ไทยส่งเสริมบทบาทสตรีในภาคเกษตร ผลักดันความมั่นคงด้านอาหารและโภชนาการ ในเวที CFS ครั้งที่ 51

ข่าวที่ 120/2566  วันที่ 1 พฤศจิกายน 2566
ไทยส่งเสริมบทบาทสตรีในภาคเกษตร ผลักดันความมั่นคงด้านอาหารและโภชนาการ ในเวที CFS ครั้งที่ 51
             นางสาวกาญจนา ขวัญเมือง รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงการประชุมคณะกรรมการความมั่นคงอาหารโลก ครั้งที่ 51 (Committee on World Food Security: CFS) ระหว่างวันที่ 23 - 27 ตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา ณ สำนักงานใหญ่องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) กรุงโรม สาธารณรัฐอิตาลี โดยมี Mr. Gabriel Ferrero ประธาน CFS ทำหน้าที่ประธานการประชุม พร้อมด้วยประเทศสมาชิกจำนวน 128 ประเทศ และที่ไม่ใช่สมาชิกจำนวน 10 ประเทศ รวมถึงหน่วยงานขององค์การสหประชาชาติ องค์กรประชาสังคม หน่วยงานด้านการเกษตรระหว่างประเทศ ภาคเอกชนและผู้เข้าร่วมสังเกตการณ์ ในส่วนของประเทศไทย มีสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร เข้าร่วมการประชุมผ่านระบบออนไลน์
              การประชุมดังกล่าวได้หารือกันในหัวข้อ “สร้างความแตกต่างในด้านความมั่นคงด้านอาหารและโภชนาการ (Making a Difference in Food Security and Nutrition)” เพื่อผลักดันและมุ่งเน้นการประสานนโยบายเพื่อตอบสนองต่อวิกฤตอาหาร ความเท่าเทียมทางเพศ การส่งเสริมบทบาทของสตรีและเด็กผู้หญิง ความผันผวนของราคาต่อความมั่นคงอาหาร และการคุ้มครองทางสังคมเพื่อความมั่นคงทางอาหารและโภชนาการ โดย Mr. AntÓnio Guterres เลขาธิการสหประชาชาติ กล่าวต่อที่ประชุมว่า ในช่วงปีที่ผ่านมา มีประชากรโลกประมาณ 691-783 ล้านคน ที่กำลังเผชิญกับภาวะความอดอยากหิวโหย และมีประชากรมากกว่า 3.1 พันล้านคน ที่ไม่สามารถเข้าถึงอาหารที่ดีต่อสุขภาพได้ ดังนั้น ความร่วมมือโดยสามัคคีในระดับนานาชาติมีความสำคัญอย่างยิ่ง จึงจำเป็นต้องมีการลงทุนในด้านนวัตกรรม วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อให้เกิดระบบอาหารที่ยั่งยืน นำไปสู่ความมั่นคงทางอาหารและโภชนาการโลกสำหรับทุกคน 
                นอกจากนี้ Mr. Qu Dongyu ผู้อำนวยการใหญ่ของ FAO กล่าวถึงการให้ความสำคัญกับสิทธิด้านอาหารซึ่งเป็นปัจจัยหลักของการเปลี่ยนแปลงระบบอาหาร โดย FAO พร้อมที่จะให้การช่วยเหลือ สนับสนุนประเทศสมาชิกเพื่อเร่งดำเนินการแก้ไขร่วมกับหน่วยงานระหว่างประเทศอื่น ๆ เพื่อรับมือกับความท้าทายที่จะเกิดขึ้นทั้งในระยะสั้น และระยะยาว พร้อมเน้นย้ำการให้ความสำคัญกับกลุ่มเกษตรกรในครัวเรือน เกษตรกรรายย่อย และกลุ่มเปราะบางในทุกภาคส่วนของโลก โดยจะมุ่งเน้นการพัฒนาและเสริมสร้าง 4 เป้าหมายที่ดีกว่าเดิม (4 Betters) ในด้านการผลิต ด้านโภชนาการ ด้านสิ่งแวดล้อม และด้านคุณภาพชีวิต
               สำหรับ Mr. Gabriel Ferrero ประธาน CFS ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า วิกฤตอาหารที่ทั่วโลกกำลังเผชิญอยู่นั้น มีแนวโน้มจะแย่ลง เนื่องจากปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์และผลกระทบที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ตลอดจนปัญหาเชิงโครงสร้างในระบบเกษตรกรรม ซึ่งจะส่งผลระยะยาวแก่เกษตรกรรายย่อย แรงงานในภาคการเกษตร และกลุ่มสตรี ดังนั้น ทั่วโลกจึงควรเร่งรัดการดำเนินการตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ในเป้าหมายที่ 2 (ยุติความหิวโหย)  ด้วยการเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐ และภาคธุรกิจเอกชน เพื่อให้เกิดผลกระทบเชิงบวกต่อ SGDs รวมถึงได้ส่งเสริมให้ประเทศสมาชิก ดำเนินงานที่ตอบสนองนโยบายต่อการเพิ่มขีดความสามารถให้แก่เกษตรกรรายย่อย และเน้นย้ำความสำคัญของการสร้างระบบความร่วมมือพหุภาคีเพื่อธรรมาภิบาลระดับโลกสำหรับการรับมือกับวิกฤตการณ์ดังกล่าว
            โอกาสเดียวกันนี้ ผู้แทนสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (นางเบญจวรรณ ศิริโพธิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายเศรษฐกิจการเกษตรระหว่างประเทศ) ได้กล่าวให้ที่ประชุมทราบถึงแนวทางการดำเนินงานของไทยที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมบทบาทสตรีและเด็กผู้หญิงว่า ประเทศไทยเห็นถึงความสำคัญของสตรีในภาคเกษตร ซึ่งเป็นแกนนำสำคัญในการขับเคลื่อนการเกษตรและเศรษฐกิจฐานราก โดยในปี 2566 ประเทศไทยมีการยกระดับกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรให้มีประสิทธิภาพ ส่งเสริมให้เกิดการสร้างเครือข่ายที่เข้มแข็งและเชื่อมโยงการทำงานระหว่างกัน เพื่อพัฒนาไปสู่การเป็นผู้ประกอบการเกษตรและเกษตรกรอัจฉริยะ (Smart Farmer) และสามารถเป็นต้นแบบของชุมชนและเกษตรกรรายอื่นต่อไป นอกจากนี้ ประเทศไทยยังมุ่งพัฒนาศักยภาพสตรีและเด็กผู้หญิง ให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนสำหรับสร้างอาชีพ สร้างรายได้ และมีชีวิตที่มั่นคง ตลอดจนให้การสนับสนุนสิทธิและความเท่าเทียมของกลุ่มเปราะบางและกลุ่มคนชายขอบ และส่งเสริมความหลากหลายทางเพศ  รวมถึงการให้ความรู้ในด้านการวิเคราะห์และวางแผนฤดูการเพาะปลูก ส่งเสริมความรู้ด้านการตลาด พัฒนาความเข้มแข็งของกลุ่มการผลิตและการแปรรูปของผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร และส่งเสริมความรู้ด้านโภชนาการในระดับชุมชน โดยการดำเนินงานที่ผ่านมาสามารถพัฒนาและส่งเสริมศักยภาพเกษตรกรได้อย่างต่อเนื่อง และมีแนวโน้มที่เกษตรกรสตรีได้รับการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นในด้านรายได้ ซึ่งส่งผลให้กลุ่มเกษตรกรสตรีสามารถพึ่งพาตนเองได้ในระยะยาว
             ทั้งนี้ CFS เป็นเวทีประชุมระหว่างประเทศและระหว่างรัฐบาลของประเทศสมาชิก เพื่อหารือร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วน (Multi-stakeholders) ทั้งจากภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงด้านอาหารและโภชนาการ สำหรับประธาน CFS ในปีนี้ คือ Mr. Gabriel Ferrero ดำรงตำแหน่งครบวาระ 2 ปี ในที่ประชุมจึงได้มีการเลือกตั้งประธานคนใหม่ คือ Ms. Nosipho Nausca-Jean Jezile ผู้แทนถาวรสาธารณรัฐแอฟริกาใต้ ประจำสหประชาชาติ ในกรุงโรม เพื่อดำรงตำแหน่งประธาน CFS สำหรับปี 2567 - 2568 และประเทศไทยได้รับการเลือกตั้งให้เป็นคณะกรรมการรอง (Alternate Member) ในคณะกรรมการบริหารผู้แทนประเทศสมาชิก ของภูมิภาคเอเชีย ร่วมกับประเทศอินโดนีเซีย เป็นวาระ 2 ปี โดยจะมีบทบาทในการบริหารงานด้านวิชาการร่วมกับประธาน CFS คนใหม่ตลอด 2 ปีข้างหน้า
************************************
ข่าว : ส่วนประชาสัมพันธ์ / ข้อมูล : กองเศรษฐกิจการเกษตรระหว่างประเทศ