ราชกิจจาฯ เผยแพร่ พ.ร.บ. งบปี 67 เกษตรฯ รับจัดสรร 120,526 ล้านบาท พร้อมเดินหน้าขับเคลื่อนตามแผน

ข่าวที่ 53/2567 วันที่ 29 เมษายน 2567
ราชกิจจาฯ เผยแพร่ พ.ร.บ. งบปี 67 เกษตรฯ รับจัดสรร 120,526 ล้านบาท พร้อมเดินหน้าขับเคลื่อนตามแผน
               นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ตามที่ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 26 เมษายน 2567 ในส่วนของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้รับจัดสรรงบประมาณ จำนวน 120,526 ล้านบาท (ลดลงจากปี 2566 จำนวน 9,217 ล้านบาท หรือลดลงร้อยละ 7.10) โดยงบประมาณที่ได้รับจัดสรร สามารถจำแนกได้เป็น 4 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มงบประมาณรายจ่ายบุคลากร จำนวน 24,244 ล้านบาท 2. กลุ่มงบประมาณรายจ่ายของหน่วยรับงบประมาณ (Function) จำนวน 54,014 ล้านบาท 3. กลุ่มงบประมาณรายจ่ายบูรณาการ (Agenda) จำนวน 40,317 ล้านบาท ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เกี่ยวข้อง 6 แผนงานบูรณาการ ได้แก่ (1) แผนงานบูรณาการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ จำนวน 75 ล้านบาท (2) แผนงานบูรณาการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว จำนวน 2 ล้านบาท (3) แผนงานบูรณาการพัฒนาด้านคมนาคมและระบบโลจิสติกส์ จำนวน 6 ล้านบาท (4) แผนงานบูรณาการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก จำนวน 3 ล้านบาท  (5) แผนงานบูรณาการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ จำนวน 40,217 ล้านบาท (6) แผนงานบูรณาการรัฐบาลดิจิทัล จำนวน 14 ล้านบาท และ 4. กลุ่มงบประมาณรายจ่ายสำหรับทุนหมุนเวียน จำนวน 1,951 ล้านบาท
               สำหรับการขับเคลื่อนการดำเนินงานในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะดำเนินการสอดคล้องตามยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13 นโยบายความมั่นคงแห่งชาติ การพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG) นโยบายสำคัญของรัฐบาล และมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ หากจำแนกงบประมาณ 120,526 ล้านบาท ตามกรอบยุทธศาสตร์ชาติ 6 ด้าน สามารถจำแนกได้ 5 ด้าน ที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประกอบด้วย
              1) ด้านความมั่นคง วงเงิน 299 ล้านบาท เพื่อดำเนินการจัดการปัญหาแรงงานต่างด้าวและการค้ามนุษย์ด้านการประมง ป้องกันและแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย (IUU) และพัฒนาอาชีพด้านการเกษตรในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
               2) ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน วงเงิน 32,719 ล้านบาท ดำเนินการในเรื่องเกษตรอัตลักษณ์พื้นถิ่น เกษตรปลอดภัย เกษตรชีวภาพ เกษตรแปรรูป เกษตรอัจริยะ และส่งเสริมการพัฒนาระบบนิเวศการเกษตร เพื่อเสริมสร้างให้การพัฒนาภาคเกษตรมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง
              3) ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม วงเงิน 2,759 ล้านบาทเพื่อดำเนินการในเรื่องส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้และถ่ายทอดความรู้โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ โครงการหลวง ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพ การสร้างความเข้มแข็งของกลุ่ม การพัฒนาผลิตภัณฑ์ พัฒนาตลาด และบริหารจัดการที่ดินทำกินแก่เกษตรกรรายย่อยและผู้ด้อยโอกาส
             4) ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม วงเงิน 84,735 ล้านบาทเพื่อดำเนินการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบ ทั้งการบริหารจัดการพื้นที่ชลประทานเดิม การป้องกันระดับน้ำเค็ม การปฏิบัติการฝนหลวง จัดรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม รวมทั้งการลดการเผาในพื้นที่เกษตรและการลดการปล่อยก๊าชเรือนกระจก
             5) ด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ วงเงิน 14 ล้านบาทเพื่อดำเนินการพัฒนาทักษะดิจิทัลสำหรับบุคลากรภาครัฐเพื่อการขับเคลื่อนรัฐบาลดิจิทัล และพัฒนาแพลตฟอร์มการขอสนับสนุนปัจจัยการผลิต ให้มีความสะดวกในการเข้าถึงบริการอย่างรวดเร็วและทันสมัย เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรเชิงรุกได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ
             ทั้งนี้ จากแผนการขับเคลื่อนงบประมาณข้างต้น และตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เชื่อมั่นว่า จะส่งผลให้เกษตรกรและสถาบันเกษตรกรได้รับการพัฒนาศักยภาพให้มีความเข้มแข็งนำไปสู่การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการด้านเกษตร เพื่อไปสู่เป้าหมาย ยกระดับรายได้เกษตรกรจะทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น 3 เท่าใน 4 ปี ด้วย 9 นโยบายสำคัญของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
******************************************************
ข่าว : ส่วนประชาสัมพันธ์ / ข้อมูล : กองนโยบายและแผนพัฒนาการเกษตร