- ข้อมูลเศรษฐกิจการเกษตร
- ภาวะเศรษฐกิจการเกษตร
- รายละเอียดภาวะเศรษฐกิจการเกษตร
ข้อมูลเศรษฐกิจการเกษตร
สศก. ติดตามโครงการส่งเสริมพัฒนาสินค้าเกษตรอัตลักษณ์พื้นถิ่น ต่อยอดสู่สินค้า GI เพิ่มรายได้เกษตรกร
ข่าวที่ 47/2567 วันที่ 22 เมษายน 2567
สศก. ติดตามโครงการส่งเสริมพัฒนาสินค้าเกษตรอัตลักษณ์พื้นถิ่น ต่อยอดสู่สินค้า GI เพิ่มรายได้เกษตรกร
นางธัญธิตา บุญญมณีกุล รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงผลการติดตามโครงการส่งเสริมและพัฒนาสินค้าเกษตรอัตลักษณ์พื้นถิ่น ซึ่งเป็นโครงการภายใต้แผนแม่บทย่อยเกษตรอัตลักษณ์พื้นถิ่น อยู่ภายใต้แผนแม่บทด้านการเกษตร เพื่อพัฒนาและต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเกษตรอัตลักษณ์พื้นถิ่น รวมถึงเพื่อพัฒนาสินค้าอัตลักษณ์ในพื้นที่ให้สามารถยื่นคำขอขึ้นทะเบียนเพื่อเป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ส่งเสริมและพัฒนาสินค้า ด้วยการประยุกต์ใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น เทคโนโลยีและนวัตกรรม เป็นการสร้างความเข้มแข็งของเกษตรกรและชุมชน รวมทั้งส่งเสริมการบริโภคสินค้าเกษตรอัตลักษณ์พื้นถิ่นทั้งในระดับประเทศและเพื่อการส่งออก โดยในปี 2567 มีหน่วยงานร่วมดำเนินการ 7 หน่วยงาน ได้แก่ กรมการข้าว กรมวิชาการเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร กรมส่งเสริมสหกรณ์ กรมประมง กรมปศุสัตว์ และกรมหม่อนไหม กำหนดเป้าหมายส่งเสริมและพัฒนาสินค้าเกษตรอัตลักษณ์พื้นถิ่นให้เกษตรกร 5,854 ราย อัตราขยายตัวของมูลค่าสินค้าเกษตรอัตลักษณ์พื้นถิ่นเพิ่มขึ้นร้อยละ 4จากการติดตามผลการดำเนินโครงการฯ ปี 2567 รอบ 6 เดือน (ตุลาคม 2566 - มีนาคม 2567) พบว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถดำเนินการได้ตามแผนปฏิบัติงาน โดยอบรมถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับเกี่ยวกับการขอรับรองตรามาตรฐาน GI การส่งเสริมการตลาด การเพิ่มมูลค่าสินค้า การเตรียมความพร้อมในการขอรับรองมาตรฐาน เพื่อเตรียมความพร้อม ส่งเสริมและพัฒนาสินค้าเกษตร อัตลักษณ์พื้นถิ่นให้เกษตรกรแล้ว 3,438 ราย (ร้อยละ 58.73) และจะดำเนินการส่งเสริมเกษตรกรเพื่อให้มีศักยภาพ และมีความพร้อมในการพัฒนาสินค้าและขอรับรองมาตรฐาน GI ให้ครบตามเป้าหมาย
นอกจากนี้ จากการติดตามผลลัพธ์ของเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการมาตั้งแต่ปีงบประมาณ 2566 จำนวน 4 กลุ่ม ในพื้นที่ จังหวัดเลย เพชรบูรณ์ และกำแพงเพชร ประกอบด้วย 1) กลุ่มเกษตรกรบ้านนาอุดม (ผ้าไหม/ผ้าฝ้าย) จังหวัดเลย 2) กลุ่มแปลงใหญ่มะขามตำบลวังบาล (มะขามหวาน) จังหวัดเพชรบูรณ์ 3) วิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรกรกล้วยไข่ตำบลท่าพุทธา (กล้วยไข่) จังหวัดกำแพงเพชร และ 4) กลุ่มแปลงใหญ่ข้าวไร่ หมู่ 2 ตำบลกกสะทอน (ข้าวเหนียวซิวเกลี้ยง) จังหวัดเลย พบว่า หลังเข้ารับการส่งเสริมองค์ความรู้ เกษตรกรทุกรายมีความรู้เพิ่มขึ้น โดยก่อนเข้ารับการอบรมมีความรู้ระดับปานกลาง และหลังอบรมมีความรู้ระดับมากที่สุด เกษตรกรทุกรายนำความรู้ไปใช้ประโยชน์ ซึ่งร้อยละ 68 นำความรู้ไปใช้ประโยชน์ทั้งหมด เช่น การขอรับรองมาตรฐาน GI เพื่อส่งเสริมการตลาดและการจำหน่ายที่กว้างขึ้น การออกแบบลวดลายผ้าไหม/ผ้าฝ้าย เทคนิคการย้อมสี และอีกร้อยละ 32 สามารถนำความรู้ที่ได้รับบางส่วนไปประยุกต์ใช้กับความรู้เดิม เช่น การตลาด การจำหน่ายผ่านระบบออนไลน์ ด้านข้อมูลด้านปริมาณการผลิต ราคา และรายได้ของเกษตรกร โดยเปรียบเทียบก่อนเข้าร่วมโครงการ (ปี 2565) กับหลังเข้าร่วมโครงการ (ปี 2566) พบว่า เกษตรกรผู้ปลูกมะขามหวานที่ได้รับรองมาตรฐานสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) สามารถจำหน่ายมะขามหวานได้ราคาสูงขึ้น โดยราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ย 86.88 บาทต่อกิโลกรัม (เพิ่มขึ้นร้อยละ 24.11) เนื่องจากในปี 2566 ผลผลิตมะขามหวานมีไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด จึงทำให้ราคาจำหน่ายสูงขึ้น ส่งผลให้หลังเข้าร่วมโครงการเกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นเฉลี่ยรายละ 4,103 บาทต่อปี (เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.24) ส่วนเกษตรกรผู้ปลูกกล้วยไข่ที่ได้รับรองมาตรฐาน (GI) หลังเข้าร่วมโครงการเกษตรกรจำหน่ายกล้วยไข่ได้ราคาเฉลี่ย 22.17 บาทต่อกิโลกรัม (เพิ่มขึ้นร้อยละ 26.69) ส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้หลังเข้าร่วมโครงการเพิ่มขึ้นเฉลี่ยรายละ 3,816 บาทต่อปี (เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.86)
สำหรับเกษตรกรผู้ปลูกข้าวเหนียวซิวเกลี้ยง ที่ได้รับการรับรองมาตรฐานสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) หลังเข้าร่วมโครงการสามารถจำหน่ายผลผลิตได้ราคาสูงขึ้น โดยราคาเฉลี่ย 43.33 บาทต่อกิโลกรัม (เพิ่มขึ้นร้อยละ 18.18) แต่เนื่องจาก เกษตรกรประสบปัญหาภัยแล้ง น้ำไม่เพียงพอต่อการเพาะปลูกในปีที่ผ่านมา จึงทำให้มีผลผลิตลดลง อย่างไรก็ตาม ในปี 2568เกษตรกรที่ได้รับตรารับรองมาตรฐานสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) มีแผนจะกำหนดราคาสินค้าที่ได้รับการรับรองฯ ของตนเองให้สูงขึ้น ด้านเกษตรกรผู้ผลิตผ้าไหม/ผ้าฝ้ายส่วนใหญ่ยังให้ความสนใจในการขอรับรองมาตรฐานตรานกยูงพระราชทานสีทองจำนวนน้อย เนื่องจากเกษตรกรส่วนใหญ่ จะทอผ้าเป็นอาชีพเสริม หลังเวลาว่างจากการทำเกษตร และจำหน่ายภายในชุมชน โดยกรมหม่อนไหม จะรณรงค์สร้างความเข้าใจให้เกษตรกรในการขอรับรองมาตรฐานฯ เพื่อเป็นการเพิ่มมูลค่าผ้าไหมให้สูงขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่อรายได้ของเกษตรกรด้วยต่อไป
********************************************
ข่าว : ส่วนประชาสัมพันธ์ / ข้อมูล : ศูนย์ประเมินผล