่งได้มีการอภิปรายผลงานวิจัย และแลกเปลี่ยนมุมมองในการวิเคราะห์จุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส และอุปสรรค เพื่อหาแนวทางในการส่งเสริมและเพิ่มมูลค่าดินตะกอนเลนกุ้งร่วมกัน
          เบื้องต้นสามารถสรุปผล ประกอบด้วย 5 แนวทางในการบริหารจัดการดินตะกอนเลนจากการเพาะเลี้ยงกุ้งเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ ดังนี้  1. การส่งเสริมและพัฒนาการบริหารจัดการของเสียจากการเพาะเลี้ยงกุ้งเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มต่อยอดไปยังธุรกิจเกษตรและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง 2. การจัดการความรู้ และพัฒนาบุคลากรเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการบริหารจัดการของเสียจากการเพาะเลี้ยงกุ้งและการสร้างมูลค่าเพิ่ม 3. การสร้างความตระหนักรู้และเสริมสร้างศักยภาพด้านการตลาดของผลิตภัณฑ์จากตะกอนเลนกุ้งในเชิงพาณิชย์ 4. การเสริมสร้างศักยภาพด้านการลงทุนในการบริหารจัดการของเสียจากการเพาะเลี้ยงกุ้งและการสร้างมูลค่าเพิ่มผลิตภัณฑ์ตะกอนเลนกุ้ง และ 5. การเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการตะกอนเลนกุ้งและพัฒนารูปแบบการใช้ประโยชน์ในเชิงพื้นที่
           อย่างไรก็ตาม จากการศึกษา พบว่า การใช้ประโยชน์ในดินตะกอนเลนกุ้งส่วนใหญ่ ยังมีข้อจำกัดทางกายภาพ เช่น ความแน่นของดิน และความเค็ม เป็นต้น ดังนั้น หน่วยงานภาครัฐ ควรร่วมมือกับสถาบันการศึกษาในการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์จากตะกอนเลนกุ้งเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้หลากหลายมากขึ้น รวมทั้งควรประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ผลงานทางวิชาการเพื่อสร้างการรับรู้ข้อมูลและสร้างความเชื่อมั่นในคุณภาพของตะกอนเลนกุ้งที่มีคุณสมบัติบำรุงดิน เพื่อขยายตลาดปุ๋ยอินทรีย์ที่ผลิตจากตะกอนเลนกุ้ง สำหรับผลการศึกษาดังกล่าว สศก. อยู่ระหว่างจัดทำเล่มงานวิจัยฉบับสมบูรณ์และจะเผยแพร่ทาง www.oae.go.th ในระยะต่อไป ทั้งนี้ ท่านที่สนใจผลการศึกษา สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ส่วนวิจัยเศรษฐกิจปศุสัตว์และประมง สำนักวิจัยเศรษฐกิจการเกษตร สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร โทร. 0 2579 3536 ในวันและเวลาราชการ
************************************
ข่าว : ส่วนประชาสัมพันธ์ / ข้อมูล : สำนักวิจัยเศรษฐกิจการเกษตร