- ข้อมูลเศรษฐกิจการเกษตร
- ภาวะเศรษฐกิจการเกษตร
- รายละเอียดภาวะเศรษฐกิจการเกษตร
ข้อมูลเศรษฐกิจการเกษตร
ต้นแบบความสำเร็จ ‘แปลงใหญ่โคนม สหกรณ์โคนมโคกก่อ’ จ.มหาสารคาม สู่ความยั่งยืน ‘คนสารคาม ดื่มนมโคสารคาม’
ข่าวที่ 130/2566 วันที่ 17 พฤศจิกายน 2566
ต้นแบบความสำเร็จ ‘แปลงใหญ่โคนม สหกรณ์โคนมโคกก่อ’ จ.มหาสารคาม
สู่ความยั่งยืน ‘คนสารคาม ดื่มนมโคสารคาม’
ดร.นพดล ศรีพันธุ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 4 จังหวัดขอนแก่น (สศท.4) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยถึงการดำเนินงานของแปลงใหญ่โคนม สหกรณ์ผู้เลี้ยงโคนมโคกก่อ จำกัด ตำบลโคกก่อ อำเภอเมือง จังหวัดมหาสารคาม ต้นแบบความสำเร็จการรวมกลุ่มของเกษตรกร มีการดำเนินงานและบริหารจัดการตามรูปแบบ BCG Model มีช่องทางการตลาดและการแปรรูปผลิตภัณฑ์น้ำนม สู่ตลาดนมในท้องถิ่น (Local Milk) รวมถึงการเชื่อมโยงเครือข่ายในพื้นที่กับศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร และกลุ่มเกษตรกรในการใช้ทรัพยากรในพื้นที่ให้มีประสิทธิภาพ โดยเมื่อช่วงเดือนกันยายนที่ผ่านมา กลุ่มแปลงใหญ่โคนมฯ สามารถคว้ารางวัลชนะเลิศ แปลงใหญ่ดีเด่นระดับประเทศ ปี 2566สู่ความยั่งยืน ‘คนสารคาม ดื่มนมโคสารคาม’
แปลงใหญ่โคนม สหกรณ์ผู้เลี้ยงโคนมโคกก่อ จำกัด มีสมาชิกเกษตรกร 106 ราย จำนวน 95 ฟาร์ม พื้นที่เลี้ยง 693 ไร่ โคนมจำนวน 4,716 ตัว โดยมี นายณัฐวุฒิ ประทีปะวณิช เป็นประธานแปลงใหญ่ และนายสุวิทย์ บุตรโคตร เป็นผู้จัดการแปลงใหญ่ซึ่งกลุ่มแปลงใหญ่โคนมฯ เข้าร่วมโครงการระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ ในปี 2560 ต่อมาในปี 2564 เข้าร่วมโครงการยกระดับแปลงใหญ่ด้วยเกษตรสมัยใหม่และเชื่อมโยงตลาด ได้รับการสนับสนุนงบประมาณในการจัดซื้อเครื่องผสมอาหาร เครื่องบรรจุนมพาสเจอร์ไรส์ และนำไปพัฒนาแอพพลิเคชั่นสำหรับใช้ในการบริหารจัดการข้อมูลภายในฟาร์ม ทั้งนี้ กลุ่มแปลงใหญ่โคนมฯ ผ่านการรับรองมาตรฐานการปฏิบัติที่ดีสำหรับศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบ ตามมาตรฐานสินค้าเกษตรการปฏิบัติที่ดี สำหรับศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบ (GMP : Good Manufacturing Practice) , มาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับฟาร์มโคนม (GAP : Good Agricultural Practice) และมาตรฐานฟาร์มที่มีระบบการป้องกันโรคและการเลี้ยงสัตว์ที่เหมาะสม (GFM : Good Farming Management)
จากการติดตามของ สศท.4 พบว่า เกษตรกรนิยมเลี้ยงโคนมสายพันธุ์โฮนสไตน์ฟรีเชี่ยน เป็นสายพันธุ์ที่โดดเด่น ในอุตสาหกรรมโคนมทั่วโลก ให้ผลผลิตน้ำนมดิบเฉลี่ย 11 กิโลกรัม/ตัว/วัน โดยปัจจุบันมีโคที่สามารถให้นมได้ 1,575 ตัว ทำให้ได้ผลผลิตน้ำนมดิบรวม 17 ตัน/วัน ระยะเวลารีดนม 2 ครั้ง/วัน ราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ย ช่วงเดือนตุลาคม 2566 ณ จุดรวบรวม ราคาอยู่ที่ 20.80 บาท/กิโลกรัม ด้านกระบวนการผลิต หลังจากเกษตรกรรีดนมโคเสร็จแล้วจะนำน้ำนมดิบส่งจำหน่ายที่ศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบทันที โดยกลุ่มแปลงใหญ่โคนมฯ มีศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบ จำนวน 2 ศูนย์ ที่ผ่านมาตรฐาน GMP คือ ศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบ ตำบลโคกก่อ อำเภอเมืองมหาสารคาม จังหวัดมหาสารคาม และศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบ ตำบลโนนราศี อำเภอบรบือ จังหวัดมหาสารคาม โดยศูนย์รวบรวมจะเก็บรักษาน้ำนมดิบ ในอุณหภูมิที่เหมาะสมเพื่อรักษาคุณภาพก่อนส่งจำหน่าย และบางส่วนนำมาผ่านกระบวนการแปรรูป ซึ่งกลุ่มแปลงใหญ่โคนมฯ ได้ทำบันทึกข้อตกลงซื้อขายน้ำนมดิบ (MOU) กับผู้ประกอบการอุตสาหกรรม ทั้งนี้ กลุ่มแปลงใหญ่โคนมฯ ดำเนินงานโดยยึดหลักส่งเสริมให้ “คนสารคาม ดื่มนมโคสารคาม” เพื่อสร้างอัตลักษณ์และเงินทุนหมุนเวียนในท้องถิ่น ด้านสถานการณ์ตลาด กลุ่มแปลงใหญ่โคนมฯ จำหน่ายผลผลิตภายใต้แบรนด์“นมโคโคกก่อ” ซึ่งผลผลิตน้ำนมดิบส่วนใหญ่ร้อยละ 50 จำหน่ายให้กับบริษัทดัชมิลล์ รองมาร้อยละ 30 แปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์นมพาสเจอร์ไรส์ (บรรจุถุง/แกลลอน) และไอศกรีมนมสด ที่เหลือร้อยละ 20 จำหน่ายน้ำนมดิบให้กับผู้ประกอบการทั่วไป
ปัจจุบัน กลุ่มแปลงใหญ่โคนมฯ ได้ร่วมกับสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดมหาสารคาม และมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ดำเนินโครงการเพื่อวางแนวทางออกแบบและพัฒนาแอปพลิเคชัน “เซียนแดรี่ฟาร์ม” เพื่อให้เป็นแอปพลิเคชันที่ตอบโจทย์ ในการทำงานในฟาร์มโคนม สำหรับเก็บข้อมูลโคนม โดยสามารถดูปริมาณน้ำนมดิบได้แบบเรียลไทม์ ทำให้เกิดการพัฒนาการเลี้ยง การวางแผนการผลิตและการจำหน่ายนมได้ นอกจากนี้ ยังร่วมกับกรมปศุสัตว์ บริษัทดัชมิลล์ และบริษัทเบทาโกร ดำเนินโครงการลดต้นทุนเพื่อสร้างเกษตรกรต้นแบบ มุ่งสู่ Smart farmer มีเป้าหมายเพื่อพัฒนาและยกระดับเกษตรกรให้ดีขึ้นโดยอาศัยการทำงานที่มีระบบการจัดการบนฐานข้อมูลที่มีความแม่นยำ ถูกต้อง ชัดเจน ซึ่งมีสมาชิกกลุ่มแปลงใหญ่เข้าร่วมนำร่องจำนวน 3 ฟาร์ม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการฟาร์มของสมาชิกกลุ่มแปลงใหญ่
“กลุ่มแปลงใหญ่โคนมฯ ยังมีการดำเนินงานตามรูปแบบ BCG Model มีมาตรการจัดการของเสียในฟาร์ม เช่น น้ำเสีย ที่เกิดจากการรีดนมปล่อยลงใส่แปลงหญ้า การจำหน่ายมูลโคให้เกษตรกร และน้ำนมที่ไม่ผ่านคุณภาพจะนำไปทำเป็นฮอร์โมนนมสดสำหรับใช้บำรุงพืชทางใบ นอกจากนี้ ยังเป็นฐานเรียนรู้การหยุดเผาในพื้นที่ทำการเกษตรของจังหวัดมหาสารคาม เพื่อช่วยฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมรอบชุมชน รวมถึงเป็นแหล่งเรียนรู้การต่อยอดสู่ชุมชน ฝึกอาชีพ เพื่อลดอัตราการว่างงานของคนในชุมชน สร้างรายได้ เกิดความสมดุลและยั่งยืน โดยในปี 2567 วางเป้าหมายจะเพิ่มกำลังการผลิตน้ำนมดิบให้ได้ 14 - 15 กิโลกรัม/ตัว/วัน อย่างไรก็ตาม ในส่วนของ สศท.4 ยังได้ร่วมหารือและประชาสัมพันธ์โครงการพัฒนาศักยภาพฟาร์มโคนมผ่านกองทุนปรับโครงสร้างการผลิตภาคการเกษตร (FTA) ของ สศก. ขณะนี้อยู่ระหว่างขอคำแนะนำและปรึกษาโครงการร่วมกับหน่วยงานที่กำกับดูแล ซึ่ง สศท.4 จะได้ดำเนินการติดตามผลการหารือต่อไป หากท่านใดสนใจเข้าศึกษาดูงาน สามารถติดต่อได้ที่ นายณัฐวุฒิ ประทีปะวณิช ประธานแปลงใหญ่ โทร 08 1871 6015 และนายสุวิทย์ บุตรโคตร ผู้จัดการแปลงใหญ่ โทร 08 5005 1803 แปลงใหญ่โคนม สหกรณ์ผู้เลี้ยงโคนมโคกก่อ จำกัด ตำบลโคกก่อ อำเภอเมือง จังหวัดมหาสารคาม หรือติดตามข่าวสาร กิจกรรมต่าง ๆ ได้ที่ เพจ Facebook : สหกรณ์ผู้เลียงโคนม โคกก่อ จำกัด” ผู้อำนวยการ สศท.4 กล่าวทิ้งท้าย
*************************************************
ข่าว : ส่วนประชาสัมพันธ์ / ข้อมูล : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 4 ขอนแก่น