- ข้อมูลเศรษฐกิจการเกษตร
- ภาวะเศรษฐกิจการเกษตร
- รายละเอียดภาวะเศรษฐกิจการเกษตร
ข้อมูลเศรษฐกิจการเกษตร
สศก. ติดตามโครงการส่งเสริมพัฒนาอาชีพ แก้ไขปัญหาที่ดินทำกินของเกษตรกร ส่งเสริมรายได้ ทำเกษตรผสมผสาน ในพื้นที่เขตปฏิรูปที่ดิน และพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ
ข่าวที่ 79/2567 วันที่ 5 กรกฎาคม 2567
สศก. ติดตามโครงการส่งเสริมพัฒนาอาชีพ แก้ไขปัญหาที่ดินทำกินของเกษตรกร
ส่งเสริมรายได้ ทำเกษตรผสมผสาน ในพื้นที่เขตปฏิรูปที่ดิน และพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ
นางธัญธิตา บุญญมณีกุล รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงผลการติดตามโครงการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพเพื่อแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินของเกษตรกร ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและพัฒนาอาชีพในการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินของเกษตรกร โดยการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านพืช ประมง ปศุสัตว์การรวมกลุ่มตามความเหมาะสมของพื้นที่ การจัดทำบัญชีต้นทุนประกอบอาชีพ การพัฒนาคุณภาพดิน การจัดทำระบบอนุรักษ์ดินและน้ำ ตลอดจนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภคในที่ดินที่ได้รับจัดสรรในรูปแบบแปลงรวม เพื่อลดรายจ่ายและเพิ่มรายได้เพียงพอต่อการดำรงชีพ รวมทั้งพัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ให้ดีขึ้น โดยมีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินการ ร่วมกับกรมพัฒนาที่ดิน กรมส่งเสริมการเกษตร กรมประมง กรมปศุสัตว์ กรมวิชาการเกษตร กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ และสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมส่งเสริมรายได้ ทำเกษตรผสมผสาน ในพื้นที่เขตปฏิรูปที่ดิน และพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ
สำหรับปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 โครงการฯ ได้กำหนดเป้าหมาย เกษตรกร 14,620 ราย ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ ซึ่งจากการติดตามผลการดำเนินโครงการฯ รอบ 9 เดือน (ตุลาคม 2566 - มิถุนายน 2567) ภาพรวม พบว่ามีเกษตรกรเข้าร่วมรับการอบรมแล้ว 5,999 ราย (ร้อยละ 41.03 ของเป้าหมาย 14,620 ราย) มีการสนับสนุนปัจจัยการผลิตให้แก่เกษตรกรที่เข้าร่วมรับการอบรมแล้ว 801 ราย (ร้อยละ 29.67 ของเป้าหมาย 2,700 ราย) และดำเนินการประสานและสำรวจข้อมูลพื้นที่ในการจัดทำแผนส่งเสริมพื้นที่ในเขตปฏิรูปที่ดินแล้ว 6 พื้นที่ (ร้อยละ 50 ของเป้าหมาย 16 พื้นที่)
นอกจากนี้ สศก. โดยศูนย์ประเมินผล ได้ลงพื้นที่เพื่อติดตามและสัมภาษณ์เกษตรกรเชิงลึกที่เข้าร่วมโครงการในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ในพื้นที่เขตปฏิรูปที่ดิน และพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ พบว่า เกษตรกรทุกรายได้เข้าร่วมกิจกรรมจากหน่วยงานในพื้นที่แล้ว โดยมีการจัดทำและสรุปทบทวนแผนชุมชน การประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อวางแผนระบบการผลิต การตลาด และได้รับการเสริมทักษะเป็นผู้ประกอบการ การถ่ายทอดความรู้เทคโนโลยีการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ เป็นต้น ตลอดจนได้รับการจัดสรรที่ดินทำกินได้ใช้ประโยชน์จากพื้นที่ครบทุกรายแล้ว
โครงการฯ มุ่งเน้นให้เกษตรกรทำการเกษตรแบบผสมผสาน ในพื้นที่จึงมีการเพาะปลูกปาล์มน้ำมัน กาแฟ ทุเรียน มังคุด เงาะ กล้วยน้ำว้า และพืชผักสวนครัว รวมทั้งมีการสนับสนุนพันธุ์ไก่ไข่ ไก่พื้นเมือง และพันธุ์สัตว์น้ำ เพื่อให้เกษตรกรได้ใช้บริโภคในครัวเรือน และจำหน่ายให้แก่เพื่อนบ้าน โดยจากตัวอย่างของพื้นที่ในเขตปฏิรูปที่ดิน และพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ในจังหวัดสุราษฎร์ธานี ระนอง และชุมพร ที่ได้ร่วมโครงการฯ พบว่า ก่อนเข้าร่วมโครงการ พื้นที่ดังกล่าวมีได้มีการเพาะปลูกปาล์มน้ำมันส่งผลทำให้ดินเสื่อมคุณภาพ และเมื่อภายหลังร่วมโครงการแล้ว ได้มีการส่งเสริมให้เกษตรกรทำการเกษตรแบบผสมผสาน เพาะปลูกพืชที่หลากหลาย โดยเกษตรกรในพื้นที่ในเขตปฏิรูปที่ดิน ซึ่งเข้ามาใช้ประโยชน์ในพื้นที่เฉลี่ยไม่เกิน 5 ปี มีรายได้เฉลี่ย 58,862 บาท/ครัวเรือน/ปี ซึ่งเป็นรายได้จากการจำหน่ายกาแฟ ทุเรียน มังคุด เงาะ กล้วยน้ำว้า และพืชผักสวนครัว ขณะที่ในส่วนของเกษตรกรในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ เนื่องจากเป็นเกษตรกรที่อาศัยอยู่ในพื้นที่มาเป็นระยะเวลามากกว่า 10 ปีแล้ว ส่งผลให้มีรายได้เฉลี่ย 146,286 บาท/ครัวเรือน/ปี จากการจำหน่ายปาล์มน้ำมัน ทุเรียน กาแฟ และพืชผักสวนครัว เป็นต้น
นอกจากนี้ หน่วยงานต่างๆ ได้มีการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพให้แก่เกษตรกรในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง สอบถามความต้องการของคนในพื้นที่อย่างสม่ำเสมอ ส่งผลทำให้เจ้าหน้าที่สามารถดำเนินการจัดอบรมและสนับสนุนปัจจัยการผลิตได้ตรงตามความต้องการของเกษตรกร รวมทั้งเกษตรกรทุกรายมีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมของกลุ่มและชุมชน คนในชุมชนมีความรักใคร่สามัคคีกันช่วยเหลือซึ่งกันและกันเป็นอย่างดี ในภาพรวมเกษตรกรมีความพึงพอใจต่อการดำเนินโครงการเป็นอย่างมาก เนื่องจากโครงการดังกล่าวทำให้เกษตรกรมีที่ดินทำกิน ทำให้เกษตรกรมีอาชีพที่มั่นคง สร้างรายได้ดูแลครอบครัวได้
ทั้งนี้ ทุกหน่วยงานได้มีการดำเนินการเข้ามาส่งเสริมโดยยึดหลักการส่งเสริมตามแนวทางการดำเนินงานของคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) ในการรักษาความมั่นคงของฐานทรัพยากรและการสร้างสมดุลระหว่างการอนุรักษ์กับการใช้ประโยชน์ในพื้นที่อย่างยั่งยืน โดย สศก. มีแผนจะลงพื้นที่อีกครั้งช่วงไตรมาสที่ 4 (เดือนกรกฎาคม - สิงหาคม 2567) เพื่อติดตามผลโครงการฯ ต่อไป
************************************
ข่าว : ส่วนประชาสัมพันธ์ / ข้อมูล : ศูนย์ประเมินผล