สศก. ร่วมเวทีคณะมนตรีขององค์กรสำรองข้าวฉุกเฉินของอาเซียน+3 ครั้งที่ 12 ขับเคลื่อน APTERR ช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม เสริมสร้างความมั่นคงด้านอาหารในภูมิภาค

ข่าวที่ 56/2566 วันที่ 8 พฤษภาคม  2567
 
สศก. ร่วมเวทีคณะมนตรีขององค์กรสำรองข้าวฉุกเฉินของอาเซียน+3 ครั้งที่ 12
ขับเคลื่อน APTERR ช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม เสริมสร้างความมั่นคงด้านอาหารในภูมิภาค
           นางสาวกาญจนา ขวัญเมือง รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์  เปิดเผยถึงการเข้าร่วมการประชุมคณะมนตรีขององค์กรสำรองข้าวฉุกเฉินของอาเซียนบวกสาม ครั้งที่ 12  [The 12th Meeting of ASEAN Plus Three Emergency Rice Reserve (APTERR) Council] เมื่อวันที่ 24 - 25เมษายน 2567 ณ กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งการประชุมดังกล่าว จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี เพื่อรับรองผลการดำเนินงานปี 2566 เห็นชอบแผนงานการดำเนินงานและงบประมาณปี 2567 รายงานสถานะทางการเงินของกองทุน APTERR และรับทราบผลการดำเนินงานโครงการระบบข้อมูลความมั่นคงทางอาหารในภูมิภาคอาเซียน (ASEAN Food Security Information System: AFSIS) ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับ APTERR รวมถึงหารือเกี่ยวกับความเป็นไปได้ในการขยายสินค้าเป้าหมายของการดำเนินงาน APTERR และผลการทบทวนกลไกการดำเนินงาน APTERR อย่างเป็นระบบ ภายใต้ความร่วมมือระหว่าง APTERR กับธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank: ADB) 
            สำหรับผู้เข้าร่วมการประชุม ประกอบด้วย คณะมนตรีจากประเทศสมาชิกอาเซียน (ยกเว้นฟิลิปปินส์)และประเทศบวกสาม (จีน ญี่ปุ่น และสาธารณรัฐเกาหลี) รวมถึงผู้แทนจากสำนักเลขานุการ AFSIS ผู้แทนจาก ADB และสำนักเลขานุการ APTERR โดยมีจีนทำหน้าที่เป็นประธานการประชุมร่วมกับเวียดนาม พร้อมนี้ นางสาวหิรัญญา สระสม ผู้อำนวยการกองเศรษฐกิจการเกษตรระหว่างประเทศ สศก. ในฐานะผู้แทนไทย ได้เข้าร่วมประชุมในครั้งนี้ด้วย  
โอกาสนี้ รองเลขาธิการ สศก. ในฐานะคณะมนตรี APTERR ของไทย ได้กล่าวเปิดการประชุมในฐานะประธานร่วมของการประชุมคณะมนตรี APTERR ครั้งที่ 11 โดยเน้นย้ำถึงความสำคัญของการบริหารจัดการสำรองข้าวและกองทุน APTERR รวมถึงเสริมสร้างกลไกการดำเนินงานอย่างเป็นระบบ ตอบสนองได้ทันท่วงทีในกรณีฉุกเฉิน และยกระดับข้อมูลสารสนเทศความมั่นคงอาหารให้ใช้งานได้จริงและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ตลอดจนเสริมสร้างความร่วมมือกับองค์กรระหว่างประเทศในการให้ความช่วยเหลือประเทศสมาชิกที่ประสบภัยพิบัติฉุกเฉินจากธรรมชาติและให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมร่วมกัน
          นอกจากนี้ การดำเนินงานของ APTERR จะประสบผลสำเร็จได้ ต้องอาศัยความร่วมมือจากประเทศสมาชิกอาเซียนบวกสาม โดยไทยสนับสนุนให้ใช้ประโยชน์จาก APTERR ซึ่งเป็นหนึ่งในกลไกที่มีบทบาทสำคัญในการต่อสู้กับวิกฤตความไม่มั่นคงด้านอาหารท่ามกลางความท้าทายจากภัยธรรมชาติ การแพร่ระบาดของโควิด-19 รวมถึงปรากฏการณ์เอลนีโญ ซึ่งสอดรับกับปฏิญญาผู้นำอาเซียนว่าด้วยการเสริมสร้างความเข้มแข็งด้านความมั่นคงทางอาหารและโภชนาการในภาวะวิกฤต เพื่อความมั่นคงด้านอาหารของภูมิภาคในระยะยาว
           “การประชุมฯ ครั้งนี้ ถือเป็นโอกาสอันดีของไทยในฐานะประเทศเจ้าภาพ (Host Country) ของสำนักเลขานุการ APTERR และประเทศสมาชิก ได้หารือร่วมกันในระดับนโยบายเพื่อพัฒนาประสิทธิภาพการดำเนินงานของ APTERR ให้เป็นรูปธรรมและเกิดประโยชน์สูงสุดในการตอบสนองและเตรียมความพร้อมสำหรับช่วยเหลือประเทศสมาชิกในกรณีเกิดภัยพิบัติฉุกเฉิน ตลอดจนรับมือกับความท้าทายใหม่ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงด้านอาหารอย่างยั่งยืนในภูมิภาค” รองเลขาธิการ สศก. กล่าว
 
**************************************
ข่าว : ส่วนประชาสัมพันธ์
ข้อมูล : กองเศรษฐกิจการเกษตรระหว่างประเทศ