- ข้อมูลเศรษฐกิจการเกษตร
- ภาวะเศรษฐกิจการเกษตร
- รายละเอียดภาวะเศรษฐกิจการเกษตร
ข้อมูลเศรษฐกิจการเกษตร
สินค้าเกษตรหลายชนิด พาเหรด ราคาดีต่อเนื่อง รับปีใหม่ ตอบรับนโยบาย กระทรวงเกษตรฯ ทำได้จริง
ข่าวที่ 15/2567 วันที่ 31 มกราคม 2567
สินค้าเกษตรหลายชนิด พาเหรด ราคาดีต่อเนื่อง รับปีใหม่ ตอบรับนโยบาย กระทรวงเกษตรฯ ทำได้จริง
ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงทิศทางราคาสินค้าเกษตรในขณะนี้ว่า นับจากที่ได้เข้ามาบริหาราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และเดินหน้านโยบายต่างๆ โดยเฉพาะการลุยปราบปรามการลักลอบนำเข้าสินค้าเกษตรผิดกฎหมายมาอย่างเข้มงวด การมุ่งยกระดับสินค้าเกษตร เร่งแก้ไขปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ วางมาตรการรองรับภัยพิบัติ โรคระบาดพืช สัตว์ เพิ่มประสิทธิภาพการบริการจัดการน้ำในช่วงวิกฤติภัยแล้งและฝนทิ้งช่วง ตลอดจนการบริหารจัดการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้กับกิจกรรมภาคการเกษตรนั้น นับว่าเป็นผลสำเร็จชัดเจนโดยได้ส่งผลบวกต่อราคาสินค้าเกษตรสำคัญหลายชนิดมีทิศทางปรับดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง อาทิ ข้าว มันสำปะหลัง ยางพารา ปาล์มน้ำมัน มะพร้าว สับปะรด น้ำนมดิบ และสุกร โดยเมื่อดูทิศทางราคาสินค้าแต่ละชนิดจะ พบว่าข้าวหอมมะลิ (ความชื้น 15%) ราคาเริ่มปรับตัวสูงขึ้นจากเดือนพฤศจิกายน 2566 ที่ราคา 13.29 บาท/กก. เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ราคา 14.05 บาท/กก. ในเดือนมกราคม 2567 ในส่วนของข้าวเปลือกเจ้า (ความชื้น 15%) ราคาเริ่มปรับตัวสูงขึ้นจากเดือนพฤศจิกายน 2566 ที่ราคา 10.74 บาท/กก. เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ราคา 11.31 บาท/กก. ในเดือนมกราคม 2567 ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากรัฐบาลมีมาตรการรักษาเสถียรภาพราคาข้าวเปลือกนาปี เพื่อชะลอผลผลิตในช่วงที่ออกสู่ตลาดมาก ไม่ให้ราคาข้าวเปลือกตกต่ำ โดยมีโครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร และโครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก ประกอบกับผลผลิตที่ลดลงจากปรากฏการณ์เอลนีโญ ขณะที่ต่างประเทศมีความต้องการเพิ่มมากขึ้นเพื่อชดเชยอุปทานข้าวในประเทศที่ลดลงและต้องการสำรองข้าวไว้เพื่อความมั่นคงทางอาหารของประเทศ รวมถึงประเทศอินเดียประกาศระงับการส่งออกข้าวขาวที่ไม่ใช่ข้าวบาสมาติ ส่งผลให้หลายประเทศเปลี่ยนมาซื้อข้าวจากไทยมากขึ้น จึงเป็นแรงผลักให้ราคาข้าวไทยปรับตัวสูงขึ้น
มันสำปะหลัง ปัจจุบันราคามันสำปะหลัง (เชื้อแป้ง 25%) เฉลี่ยที่ 3.20 บาท/กก. เพิ่มขึ้นจากช่วงเดือนกันยายน 2566 ที่ราคา 3.15 บาท/กก. เนื่องจากรัฐมีมาตรการรักษาเสถียรภาพราคามันสำปะหลัง ทั้งจากโครงการชดเชยดอกเบี้ยในการเก็บสต๊อกมันสำปะหลัง โครงการยกระดับศักยภาพการแปรรูปมันสำปะหลัง (เครื่องสับมันสำปะหลัง) โครงการสินเชื่อเพื่อนวบรวมมันสำปะหลังและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร และโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการเพาะปลูกมันสำปะหลัง ประกอบกับผลผลิตในภาพรวมของประเทศมีไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมอาหาร การผลิตแอลกอฮอลล์ อาหารสัตว์ กระดาษ เครื่องดื่ม และสิ่งทอ
ยางพารา ราคายางแผ่นดิบ ปัจจุบัน (28 มกราคม 2567) เฉลี่ยอยู่ที่ 54.89 บาท/กก. สูงขึ้นจากราคา ณ เดือน กันยายน 2566 ที่ราคาเฉลี่ย 45.51 บาท/กก. โดยราคาเริ่มปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจากนโยบายจากภาครัฐในการปราบปรามและตรวจสอบการลักลอบการนำเข้ายางพาราและสินค้าเกษตรผิดกฎหมายไม่ให้ทะลักเข้ามาจากประเทศเพื่อนบ้าน นอกจากนี้ ยังเป็นผลจากมาตรการการสนับสนุนการใช้ยางพาราในประเทศ รวมทั้งจากความต้องการของตลาด ภาวะฟื้นตัวของอุตสาหกรรมทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มยานยนต์ เป็นต้น
ปาล์มน้ำมัน ปัจจุบันราคาเฉลี่ยที่ 6.28 บาท/กก. เพิ่มขึ้นจากช่วงเดือนกันยายน 2566 ที่ราคา 5.06 บาท/กก. อันเนื่องมาจากในเดือนมกราคม 2567 เป็นช่วงที่ผลผลิตออกสู่ตลาดลดลง ขณะที่ความต้องการน้ำมันพืชในตลาดโลกเพิ่มขึ้น ประกอบกับรัฐบาลโดย กนป. ได้เห็นชอบการกำหนดมาตรการเกี่ยวกับการรับซื้อผลปาล์มน้ำมัน พร้อมมอบหมายคณะอนุกรรมการบริหารจัดการสมดุลน้ำมันปาล์ม ติดตามสถานการณ์ปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มอย่างใกล้ชิด เพื่อบริหารจัดการให้ปริมาณการผลิต การใช้ และการส่งออก รวมถึงปริมาณสต็อกน้ำมันปาล์มอยู่ในระดับที่สมดุล และมีเพียงพอต่อความต้องการใช้ในประเทศ จึงทำให้ราคาผลปาล์มยังอยู่ในเกณฑ์ดี
มะพร้าว ปัจจุบันราคาเฉลี่ยที่ 14.57 บาท/ผล เพิ่มขึ้นจากช่วงเดือนกันยายน 2566 ที่ราคา 7.90 บาท/ผล เนื่องจากผลผลิตลดลง ในขณะที่ความต้องการใช้เพิ่มมากขึ้น และรัฐบาลมีมาตรการบริหารการนำเข้าเพื่อให้ปริมาณผลผลิตมะพร้าวที่ออกสู่ตลาด กับสัดส่วนปริมาณการนำเข้าและปริมาณการใช้ในประเทศ มีความสมดุลกัน
สับปะรด ปัจจุบันราคาสับปะรดปัตตาเวียส่งโรงงาน เฉลี่ยที่ 10.60 บาท/กก. โดยราคาเพิ่มขึ้นจากช่วงเดือนกันยายน 2566 ที่ราคา 8.37 บาท/กก. ซึ่งเป็นผลมาจากรัฐบาลได้มีนโยบายในการรับมือกับภัยธรรมชาติ เพื่อให้ผลผลิตมีคุณภาพตรงกับความต้องการของตลาด ทำให้ผลผลิตมีคุณภาพดีประกอบกับผลผลิตมีไม่เพียงพอต่อความต้องการของโรงงานแปรรูป เนื่องจากสภาพอากาศแปรปรวนทำให้ผลผลิตออกสู่ตลาดน้อยกว่าช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา
น้ำนมดิบ ปัจจุบันราคาเฉลี่ยที่ 20.21 บาท/กก. เพิ่มขึ้นจากช่วงเดือนกันยายน 2566 ที่ราคา 19.65 บาท/กก. เนื่องจาก กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีประกาศฯ ปรับเพิ่มราคากลางรับซื้อน้ำนมโค ณ ศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกร
สำหรับสินค้า สุกร นับตั้งแต่รัฐบาลปัจจุบันเริ่มปฏิบัติหน้าที่ ได้เดินหน้าปราบปรามการลักลอบนำเข้าสุกรเถื่อนอย่างจริงจัง โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้บูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กอ.รมน จังหวัด DSI ตำรวจ ดำเนินการตรวจสอบห้องเย็นทั่วประเทศมากกว่า 2 พันแห่ง จนทำให้ราคาสุกรปรับตัวสูงขึ้น โดยปัจจุบันราคาสุกรเฉลี่ยที่ 67.45 บาท/กก. เพิ่มขึ้นจากช่วงเดือนตุลาคม 2566 ที่ราคา 64.25 บาท/กก.
ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะยังคงขับเคลื่อนการดำเนินงานในทุกด้านตามนโยบายและแผนที่วางไว้ เพื่อยกระดับคุณภาพสินค้าเกษตรและราคาสินค้าเกษตร แก้ไขปัญหาปากท้องของพี่น้องเกษตรกร ให้กินดีอยู่ดี มีคุณภาพชีวิตที่ดี ภาคเกษตรเติบโต และเกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างมั่นคง
***********************************
ข่าว : ส่วนประชาสัมพันธ์
ข้อมูล : สำนักวิจัยเศรษฐกิจการเกษตร
ข้อมูล : สำนักวิจัยเศรษฐกิจการเกษตร