- ข้อมูลเศรษฐกิจการเกษตร
- ภาวะเศรษฐกิจการเกษตร
- รายละเอียดภาวะเศรษฐกิจการเกษตร
ข้อมูลเศรษฐกิจการเกษตร
เปิดผลสำเร็จ 6 แผนแม่บทย่อยด้านการเกษตร ปี 67 เดินหน้ายกระดับการผลิต สร้างรายได้ภาคเกษตร
ข่าวที่ 129/2567 วันที่ 18 พฤศจิกายน 2567
เปิดผลสำเร็จ 6 แผนแม่บทย่อยด้านการเกษตร ปี 67 เดินหน้ายกระดับการผลิต สร้างรายได้ภาคเกษตร
นางธัญธิตา บุญญมณีกุล รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงผลการติดตามแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติประเด็นการเกษตร ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ซึ่งแผนแม่บทด้านการเกษตร มีวัตถุประสงค์ ยกระดับการผลิตให้เข้าสู่คุณภาพ มาตรฐานความปลอดภัย การใช้ประโยชน์จากเอกลักษณ์ของสินค้าเกษตร ความหลากหลายทางชีวภาพ การพัฒนาสินค้าเกษตรและการแปรรูป การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อสร้างมูลค่าให้กับสินค้าเกษตร โดยเป็นการบูรณาการร่วมกันในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีเป้าหมายผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศในสาขาเกษตรเพิ่มขึ้น และผลิตภาพการผลิตของภาคเกษตรเพิ่มขึ้น ประกอบด้วย 6 แผนย่อย ได้แก่ 1) แผนแม่บทย่อยเกษตรอัตลักษณ์พื้นถิ่น 2) แผนแม่บทย่อยเกษตรปลอดภัย 3) แผนแม่บทย่อยเกษตรชีวภาพ 4) แผนแม่บทย่อยเกษตรแปรรูป 5) แผนแม่บทย่อยเกษตรอัจฉริยะ และ 6) แผนแม่บทย่อยการพัฒนาระบบนิเวศการเกษตรจากที่ สศก. ได้ติดตามผลการดำเนินงานโครงการสำคัญภายใต้แผนแม่บทด้านการเกษตร ปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 (1 ตุลาคม 2566 - 30 กันยายน 2567) ภาพรวมสามารถดำเนินการได้ตามแผนครบถ้วนคิดเป็นร้อยละ 106 ของเป้าหมาย ซึ่งเมื่อจำแนกแต่ละด้าน พบว่า 1) แผนแม่บทย่อยเกษตรอัตลักษณ์ เกษตรกรผู้ปลูกข้าวหอมมะลิ 105 จังหวัดสุรินทร์ สามารถจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ข้าวให้ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวจังหวัดสุรินทร์ ในราคาเฉลี่ย 17 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งสูงกว่าการจำหน่ายในตลาดทั่วไปที่มีราคาเฉลี่ย 12 บาทต่อกิโลกรัม (สูงกว่าเดิม 5 บาท) มีการตรวจสอบรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ผ้าไหมไทย 250,567 เมตร คิดเป็นมูลค่า 643 ล้านบาท 2) แผนแม่บทย่อยเกษตรปลอดภัย ภาพรวมมูลค่าสินค้าเกษตรปลอดภัย (สินค้าพืช ประมง และปศุสัตว์) เฉลี่ยที่ 4,243,444 บาทต่อปี จากเดิมก่อนเข้าร่วมโครงการที่ได้ 4,410,864 บาทต่อปี (ลดลงเฉลี่ย 167,420 บาทต่อปี หรือร้อยละ 4) เนื่องจากสินค้าปศุสัตว์ได้รับผลกระทบจากโรคประจำถิ่น จึงทำให้ผลผลิตลดลง แต่อย่างไรก็ตาม พบว่า สินค้าประมง มีมูลค่าสินค้าเกษตรปลอดภัยเพิ่มขึ้นเป็น 2,709,611 บาทต่อปี จากเดิมก่อนเข้าร่วมโครงการที่ได้ 2,586,697 บาทต่อปี (เพิ่มขึ้น 122,914 บาทต่อปี หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 5) 3) แผนแม่บทย่อยเกษตรชีวภาพ เกษตรกรนำความรู้ด้านสมุนไพรและแมลงเศรษฐกิจไปใช้ ส่งผลให้มีผลผลิตเฉลี่ยต่อหน่วยเพิ่มขึ้นร้อยละ 83 ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อหน่วยลดลงร้อยละ 41 โดยเกษตรกรร้อยละ 92 มีรายได้สูงขึ้นหลังจากเข้าร่วมโครงการ อันเนื่องมาจากการเพิ่มพื้นที่ การปลูก/เลี้ยง ตลอดจนนำความรู้ไปใช้ประโยชน์ จึงส่งผลให้มีรายได้สูงขึ้น 4) แผนแม่บทย่อยเกษตรแปรรูป สถาบันเกษตรกรได้รับการพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์เพิ่มขึ้น เช่น ข้าวสาร มังคุดกวนสามรส ปลาส้ม และผลิตภัณฑ์แปรรูปจากน้ำนมโค โดยสถาบันเกษตรกรมีมูลค่าการจำหน่ายผลิตภัณฑ์แปรรูปสินค้าเฉลี่ย 527,375 บาทต่อเดือน จากเดิม 315,333 บาทต่อเดือน (เพิ่มขึ้น 212,042 บาทต่อเดือน หรือร้อยละ 67) ซึ่งเป็นการปรับปรุงบรรจุภัณฑ์สินค้าให้มีความสวยงาม เพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า 5) แผนแม่บทย่อยเกษตรอัจฉริยะ มูลค่าสินค้าเกษตรจากการนำเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมการเกษตรไปปรับใช้ ส่งผลให้แปลงเกษตรกรต้นแบบมีมูลค่าสินค้าเพิ่มขึ้น โดยสินค้าปาล์มน้ำมันมีมูลค่า 25,620 บาทต่อไร่ จากเดิม 18,910 บาทต่อไร่ (เพิ่มขึ้น 6,710 บาทต่อไร่ หรือร้อยละ 35) และมีผลผลิตต่อหน่วยเพิ่มขึ้นเป็น 4,200 กิโลกรัมต่อไร่ จากเดิม 3,100 กิโลกรัมต่อไร่ (เพิ่มขึ้น 1,100 กิโลกรัมต่อไร่ หรือร้อยละ 35) และ 6) แผนแม่บทย่อยการพัฒนาระบบนิเวศการเกษตร เกษตรกรเริ่มมี การปรับเปลี่ยนจากการปลูกข้าวเป็นสินค้าอื่นที่มีความเหมาะสมกับพื้นที่ตาม Agri-Map เช่น เกษตรผสมผสาน หญ้าเลี้ยงสัตว์ เป็นต้น ซึ่งคาดว่าเมื่อได้รับผลผลิตแล้ว จะได้มูลค่าผลผลิต 5,693 บาทต่อไร่ จากเดิมที่ปลูกข้าวได้มูลค่าผลผลิต 3,190 บาทต่อไร่ (เพิ่มขึ้น 2,503 บาทต่อไร่ หรือร้อยละ 78) และมีรายได้เพิ่มขึ้นเป็น 4,949 บาทต่อไร่ จากเดิม 2,711 บาทต่อไร่ (เพิ่มขึ้น 2,238 บาทต่อไร่ หรือร้อยละ 83) นอกจากนี้ เกษตรกรผู้ปลูกข้าวแปลงใหญ่ มีการรวมกลุ่มกันบริหารจัดการซื้อปัจจัยการผลิต รวมกลุ่มจำหน่าย ส่งผลให้มีค่าใช้จ่ายลดลง และมีผลผลิตเพิ่มขึ้น เกษตรกรมีรายได้สุทธิ 4,080 บาทต่อไร่ต่อปี จากเดิมรายได้สุทธิ 2,404 บาทต่อไร่ต่อปี (เพิ่มขึ้น 1,676 บาทต่อไร่ต่อปี หรือร้อยละ 70)
ทั้งนี้ เกษตรกรมีความพึงพอใจต่อโครงการในระดับมากที่สุด อย่างไรก็ตาม เพื่อให้การดำเนินโครงการภายใต้ แผนแม่บทฯ บรรลุวัตถุประสงค์ต่อเนื่อง ควรจัดอบรมเพื่อเพิ่มความรู้ให้กับเจ้าหน้าที่อย่างสม่ำเสมอ ให้สามารถนำไปถ่ายทอดให้กับเกษตรกร ส่งเสริมองค์ความรู้เรื่องการจัดทำแผนการผลิต และแผนการเพาะปลูกให้กับเกษตรกรที่ประสบปัญหาในการผลิต เพื่อให้มีความพร้อมในการรับมือกับปรากฏการณ์ทางธรรมชาติและสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงโดยจัดสรรงบประมาณให้สอดคล้องกับแผนปฏิบัติงานและกิจกรรมในระดับพื้นที่ ตลอดจนประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรเห็นถึงประโยชน์ของการได้รับการรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตร จัดกิจกรรมเชื่อมโยงเครือข่ายการตลาด และส่งเสริมการรวมกลุ่ม ยกระดับกลุ่มให้เป็นผู้ประกอบการเพื่อเพิ่มอำนาจต่อรองราคากับผู้รับซื้อ ทั้งนี้ สศก. ยังคงติดตามโครงการสำคัญภายใต้แผนแม่บทด้านการเกษตรอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อน ให้บรรลุวัตถุประสงค์ และเป้าหมายของแผนต่อไป
********************************************
ข่าว : ส่วนประชาสัมพันธ์ / ข้อมูล : ศูนย์ประเมินผล